ข่าวเลื่อน เลือกตั้ง บทบาท พลังประชารัฐ ความจริง การเมือง

ทําไม “พรรคพลังประชารัฐ” จึงตกเป็นเป้าแห่งความสงสัยพลันที่มีข่าวเรื่อง “เลื่อน” การเลือกตั้งออกไป จากที่เชื่อกันว่าจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ทั้งๆ ที่มีการยืนยันจะยึดตาม “โรดแมป”

ทั้งๆ ที่มีความเชื่ออย่างหนักแน่นและมั่นคงจากบรรยากาศอันปรากฏผ่านการประชุม ณ แชงกรี-ลา ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน

“รัฐธรรมนูญฉบับที่ DESIGN เพื่อพวกเรา”

Advertisement

แล้วเมื่อมีการปล่อยข่าว “เลื่อน” การเลือกตั้งออกมา ทุกสายตาไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ล้วนมองไปยังจุดเดียวกัน

นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ

คำตอบไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะว่าทุกพรรคการเมืองล้วนเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ คสช.

Advertisement

และรับรู้ว่า คสช.นั่นแหละไม่พร้อมต่อ “การเลือกตั้ง”

 

ความรู้สึก “ร่วม” ที่ว่า คสช.ไม่พร้อมและมิได้มีความต้องการที่จะ “เลือกตั้ง” อย่างแท้จริงมาจากความเป็นจริงโดยพื้นฐานในทางการเมือง

เพราะว่า การเลือกตั้งเท่ากับเป็นการปิด “เกม”

เพราะว่า นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แม้ว่าเสียงเพลง “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา”

จะดังกระหึ่ม 3 เวลาหลังอาหาร เสาร์-อาทิตย์ เปิดรอบเช้า รอบดึก แต่พอถึงเดือนกันยายน 2558 สังคมก็รับรู้ว่าที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” นั้น

ไม่น่าจะใช่

พลันที่มีการคว่ำ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ชุดที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ลงเรี่ยวแรงจัดทำกันอย่างเต็มที่ บทสรุปอันตามมาก็คือ

“เขาอยากอยู่ยาว”

 

รูปธรรมของบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว” สัมผัสได้จากการไม่อยู่ในร่องรอยของ “ปฏิญญา” อันออกมาจากปากของหัวหน้า คสช.

จาก “ปฏิญญาโตเกียว” เป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” เป็น “ปฏิญญาทำเนียบขาว”

แม้เมื่อประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่เมื่อปี 2560

แต่ก็สะท้อนออกถึงความพยายามเตะถ่วง หน่วง ยื้อ รั้ง ดึง

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 13/2561 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 16/2561 ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างความได้เปรียบทั้งสิ้น

แต่เมื่อสร้างแล้วไม่ว่าจะจาก “รัฐธรรมนูญ” กระทั่ง “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” การณ์ก็มิได้เป็นไปอย่างมุ่งหวังตั้งไว้ จึงจำเป็นต้อง “เลื่อน” อีก

แม้จะเป็นการเลื่อนเพื่อ “แพ้” มากกว่าเพื่อ “”ชนะ” ก็ตาม

 

คําถามก็คือ แล้วพรรคการเมืองใดที่แนบแน่นกับ “คสช.” ราวคอหอย ลูกกระเดือกเล่า หากมิใช่พรรคพลังประชารัฐ

ความพ่ายแพ้ของ “พลังประชารัฐ” คือ ความพ่ายแพ้ของ “คสช.”

พลันที่ข่าวการ “เลื่อน” วันเลือกตั้งออกไป ทุกสายตาจึงล้วนทอดมองไปยังพรรคพลังประชารัฐและ คสช.เป็นจุดเดียว

ที่คิดว่าจะ “เลื่อน” เพื่อชนะจึงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image