‘แยกเบอร์รายเขต’ อีก 1 ปมร้อนเลือกตั้งที่รอวันแก้ไข

“ไม่ใช้ ไม่ใช่เรื่อง เป็นเรื่องที่ไปตกลงกันให้เรียบร้อยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผมไม่ได้เกี่ยวข้องตรงนี้ อะไรก็มาตรา 44 ตลอด ผมบอกแล้วให้ใช้แก้ไขปัญหาการบริหารราชการเป็นหลัก”

เป็นคำตอบของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ปมร้อน “หมายเลขผู้สมัคร” ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561

โดยเฉพาะ ข้อเสนอจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ที่ปัจจุบันมีหมวก 2 ใบเป็นรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ กับเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เสนอแนะให้ กกต.หนังสือถึง คสช.ใช้มาตรา 44 ให้พรรคมีเบอร์เดียวทั่วประเทศแล้วจะหล่อมาก

นายสมชัย บอกว่า กกต.อยู่ในสภาวะ “ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย” แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า หลักการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีใดๆ ต่อการเลือกตั้งเลยก็ตาม พรรคการเมืองหาเสียงยากขึ้น ประชาชนสับสนมากขึ้นจากหมายเลขพรรคที่แตกต่างกันเพียงแค่เดินทางข้ามเขตหมายเลขก็เปลี่ยน

Advertisement

“แม้แต่พรรคที่หนุน คสช.เอง อาจเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่รู้ว่า หากจะให้ลุงตู่อยู่ต่อต้องเลือกเบอร์อะไรกันแน่ ขณะที่ กกต.ก็ต้องมาแบกหม้อก้นดำ จัดพิมพ์บัตร 350 แบบให้ถูกต้องและทันเวลา และเสี่ยงต่อความผิดพลาด” นายสมชัยระบุ

แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่ปฏิเสธการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยังเห็นดีเห็นงามให้มีการแก้ไข แต่เมื่อหัวหน้า คสช.ผู้มีอำนาจ “อาญาสิทธิ์” ปฏิเสธ

นั่นก็เท่ากับ การเลือกตั้งต้นปี 2562 หมายเลขผู้สมัครส.ส.ของพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งก็ยังต้องแตกต่างกันเหมือนเดิมตามที่ระบุไว้ในมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ทุกประการ

“ในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจําตัวผู้สมัครเรียงตามลําดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งออกให้

“ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคน และไม่อาจตกลงลําดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน

“เมื่อได้กําหนดหมายเลขประจําตัวผู้สมัครแล้วจะเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจําตัวผู้สมัครไม่ได้ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ”

อย่างไรก็ตาม ปมร้อน “พรรคเดียวเบอร์เดียว” เป็นประเด็นที่ติดพันมากับข้อเสนอเรื่องรูปแบบของบัตรเลือกตั้งที่เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม หรือ “กลุ่มเฟร์” นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พร้อมๆ ตัวแทนจาก 7 พรรคการเมือง

อันประกอบด้วย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรคสามัญชน เป็นต้น เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อแสดงจุดยืนให้จัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นธรรม และคัดค้านการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร และบัตรเลือกตั้งที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

แม้วันนี้เรื่อง “บัตรเลือกตั้ง” จะได้ข้อยุติไปแล้ว โดยที่ กกต.ยอมมีมติให้ในบัตรเลือกตั้งใบเดียว มีทั้งหมายผู้สมัคร ส.ส. ชื่อและโลโก้พรรคการเมือง “เพื่ออำนวยความสะดวก” ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องอย่างเอกฉันท์ของสังคม

เป็นบัตรเลือกตั้งแบบ “ทูอินวัน” ใครชอบที่ตัวผู้สมัคร ส.ส.ก็ดูที่หมายเลข ใครชอบพรรคก็จำชื่อกับโลโก้เข้าคูหาไปกาได้ตามใจถนัด

แต่เรื่อง “เบอร์ผู้สมัคร” ถือยากกว่านั้นเยอะ เพราะเป็นบทบัญญัติของกฎหมายลูกที่นอกเหนือไปจากอำนาจของ กกต.

