ย้อนคำสั่งคสช.ปี 2561 ชี้ทิศทาง-นัยยะ‘การเมือง’

ตลอดทั้งปี 2561 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช.ทั้งหมด 22 ฉบับ เป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 5 ฉบับ

เริ่มด้วย คำสั่ง คสช.ที่ 4/2561 เรื่องให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นคำสั่ง โดยมาตรา 44 ที่สั่งให้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ในวันที่ 20 มีนาคม

โดยระบุเหตุผลว่า นายสมชัยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นของตนเองกับกระบวนการและกำหนดการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควรในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความสับสน ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า นายสมชัยได้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต. โดยไม่ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ กกต.เสียก่อน เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะตัวเองมีส่วนได้เสียโดยตรง จึงไม่สมควรให้นายสมชัยปฏิบัติหน้าที่ กกต.ต่อไป

Advertisement

และอีกข้อให้ขยายอายุให้กับ กกต.ที่เหลืออยู่ ให้ผู้ที่อายุครบ 70 ปี อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้าทำหน้าที่ต่อ ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.

⦁คำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)

โดยคำสั่งนี้ออกมาเพื่อแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 ที่เกี่ยวกับการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนแล้วและพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำหรือยุ่งยากสับสน

Advertisement

จึงใช้มาตรา 44 ยกเลิกความในมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ในเรื่องทุนประเดิม การจ่ายค่าบำรุงพรรค การจัดหาสมาชิก ภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ยังเปิดให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค เลือกหัวหน้า เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียนพรรค และกรรมการบริหารพรรค รวมถึงการจัดตั้งสาขาพรรค การรับสมาชิก การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนการจัดกิจกรรมอื่นที่ คสช.กำหนด

พร้อมทั้งยกเลิกความในมาตรา 144 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 โดยกำหนดใหม่ให้พรรคการเมืองจัดให้มีกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน ทำไพรมารีโหวตผู้สมัครในแต่ละเขต และบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ยังเปิดให้มีการประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพรรค รวมถึงสมาชิกพรรค แต่ยังไม่เปิดให้มีการหาเสียง

และกำหนดให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศเขตเลือกตั้ง ก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้

⦁คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)

โดยคำสั่งฉบับนี้ยกเลิกประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. หลังจากคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 กำหนดให้ กกต.เป็นผู้แบ่งเขต และประกาศเขตเลือกตั้ง

โดยระบุว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่เนื่องจากมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ร้องเรียนเป็นอันมากว่าการร่วมแสดงความคิดเห็นยังไม่หลากหลายครบถ้วน และการพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ขึ้นไปยัง กกต.ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ดังกล่าว ประกอบกับกำหนดเวลาการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เร่งรัดเข้ามา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของ กกต.

จึงสมควรผ่อนผันและขยายเวลาให้ กกต.ยังคงดำเนินการต่อไปตามหน้าที่ได้และให้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการสรรหา ผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติหรือราชการแผ่นดิน

โดยใช้มาตรา 44 ให้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง ที่ กกต.ได้ประกาศไปแล้ว และให้ดำเนินการประกาศใหม่ตามความเหมาะสม

⦁คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดตำแหน่งใหม่ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้แสดงความไม่พอใจ และลาออกจากการเป็นกรรมการชุดต่างๆ โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่ลาออกทั่วประเทศ แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังลาออกจากประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

จึงมีคำสั่งนี้ออกมาโดยระบุว่า เนื่องจากการที่ประกาศดังกล่าวของ ป.ป.ช.กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่ง ต้องยื่นบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งควรให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจกำหนดตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

สรุปคือ คสช. สั่งให้ ป.ป.ช.ออกประกาศเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ และใช้ มาตรา 44 ในการนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ขึ้นใหม่แทนนิยามเดิมในกฎหมายลูก

ซึ่งได้กำหนดนิยาม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ใหม่ดังนี้ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือนและปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกความในข้อ 5 ที่ระบุว่ามีตำแหน่งอะไรบ้างที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ยังไม่ได้ออกประกาศตำแหน่งใดบ้างที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

⦁คำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง

เรียกได้ว่าเป็นประกาศปลดล็อกทางการเมืองทันทีที่ พ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้

โดยระบุว่า ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ คสช.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. อันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งของพรรคการเมืองแล้ว และจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปบริหารประเทศได้อย่างอิสระและเสรี และควรที่พรรคการเมืองจะสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อนำเสนอนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศต่อประชาชนได้ อันเป็นวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงอาศัยมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.และประกาศ คสช. จำนวน 9 ฉบับ แบ่งเป็น คำสั่ง คสช. 3 คำสั่ง ได้แก่ คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สินของบุคคล คำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 เรื่อง ให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ประกาศ คสช. 3 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. ประกาศ คสช.ที่ 40/2557 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 มาตรา 15 ทวิ ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่อง ให้ พ.ร.ป.บางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ในเฉพาะข้อ 2 คือการยกเลิกการห้าม ไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุม ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใด รวมถึงการจัดตั้ง จดทะเบียนพรรค และระงับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

คำสั่งหัวหน้า คสช. 3 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยยกเลิกเฉพาะข้อที่ 12 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค หรือพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่ การจัดประชุมก่อตั้งพรรคก็ต้องไม่ต้องขออนุญาต คสช.

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่
14 กันยายน 2561 เฉพาะในข้อ 6 ก็คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองหาเสียง หรือประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรค และสมาชิกพรรค

พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขในท้ายคำสั่งปลดล็อกทางการเมืองทั้ง 9 คำสั่งไว้ด้วยว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 9 ฉบับ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image