ที่เห็นและเป็นไป : ‘พรปีใหม่’แด่‘อำนาจ’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

แล้ววันเวลาของประเทศภายใต้การปกครองแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมี “ความสงบเรียบร้อย-ขจัดปัญหาความขัดแย้งแตกแยก” เป็นเหตุผล ข้ออ้างก็ผ่านไปอีกปี

แม้ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในคณะผู้บริหารประเทศ แต่แนวโน้มว่าจะ
เป็นไปตามความตั้งใจของผู้มีอำนาจว่าจะควบคุมการบริหารประเทศต่อไป ตามแผนและปฏิบัติการที่ตระเตรียมไว้เรียบร้อยเป็นอย่างดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย เครือข่ายในทุกด้าน ด้วยความเชื่อมั่นว่าไม่มีทางที่คู่ต่อสู้หรือฝ่ายตรงกันข้ามจะทำให้เกิดการ “ผิดแผน” หรือ “เสียของ” ได้

ชะตากรรมของประเทศในปีหน้าถูกกำหนดไว้แล้ว ด้วยอำนาจที่ผู้ยึดครองอยู่มั่นใจเต็มร้อยว่าอยู่ในระดับ “ปฏิเสธไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่หนีพ้นสภาพยอมจำนนได้ยากเช่นนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมีสัญญาณของความหวังบางอย่างเกิดขึ้น

Advertisement

เป็นสัญญาณที่เกิดในวันซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำทีมงานเข้ารับพรจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

เพราะธรรมชาติของอำนาจ มักทำให้ผู้ครอบครองคิดและเชื่อไปในทางที่ว่า “ความคิด คำพูด และการกระทำของตัวเองเป็นสิ่งถูกต้องและดีที่สุด”

เมื่อเชื่อเช่นนั้น “ผู้มีอำนาจ” จึงมักจะหาวิธีให้ “คนอื่นๆ” คิดและเชื่อแบบตัวเอง

ยิ่งเป็นอำนาจที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยประชาชนในการได้มา โอกาสที่จะคิดแบบอยากให้คนอื่นทำตามความคิด
ของตัวเอง ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นเจตนาดี เป็นความคิดที่ถูก ไม่ควรปฏิเสธ ยิ่งเป็นไปได้มาก

แต่ธรรมชาติของ “มนุษย์” ที่ไม่มีทางเป็นอื่นเลยคือ “ความคิด ความเห็น พฤติกรรมที่แตกต่าง”

“ความแตกต่าง” เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษย์

หากอธิบายด้วยหลักพุทธศาสนา ก็คือ “มนุษย์แต่ละคนล้วนเกิดแต่ผลกรรมที่แตกต่างกัน” ทำให้ระดับ ศีล
จิต และปัญญาแตกต่างกัน “มนุษย์” อยู่ร่วมโลกกันด้วยความแตกต่างเช่นนี้

แม้จะพยายามสร้างกรอบในเชิงจริยธรรมขึ้นมากำหนดให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยกฎ กติกา บางอย่าง

แต่ลึกลงไปจาก “จริยธรรม” ความรู้สึกนึกคิดของทุกคนไม่มีทางที่จะเหมือนกัน

ดังนั้น “อำนาจ” ที่ผู้ใช้มุ่งทำให้คนอื่น “คิด พูด ทำ” ในสิ่งที่ตนเชื่อ แม้ “ผู้มีอำนาจ” จะเชื่อมั่นในตัวเองว่าสูงส่งในจริยธรรมเหนือกว่าคนอื่นเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ร่วมสังคมอื่นๆ อยู่อย่างเป็นสุขในการถูกบังคับให้ “เชื่อตาม ทำตาม” ได้

การทำให้ “ผู้นำ” ยอมรับความแตกต่าง ไม่เอาแต่โกรธขึ้งคนที่เห็นต่าง จึงเป็นสัญญาณที่ดี

และเมื่อคนที่ให้สัญญาณนั้นคือ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ยิ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนคนไทยที่มีแนวโน้มต้องอยู่กับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปอีกยาวนาน

เนื้อหาตอนหนึ่งของ “คำอวยพร” ที่ “พล.อ.เปรม” มอบให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ที่ว่า

“คิดว่าถ้านักการเมือง ที่เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เห็นแก่ความเป็นมิตร ทุกอย่างก็จะราบรื่น และไปได้สวยงาม ต้องพูดว่า เห็นต่างกันด้วยความเป็นมิตรจะดีมาก เพราะทุกคนเป็นมิตรกันและเห็นต่างกันแค่นั้น ขอให้นายกฯเห็นว่าฝ่ายค้านเห็นต่าง ก็เห็นต่างอย่างมิตร แต่อย่าเห็นต่างเป็นศัตรูกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ ขอให้คิดว่าความเห็นต่างต้องมี แต่มีอย่างมิตร ขอให้นายกฯช่วยทำตรงนี้ อย่าเห็นต่างกับฝ่ายค้าน ซึ่งก็โอเค ทั้งนี้ ต้องเห็นต่างอยู่แล้ว แต่ต้องเห็นต่างอย่างมิตร อยากให้นายกฯทำเป็นตัวอย่างว่าผมเห็นต่างกับคุณ แต่ผมก็เป็นเพื่อนกับคุณ ก็จะทำเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ราบรื่น ขอฝากนายกฯไว้อาจจะต้องจำไปใช้ตามที่ตนพูดไว้ก็ได้ เพราะตนเคยใช้มาแล้ว”

ไม่เพียงให้แสงสว่างกับผู้ครองอำนาจเท่านั้น

แต่เป็นของขวัญที่มีค่ายิ่งสำหรับประชาชนคนไทย

ที่ถึงที่สุดแล้วต้องอยู่ร่วมกันตาม “ธรรมชาติของมนุษย์” คือ “อยู่อย่างแตกต่าง”

ซึ่ง “การถูกบังคับให้ต้องเป็นอย่างใจผู้มีอำนาจ” เป็นความทุกข์

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image