ถ้าหัวหน้า คสช.ยืนยันว่า จะไม่ยอมใช้อำนาจมาตรา 44 มีใน “สถานการณ์พิเศษ” แบบนี้ก็ต้องส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ต้องกินเวลาหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ

และกระบวนการดังกล่าวอาจกลายพันธุ์เป็น “โรคแทรกซ้อน” ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกรอบก็เป็นได้

ส่วนเรื่องการพิมพ์บัตรแยกรายเขต 350 เขต 350 แบบ จากเบอร์ผู้สมัครที่ต่างกันที่หลายฝ่ายกังวลกันว่า จะทันเลือกตั้งหรือไม่นั้น กกต.ออกปาก ยืนยันว่า สามารถพิมพ์ทันแน่นอน รวมไปถึงเรื่องการขนส่ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วย

ปล่อยเรื่อง “เบอร์ผู้สมัคร” กลายเป็นปมร้อนที่ลอยหายไปกับสายลมต่อไป

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำลังจัดทำ ประเด็นดังกล่าวถือเป็นบทบัญญัติที่ได้ข้อยุติ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ยกคณะไปถกกันที่รีสอร์ตริมทะเลใน จ.ระยอง

เป็น 1 ใน 39 ประเด็นที่คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มี นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการ ได้นำเสนอในวันนั้น

กรธ.ได้ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส.

“จึงกำหนดให้หมายเลขผู้สมัครจากเดิมที่เบอร์พรรคหรือบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกันให้แยกเบอร์ โดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัครในแต่ละเขต แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกัน”

แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกทักท้วงจากพรรคการเมืองขนาดไหนอย่างหนัก รวมไปถึง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ขณะนั้น ยังไม่ถูกพิษ ม.44 ปฏิบัติหน้าที่เป็น กกต.อยู่ แต่นายมีชัยก็ยืนยันเสียงแข็งว่า กรธ.ต้องการให้การเลือกตั้งแต่ละเขตต้องดูคน เพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ

“ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลข เอาคนขับรถลงได้อีกต่อไป เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้พูดถึงเรื่องความเคยชิน แต่การปฏิรูปใช้ความเคยชินไม่ได้ หากกลับไปใช้เบอร์เดียว ทุกอย่างจะเหมือนเดิม เลือกกันโดยไม่รู้ว่าเลือกใคร”

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า วันนี้เราจะไปดูถูกประชาชนไม่ได้ การเลือกตั้งคนในเขตเขาสามารถเห็นป้ายผู้สมัคร จำหน้า จำชื่อผู้สมัครในพื้นที่ได้ทั้งเช้า-ค่ำ หน้าคูหาวันเลือกตั้งก็มี ผู้คนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ไม่ใช่ 30-40 ปีที่แล้วที่อ่านหนังสือกันไม่ออก การเลือกตั้ง ต้องรู้ว่าไปเลือกใคร ต้องขวนขวายที่จะดูว่า ใครเป็นผู้สมัครในเขตของตน

แน่นอนว่า จากวันนั้นมาถึงวันนี้ที่อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบ เหตุผลสำคัญของฝ่ายที่ประกาศว่า “กติกานี้ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อเรา” ต่างคงยังมีคำถามกับ “ความเคยชิน” ที่ กรธ.อ้างถึง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นผู้หนึ่งที่ได้ตั้งคำถามนี้

“ในเมื่อประชาชนคุ้นชินกับการเลือกตั้งแบบพรรคเดียวกัน เบอร์เดียวกันทั้งประเทศมานานแล้ว การมาเปลี่ยนเป็นต่างเขตต่างเบอร์ จึงเป็นเรื่องสับสน และลดความสำคัญของการเลือกพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ “ผลโพล” ที่ “มติชนออนไลน์” ได้ทำการสอบถามผ่านแฟนเพจในเฟซบุ๊กก็จะเป็นอีก 1 คำถามที่ตั้งไปถึงสิ่งที่ กรธ.โดยเฉพาะนายมีชัยอ้างถึงได้เช่นกัน

เพราะจากแฟนเพจที่สนใจมากดโหวตถึง 2,300 บัญชี ชี้ชัดออกมาว่า ร้อยละ 95 เห็นควรให้เป็นแบบเดิม “พรรคเดียวเบอร์เดียว” ขณะที่แฟนเพจที่ต้องการใช้แบบใหม่ “แยกเบอร์รายเขต” มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ต่างก็มีความเห็นว่า แบบเดิมดีอยู่แล้ว จดจำง่ายกว่า และไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะแยกเบอร์รายเขต เพราะถือว่าเป็นการสร้างความสับสนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ที่สำคัญยังจะทำให้ระบบพรรคการเมืองที่ควรจะแข็งแรงอ่อนแอลงอีกด้วย

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “เบอร์ผู้สมัคร” ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 จะเป็นปมร้อนที่เชื่อได้เลยว่า เมื่อได้ “สภาที่มาจากการเลือกตั้ง” เข้ามา คงจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงต่อไป

ถือเป็นอีก 1 ประเด็นความเคลื่อนไหวก่อนที่ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image