สถานีคิดเลขที่ 12 : (ไม่มี) ภาพอนาคต

ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “Ten Years Thailand” เพิ่งลงโรงฉายในบ้านเรา หลังจากเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อช่วงกลางปี ก่อนจะตระเวนไปตามเทศกาลหนังนานาชาติอีกหลายแห่ง

ต้นกำเนิดและแรงบันดาลใจของหนังไทยเรื่องนี้ คือ “Ten Years” ฉบับฮ่องกง ซึ่งรวบรวมคนทำหนังรุ่นใหม่มาร่วมผลิตภาพยนตร์สั้น ซึ่งพูดถึงสังคมการเมืองฮ่องกงในอีกสิบปีข้างหน้า ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่

“Ten Years Thailand” ก็มีแนวคิดหรือโจทย์ตั้งต้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือ การเป็นงานรวมหนังสั้นที่ (ควรจะ) สื่อถึงประเทศไทยในทศวรรษข้างหน้า

ภาพยนตร์สั้นทั้งสี่เรื่องที่ถูกร้อยเรียงรวมกันเป็น “Ten Years Thailand” จากผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล บอกเล่าเรื่องราว หรือมีลักษณะการนำเสนอที่ผิดแผกแตกต่างกันไป

Advertisement

บ้างมีความสมจริง บ้างมีความเหนือจริง

บางเรื่องเป็นหนังดราม่าดูไม่ยาก บางเรื่องดึงดูดผู้ชมด้วยงานคอมพิวเตอร์กราฟิกและโครงเรื่องหวือหวาสไตล์ “ไลต์โนเวล” บางเรื่องคล้ายงานวิดีโอศิลปะในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ ขณะที่บางเรื่องก็เป็นหนังอินดี้อาร์ตเฮาส์เต็มตัวอย่างไม่เคอะเขิน

บางเรื่องทำหน้าที่บอกเล่าสถานการณ์ไม่ปกติในปัจจุบัน อันเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา

บางเรื่องบอกเป็นนัยให้ผู้ชมตระหนักว่าสภาพการณ์ของวันนี้และวันหน้า ล้วน
ยึดโยงอยู่กับอดีตที่ย้อนหลังไปได้ไกลหลายทศวรรษ

บางเรื่องมีฉากหลังเปี่ยมจินตนาการประหนึ่งเป็นโลกอนาคต หากเนื้อหาสาระกลับสะท้อนปัญหาของเมืองไทย ณ พ.ศ.นี้ หรือในทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะใฝ่ฝันถึงวันเวลาที่ดีกว่าในทศวรรษข้างหน้า

จึงเป็นความแปลกประหลาด เมื่อถึงที่สุดแล้ว หนังสั้นไทยทั้งสี่เรื่องเลือกจะฝืนโจทย์ตั้งต้นของโครงการ ด้วยการไม่พยายามพูดถึงอนาคต

ไม่มี “ภาพอนาคต” ที่ชัดเจนปรากฏในหนังเหล่านี้

ไม่มี “อนาคตที่จะดีงามสดใสกว่าเดิม” ปรากฏในหนังเหล่านี้

อนาคตที่เหือดหายไป ถูกแทนที่ด้วยการย้ำเตือนให้คนดูมองเห็นถึงความติดขัดเหนื่อยล้าในปัจจุบัน และครุ่นคำนึงถึงบ่อเกิดของปัญหาในอดีต

ผู้กำกับทั้งสี่รายราวกับต้องการป่าวประกาศว่า อดีตและปัจจุบันของสังคมไทยเป็นอย่างไร อนาคตก็ย่อมเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ

แม้ “Ten Years Thailand” จะไม่ใช่ “หนังแมส” ที่เข้าถึงคนวงกว้างทั่วประเทศ ตรงกันข้าม นี่อาจเป็นเพียงเสียงเบาๆ ของปัญญาชน-คนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะสำแดง “อาการ” ร่วมกับสื่อบันเทิง-ผลงานทางวัฒนธรรมจำนวนมากในยุคร่วมสมัย

หลายปีมานี้ เราอาจมีหนัง มีละคร มีนิยาย ที่พูดถึงอดีต พูดถึงความจริงในชีวิตปัจจุบันผ่านแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ หรือพูดถึงการหลีกหนีความจริงกันเต็มไปหมด

แต่แทบไม่มีหนัง ละคร นิยายดังๆ เรื่องไหนเลย ซึ่งพยายามจะจินตนาการถึงอนาคตอย่างเป็นระบบและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง

มองในแง่นี้ พวกเราอาจติดอยู่ในความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม การสิ้นไร้ความหวัง มาเนิ่นนานเกินไป

จนกระทั่งมหรสพความบันเทิงทั้งหลายก็ยังไม่กล้ากล่อมเกลาผู้บริโภคด้วยภาพฝันสวยงาม ซึ่งแทบทุกคนมองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image