เปรียบเทียบนโยบายการศึกษาของสองพรรคการเมืองหลัก

สนามการเมืองเริ่มคึกคัก เมื่อมีการปลดล็อกทางการเมือง เปิดให้พรรคการเมืองสามารถขยับหาเสียงได้ เพียงไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์เปิดเกมรุก ประกาศนโยบายด้านการศึกษา ในวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา สร้างเสียงฮือฮา โดยเฉพาะนโยบายเกิดปั๊บรับแสน เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ และนโยบายกระจายอำนาจสู่โรงเรียน

ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งวัน เป็นการประกาศนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ นำทีมโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งแม้จะเป็นพรรคใหม่ ก่อตั้งมาได้ไม่นาน แต่ก็สร้างกระแสฮือฮาจากนโยบายการเมือง

วันนี้จึงขอนำนโยบายของทั้งสองพรรคมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองหลักๆพรรคแรกๆที่ออกตัว โชว์นโยบายสำคัญเรื่องการศึกษา

ประชาธิปัตย์ : นโยบายการศึกษายกระดับคุณภาพลูกหลานไทย

 

Advertisement

หลักคิด – ประชาธิปัตย์เน้นนโยบายเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจและปากท้อง สำหรับประชาธิปัตย์การเปลี่ยนแปลงประเทศต้องไปสู่ความยั่งยืนที่สุด ปัจจัยสำคัญของการไปสู่ความเจริญก้าวหน้าคือคน จึงต้องมีการยกเครื่องการศึกษา เพื่อคุณภาพของเด็กไทย ขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้มีโอกาสพัฒนาตนเอง

“นโยบายการศึกษาไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการที่ควรได้รับ โดยเน้นพัฒนาเด็กตาม 7 เป้าหมายหลัก คือ สุขภาพดี มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีทักษะสองภาษา มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีคุณธรรมและจิตสาธารณะ เข้าใจสิทธิและหน้าที่ และมีทักษะชีวิต ยืนยันว่านโยบายด้านการศึกษา ทำแล้วจะมีความคุ้มค่าที่สุดสำหรับคนไทย” นายอภิสิทธิ์กล่าว สำหรับนโยบายการศึกษาจะดำเนินการใน 10 ข้อหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์การศึกษาตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ คือ

1.เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน เบี้ยเด็กเข้มแข็ง 0-8 ปี 1,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของเด็กตลอดปี

Advertisement

2.ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วประเทศ จัดการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการคิด เพิ่มครูปฐมวัยทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาเติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกด้าน

3. อาหารเช้า-กลางวันฟรี มีคุณภาพ ให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านสถานศึกษา โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่นักเรียนควรได้รับ

4. เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ ด้วย English for All จัดการเรียนการสอนโดยเจ้าของภาษา เน้นทักษะการสื่อสารตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของสังคมไทย

5.ปรับหลักสูตรเพื่อโลกอนาคต ตั้งแต่ระดับประถมที่เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ

6.เรียนฟรีถึงระดับ ปวส. จบแล้วมีงานทำ ในอาชีวะศึกษาภาครัฐและเอกชน ทั้งสายช่างและพาณิชย์ พัฒนาระดับฝีมือ ทักษะการทำงานจริงเพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของตลาด

7. การศึกษาตลอดชีวิต คูปองเพิ่มทักษะสำหรับผู้ใหญ่ แจกคูปองเพิ่มทักษะและส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มทักษะในด้านต่างๆ สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ให้ทันสมัยต่อความเปลี่ยนแปลง เพิ่มโอกาสสร้างอาชีพ

8.คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน

9. จัดตั้งกองทุน Smart Education เพื่อสนับสนุน Social Enterprise และ Startup ด้านการศึกษา รวมถึงการนำเทคโนโลยี EdTech (Education Technology) เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน และการสอบให้มีประสิทธิภาพ และ

10. การกระจายอำนาจจากกระทรวงสู่โรงเรียน

อนาคตใหม่ : นโยบายปฏิวัติการศึกษา

 

หลักคิด – ขณะที่ ไอคิวเด็กกรุงสูงกว่ามาตรฐาน ไอคิวเด็กชนบทกลับต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กกรุงมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัย 66 เปอร์เซ็นต์ แต่เด็กชนบทมีโอกาสเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ มีความเหลื่อมล้ำกันถึง 16 เท่าในเรื่องการศึกษา ที่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พรรคจึงขอเสนอ เมกะโปรเจ็ค 4 ภารกิจ ยกระดับ 4 ด้าน

คือ 1.การพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านการศึกษา ศูนย์เลี้ยงเด็ก ในแต่ละช่วงวัย 20,000 แห่ง ที่พบว่า ห้องเรียนไม่มีคุณภาพ อุปกรณ์ต่างๆไม่เพียงพอ 17,000 โรงเรียนทั่วประเทศขาดแคลนหนังสือที่มีคุณภาพ ขณะที่ภาคอาชีวะนั้นไม่สามารถพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันโลกปัจจุบัน เนื่องจากอุปกรณ์พัฒนาฝีมือที่เก่า ไม่ทันสมัย โดยเราจะใช้งบหนึ่งแสนล้าน ตลอดเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาในส่วนนี้ ซึ่งจะใช้เงินกับโรงเรียนที่ขาดแคลนที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก

2.พัฒนาโครงสร้างและระบบการทำงานของกระทรวงศึกษาทั้งระบบ โดยยุบโครงสร้างที่ไม่จำเป็น และโครงการที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทิ้ง ทำให้เราได้เวลาของบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อพัฒนา รวมทั้งงบประจำ ที่เป็นค่าอาหาร และค่าเดินทาง ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยการเพิ่มนักโภชนาการ 1 คน ต่อ 1 เขตการศึกษา ทั้งนี้งบประมาณที่มาสู่โรงเรียนต้องผ่านการบริหารจัดการ โดยคณะกรรมการโรงเรียนที่ประกอบด้วย 8 กลุ่มคน ได้แก่ นักเรียน ครู ผอ.โรงเรียน นักการศึกษา ตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้ประกอบการในชุมชน ตัวแทนจากอปท. และจะต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

3.พัฒนาหลักสูตรการศึกษา ลดหลักสูตรท่องจำ และเพิ่มหลักสูตรความเข้าใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มากขึ้น สนับสนุนให้มีการฝึกงาน ตั้งแต่ม.ต้น โดยได้รับค่าตอบแทนอย่างยุติธรรม

4.พัฒนาครูต้นแบบ เพื่อการพัฒนาห้องเรียน และร่วมออกแบบหลักสูตรการศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image