เส้นทาง‘คนกีฬา’กับ‘การเมือง’

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีนักกีฬาชื่อดังที่ตัดสินใจลงสมัครสมาชิกพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกในครั้งนี้ ขณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมามีนักกีฬารุ่นพี่หลายคนเช่นกันที่ลงเล่นการเมือง รวมทั้งนักการเมืองรุ่นใหญ่หันเหพักชีวิตการเมืองเบื้องหน้าและหันชีวิตมาเป็นเจ้าของทีมกีฬา ลองมาดูกันว่ามีใครบ้าง

“มาดามเดียร์” นางวทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ชุดแชมป์กีฬาซีเกมส์ 2017 ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), อดีตบริษัท สปริงส์นิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัดสินใจลาออกจากวงการธุรกิจสื่อและสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

Advertisement

“เขาทราย แกแล็คซี่” นายสุระ แสนคำ อดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย รุ่นซุปเปอร์ฟลายเวต (115 ปอนด์) สมาคมมวยโลก (WBA) เจ้าของฉายา “ซ้ายทะลวงไส้” หลังจากแขวนนวมก็หันหน้าสู่วงการบันเทิง เล่นหนังเล่นละครหลายเรื่อง จากนั้นเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน และลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน          ปี 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อปี 2554 ย้ายไปอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 2 จ.เพชรบูรณ์ แต่ก็สอบตกอีกครั้ง

“เขาค้อ แกแล็คซี่” นายวิโรจน์ แสนคำ อดีตแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวต (118 ปอนด์) สมาคมมวยโลก (WBA) หลังแขวนนวมก็ทำธุรกิจส่วนตัว โดยสมัครเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

Advertisement

“วิว” เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักเทควันโดหญิง ฮีโร่เหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี พ.ศ.2547 ตัดสินใจเล่นการเมืองในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เมื่อปี 2554 ในพื้นที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยครั้งนี้เป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนาและเตรียมลงเลือกตั้งแบบเขตอีกครั้งที่เขตหลักสี่เช่นเดิม

“บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับ 3 ของโลกชาวไทย หลังแขวนแร็กเกต เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ปี 2554 ลงสมัครรับเลือกตั้งในปีเดียวกัน
แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่าภราดรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ก.-ส.ข. จึงถูกตัดสิทธิ

“เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยและผู้จัดการทีม หลังแขวนสตั๊ดก็หันสู่วงการบันเทิงสลับการเป็นโค้ชฟุตบอล ปี 2554 สมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

“บาส” สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 เจ้าของสโลแกน “ไม่ได้โม้” หลังจากแขวนนวมก็เข้าสู่วงการบันเทิง      ปี 2554 ก็สมัครเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

“เป็ด” เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง อดีตนักมวยไทยชื่อดัง ภายหลังแขวนนวม ปี 2554 ก็สมัครเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา โดยจะลงเลือกตั้งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช บ้านเกิด แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วก็ถูกตัดสิทธิ เนื่องจากพบว่าไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา

“เติ้ล” มนัส บุญจำนงค์ อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขันโอลิมปิก  ฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ หลังแขวนนวม ปี 2554 ก็สมัครเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลงเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อพรรค ลำดับที่ 18 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

“โปรช้าง” ธงชัย ใจดี นักกอล์ฟอาชีพชื่อดัง ตัดสินใจสู่สนามการเมืองเข้าสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

“เสี่ยโอ่ง” เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หลังโดนแบนการเมือง เป็นอดีต ส.ส.และรัฐมนตรีช่วยว่าการหลายกระทรวง ภายหลังปี 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จึงมาทำงานการเมืองในนาม “กลุ่มเพื่อเนวิน” และให้การสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยจวบจนปัจจุบัน

 

“ท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานสโมสรฟุตบอล “ช้างศึกยุทธหัตถี” สุพรรณบุรี เอฟซี เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองตามบรรหาร ศิลปอาชา บิดา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) โดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2544, 2548 และ พ.ศ.2550 สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย จึงหันมาจับด้านกีฬาในฐานะประธานสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี โดยปัจจุบันกลับมาสู่สนามการเมืองโดยสังกัดพรรค ชทพ.ในนามกลุ่มยังบลัด

“เลขาฮั่น” นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรฟุตบอล “กว่างโซ้งมหาภัย” เชียงราย ยูไนเต็ด เดินตามรอย ยงยุทธ ติยะไพรัช บิดา และนักการเมืองชื่อดังแห่งเมืองเชียงราย ก้าวมาสู่เลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ปรับโหมดเป็นนักการเมืองเต็มตัว

“บังยี” นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ 4 สมัย และอดีตคณะกรรมการบริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เคยได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเขตปทุมวัน กทม. ปี 2528 ก่อนจะเข้าทำงานการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ช่วงปี 2543 ต่อมาย้ายสังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ปี 2547 ปัจจุบัน ภายหลังจากหมดสมัยการเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจเข้าพรรคประชาชาติ (ปช.) โดยเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ปช.ดูแลพื้นที่ กทม.

“สมศักดิ์” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตประธานสโมสรฟุตบอล “ค้างคาวไฟ” สุโขทัย เอฟซี เป็นผู้แทนหลายสมัยของ จ.สุโขทัย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จึงก่อตั้งกลุ่มมัชฌิมา และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อสานต่อการเมืองจนกระทั่งปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มสามมิตรและเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมทั้งรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรค พปชร.

“เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย อดีตประธานสโมสรฟุตบอลชัยนาท ฮอร์นบิล เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย         ปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จึงมาทำงานการเมืองในกลุ่มมัชฌิมา และหันมาจับกีฬาบ้านเกิดเป็นประธานสโมสรฟุตบอลชัยนาท ฮอร์นบิล ปัจจุบันกลับมาสู่สนามการเมืองอีกครั้งในนามกลุ่มสามมิตร และปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image