เบรนทอล์ก : Primary Election

หลังการยึดอำนาจของ คสช.มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติให้มีใส่เรื่องการทำไพรมารี หรือการเลือกตั้งขั้นต้น โดยพรรคการเมืองจะต้องมีสาขาพรรคของจังหวัด และต้องทำการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร

เรื่องนี้ได้รับการถกเถียงหนักมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ หลายพรรคทำไม่ทัน โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางจะเสียเปรียบพรรคใหญ่ สุดท้าย คสช.ก็ต้องถอย ยอมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกการทำ ไพรมารีโหวตระดับจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งแรก

แต่กระนั้นก็ได้ยินข่าวพรรคการเมือง อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ยังคงเดินหน้าทำไพรมารีโหวตกันอยู่ แม้จะได้ยินข่าวรอยร้าว ของว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ต่างๆ

บทความนี้ขอนำผู้อ่านไปรู้จักว่ากระบวนการไพรมารี คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

Advertisement

การเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี เป็นกระบวนการให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้สมควรเป็นตัวแทนพรรคแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการเลือกตั้งทั่วไป โดยเปิดให้ผู้ต้องการเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคแข่งขันกันเองภายในก่อน

ต้นแบบอันเป็นจุดกำเนิดอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เกิดที่สหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1900 การเมืองอเมริกาช่วงนั้นมีลักษณะเป็นจักรกลการเมือง ครอบงำด้วยระบบอิทธิพล ในพรรคการเมืองก็ถูกครอบงำด้วยกลุ่มผู้มีอำนาจผูกขาดการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร

ไพรมารีจึงเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการที่โปร่งใสมากขึ้น มลรัฐต่างๆ จึงออกกฎหมายให้มีการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นในมลรัฐของตนเอง เพื่อสรรหาผู้สมัครของพรรคที่มลรัฐจะเสนอชื่อแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี จนมาถึงทุกวันนี้ที่ในสหรัฐใช้การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดเลือกผู้เสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการมลรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก จนถึงประธานาธิบดี

Advertisement

การเลือกตั้งขั้นต้นมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น 1.รูปแบบที่ใช้การประชุมถกเถียงอภิปราย 2.รูปแบบที่ใช้การเลือกตั้งขั้นต้นแบบปิด จะเปิดให้เฉพาะสมาชิกพรรคที่ลงทะเบียน

3.รูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้นแบบเปิด ที่ให้ใครก็ได้มาลงทะเบียนแสดงเจตจำนงว่าจะใช้สิทธิมีส่วนร่วมได้ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมือง 4.รูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้นแบบผสมหรือกึ่งเปิดกึ่งปิด และ 5.รูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคะแนนสูงสุด 2 คนแรก สำหรับการเลือกตั้งขั้นต้นโดยทั่วไปจะมีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามที่กล่าวมาข้างต้น

การเลือกตั้งขั้นต้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ใช้การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อ    คัดเลือกตัวแทนพรรคเป็นการภายใน หรือว่าหวังลดจำนวนผู้แข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปลง รวมถึงทำให้    ผู้ออกเสียงสามารถเรียนรู้ข้อมูลผู้สมัครได้มากขึ้น ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

การเลือกตั้งขั้นต้นของหลายประเทศในยุโรปมักจัดขึ้นกันเองในพรรค โดยรัฐจะไม่เข้ามายุ่งหรือสนับสนุน แต่จะไม่แพร่หลายเหมือนในสหรัฐ

การเลือกตั้งขั้นต้นมีจุดเริ่มต้นคือต่อสู้กับการครอบงำโดยนายทุน หรือผู้มีอิทธิพล การเลือกตั้งขั้นต้นจึงจัดว่ามีความสำคัญ ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจากรากฐาน ยกตัวอย่าง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำในพรรครีพับลิกันมากนัก แต่ทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งขั้นต้นจากผู้ลงคะแนนที่เลือกเขาจากมลรัฐทั่วประเทศนั่นเอง

สำหรับการเลือกตั้งขั้นต้นในไทยถูกนำเข้ามาภายใต้เจตนาที่ดี แต่เป็นบริบทการเมืองช่วงที่พรรคการเมืองอ่อนแออย่างหนัก ทั้งกลไกของพรรคถูกแช่แข็งมาหลายปี หลายพรรคยังตั้งพรรคไม่สำเร็จด้วยซ้ำ สุดท้าย คสช.ต้องยอมถอย

ต้องชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์และอนาคตใหม่ ที่แม้ คสช.จะยกเลิกไม่ต้องทำไพรมารีในการเลือกตั้งครั้งนี้  แต่ทั้ง 2 พรรคก็ยังเดินหน้าทำอยู่ แม้จะต้องเจอปัญหาอย่างหนักในพรรค โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความสามัคคีของสมาชิกในพรรคเองดังที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งยังต้องสูญเสียงบประมาณและทรัพยากรเพิ่มมากกว่าพรรคอื่น แต่ก็นับเป็นการวางรากฐานที่ดีให้กับการเมืองไทยในอนาคต มีข้อแม้ว่าต้องค่อยๆ ปรับปรุงจุดอ่อน เสริมการรับรู้ ให้เห็นว่าระบบดังกล่าวมีประโยชน์จริงในสังคมประชาธิปไตย

(ดูเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image