สถานีคิด : ความกลัวทำให้เสื่อม

บ้านเมืองถดถอย ปกครองด้วยระบบพิเศษล้าหลัง ต่างจากนานาอารยประเทศ

ชนวนเหตุมีวันนี้ เกิดจากการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ผลเลือกตั้งที่เสียงส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศ แต่พรรคการเมืองแพ้เลือกตั้ง กลุ่มการเมืองที่แตกสาขามาจากพรรคพ่ายซ้ำซาก ไม่ต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย เชื่อมั่นระบบรัฐสภาแต่ปาก

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา คืนอำนาจประชาชน

Advertisement

แต่ก็ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นกับการใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย

มีการชุมนุม ยกระดับขัดขวาง เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปูทางการใช้อำนาจ เข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นขบวนการ

กระทั่งทหารยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2557

Advertisement

จากวันที่ขอเวลาอีกไม่นานในวันนั้น ล่วงเลยมาถึงวันนี้ 4 ปีกว่า

มีรัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์พิเศษ มีกฎหมายประกอบ 4 ฉบับออกมารับลูก

คสช.ตัดสินใจคืนอำนาจประชาชน กำหนดปฏิทินเลือกตั้งทั่วไป 24 กุมภาพันธ์ 2562

ก่อนการเลือกตั้ง ทุกสิ่งอย่างลักลั่น เป็นอย่างที่เห็น

แค่เริ่มต้นก็ส่อเค้าฉาว ทุกกระบวนท่า

นักวิชาการ ฝ่ายการเมือง เรียกร้องรัฐ-ฝ่ายจัดคุม ขอให้ดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี และเป็นธรรม ฟรี แอนด์แฟร์

แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ยังเป็นคำถาม

เมื่อเดิมพันแต่ละฝ่ายสูงยิ่ง แพ้ไม่ได้

เมื่อแพ้ไม่ได้ ก็ไม่คำนึงถึงวิธีการ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

หลายฝ่ายวิตกห่วงใยเป็นที่ยิ่ง

เนื่องจากหากการเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เผชิญหน้ารอบใหม่

เลือกตั้งแล้วไม่จบ

ฝ่ายต่างๆ จึงคิดหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า การเลือกตั้ง จะนำพาไปสู่สังคมประชาธิปไตย

เมื่อเชื่อมั่น-เห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไปเป็นทางออกประเทศ

ก็ย่อมคาดหวังผลได้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเห็นความสำคัญ แห่ออกมาใช้สิทธิ

แต่เมื่อใช้สิทธิ ลงคะแนนตัดสินแล้ว ผู้เล่นต้องยอมรับผลการตัดสิน

เพราะหากตั้งเงื่อนไขยอมรับก็ต่อเมื่อชนะเลือกตั้ง หรืออีกฝ่ายไม่ชนะอย่างที่เป็นมาในอดีต บ้านเมืองก็จะเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้ง

ทั้งนี้หนึ่งในความพยายามให้นักการเมืองมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้-รู้ชนะ คือ มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ออกหนังสือเชิญพรรคการเมือง ร่วมลงนาม “สัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้แก่ประชาชน” วันที่ 21 ธันวาคม

มีพรรคร่วมลงนาม 25 พรรค

แต่ยังเปิดกว้างเข้าร่วมภายหลังจนถึง 10 มกราคม 2562

การลงนาม ให้สัตยาบันร่วมกัน เซ็นเอ็มโอยู ไม่ว่าเรียกชื่อใด และริเริ่มโดยใครก็ตาม โดยหลักการถือเป็นเรื่องดี พรรคการเมืองควรสนับสนุนและเข้าร่วม

เหตุผลข้ออ้างเรื่องเสรีภาพหากจะมี

ไม่มีน้ำหนักเพียงพอปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะในเมื่อเป็นพรรคการเมือง ต้นสังกัดนักการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ที่เสนอตัวให้ประชาชนตัดสิน เมื่อประชาชนเลือกใครก็ย่อมเป็นที่ยุติถึงที่สุด ต้องยอมรับผลเลือกตั้ง เสียงสวรรค์ ความต้องการของประชาชน

ขณะนี้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นคู่กรณี คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับและลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หลายพรรคลังเล ยังไม่ตัดสินใจ

ทั้งที่ตัดสินใจไม่ยากเลย

จริงอยู่ที่ว่า ตามกติกาโดยรัฐธรรมนูญ จะลงนามหรือไม่ก็ตาม แต่กฎหมายผูกมัด บังคับอัตโนมัติ ให้ต้องยอมรับผลเลือกตั้งอยู่แล้ว

เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ว่า การลงนามเอ็มโอยู ไม่ใช่ยาขนานวิเศษ แก้โรคร้ายการเมืองได้เด็ดขาด ไม่มีผลทางกฎหมาย ลงนามแล้วก็ฉีกทิ้งได้ รับปากไม่ปฏิวัติก็ทำมาแล้ว นับประสาอะไรกับเรื่องแค่นี้

แต่การลงนาม ก็เป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความจริงใจ แน่วแน่ที่จะใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ปัญหาของประเทศร่วมกัน

ไม่ว่าผลของการเลือกตั้งออกมาอย่างไรก็ยอมรับ

เป็นนักการเมืองเต็มตัวต้องไม่กลัวคำตัดสินประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image