พิชัย นริพทะพันธุ์ ศก.ไทยและแนวทางของ‘ทษช.’

หมายเหตุ – “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถึงมุมมองเศรษฐกิจไทย ทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของ ทษช. และการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ประเมินว่าอาจจะชะลอตัวลงมา เพราะเริ่มเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงแล้วในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2560 น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องมายังไตรมาสที่ 4 ปี 2561 และส่งผลกระทบมาถึงปี 2562 นี้ด้วย โอกาสที่จะเห็นอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี)
ถึง 4.0% มีโอกาสน้อยมาก ปัจจัยเสี่ยงมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่จะส่งผลต่อการค้าโลกและการส่งออก ไทยน่าจะกระทบด้วยทำให้การส่งออกไทยอาจขยายตัวไม่มาก การลงทุนเอกชนยังแย่อยู่ ขณะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว การบริโภคฐานรากยังไม่ฟื้นตัว ปัจจัยสำคัญในประเทศ คือ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องติดตามผลการเลือกตั้ง ถ้าฝั่งประชาธิปไตยชนะมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้มาก แต่หากฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสืบทอดอำนาจยังได้รับเสียงสนับสนุนมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาไปอีก 5-20 ปีได้ ต่างชาติอาจจะไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปฏิวัติและนานาชาติไม่ยอมรับส่งผลกระทบต่อไทย เม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่หายไปแทบจะหยุดนิ่ง แม้ว่าแต่ละปียังมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาในอาเซียนจำนวนมาก เดิมที่ลงทุนในไทยย้ายไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ แทน เพราะไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ ขณะนี้เป็นทิศทางที่ดีที่จะได้ออกจากสภาวะนี้ ที่ผ่านมาประเทศเสียหายไปมากกระทบถ้วนหน้าทั้งคนจนคนรวย

เรื่องเม็ดเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่มีหลักฐานไม่สามารถบิดเบือนได้ สะท้อนจากตัวเลขที่ออกมา โดยตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) พบว่ามูลค่าการขอส่งเสริมต่ำกว่าที่ผ่านมา และต่ำกว่าช่วงที่จะมีการปฏิวัติ มูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 อยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2556 มูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท แต่หลังปฏิวัติในปี 2557 มูลค่าการขอส่งเสริมการลงทุนเหลือเพียงปีละไม่กี่แสนล้านบาทเท่านั้น ปี 2561 ล่าสุดนี้ แนวโน้มการขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าอยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาทเท่านั้น แม้ว่าจะมีมูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนเข้ามา แต่มูลค่าการลงทุนจริงในแต่ละปีก็ไม่ได้สูงเท่ามูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว เมื่อแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนไม่เกิดขึ้น การขยายตัวเศรษฐกิจก็ไปต่อไม่ได้มากนัก

Advertisement

แม้ว่าช่วงไตรมาสแรก ปี 2561 จะขยายตัว 4.9% ไตรมาสที่สอง ปี 2561 ขยายตัว 4.6% และช่วงครึ่งปีแรก 2561 ขยายตัว 4.8% แต่ไตรมาสที่ 3 ชะลอลงมาที่ 3.3% หากอยู่ในสภาวะนี้นานจะเป็นปัญหาเหมือนเมียนมา การส่งออกที่ผ่านมาชะลอตัวลงไปแต่กลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 9.9% และปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ 7-8% ยังต้องติดตามระยะต่อไปว่าสถานการณ์การส่งออกในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การท่องเที่ยวที่ยังมีปัจจัยกระทบจากนักท่องเที่ยวจีน การบริโภคในประเทศขยายตัวต่ำ เหล่านี้แสดงให้เห็นความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจไทย ถ้าประเทศยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเศรษฐกิจไทยจะทรุดลงไปเรื่อยๆ เป็นวิกฤตกบต้มในที่สุด

ทุกวันนี้รัฐบาลบอกเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจยังขยายตัวไม่ทั่วถึง ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาปีละ 7-8% ขณะที่ไทยเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวระดับนี้จะนำไปเทียบกับสิงคโปร์และบรูไนที่อัตราการขยายตัวเฉลี่ยๆ ใกล้เคียงกับไทยไม่ได้ หากพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากร รายได้ของไทยยังต่ำกว่าทั้งสองประเทศมาก แม้ในอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน เชื่อว่า หากไม่มีการปฏิวัติเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 4-5% แม้จะมีความเสียหายบ้างแต่ความเสียหายจะน้อยกว่าผลที่เกิดจากการปฏิวัติในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มฐานรากส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม สัดส่วนมูลค่าภาคเกษตรต่อจีดีพีอยู่ที่ 10% แต่สัดส่วนประชากรคิดเป็น 40-50% ของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มฐานรากและคนจนเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่มีประชาชนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14.5 ล้านคนนั้น รัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องความสำเร็จ อาจจะเป็นแนวความคิดที่ผิด ประเทศที่มีคนจนเยอะเป็นความล้มเหลวสำหรับประเทศไทยที่่มีการพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น ควรจะมีคนจนต่ำกว่าเส้นความยากจนเพียง 10% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20 กว่า%

Advertisement

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการให้เงินช่วยเหลือนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่รัฐบาลทำในช่วงที่สายเกินไป ควรดำเนินการตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เป็นรัฐบาล เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ตั้งแต่ช่วงนั้น การแจกเงินทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประคองตัวอยู่ได้ ต่อมาควรส่งเสริมเรื่องการสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ที่ผ่านมา 4 ปี เหมือนรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย มาแจกเงินช่วงใกล้การเลือกตั้ง ทำให้ตีความไปถึงการหวังคะแนนเสียง ไม่ต่างจากพรรคการเมือง แต่เป็นการนำเงินรัฐบาลมาแจกเพื่อสร้างฐานอำนาจ

สำหรับพรรคไทยรักษาชาติมีนโยบายด้านเศรษฐกิจมุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยี คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจแต่ต่อไปเชื่อว่าจะเข้าใจมากขึ้น คนที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกก่อนโลกจะเปลี่ยนแปลงจริง และต้องมองไปข้างหน้าเป็นแนวทางของไทยรักษาชาติ เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต

นโยบายเศรษฐกิจของไทยรักษาชาติมีนโยบายหลัก 4 ข้อสำคัญ ได้แก่

ข้อแรก ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสโดยใช้เทคโนโลยี มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ (โรโบติกส์)
บิ๊กดาต้า เข้ามาใช้ในทุกด้าน สร้างคอมมูนิตี้ให้ทุกคนมีโอกาสที่จะรวยได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ข้อสอง นโยบายโค้ดไทยแลนด์ ให้ทุกคนในประเทศนำปัญหาที่ประสบมา มาหาทางแก้ไข ใช้เทคโนโลยีการพัฒนาเขียนโค้ด มีการเปลี่ยนทัศนคติและระดมสมอง เริ่มจากแก้ปัญหาเล็กๆ สุดท้ายประเทศดีขึ้น เป็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริงและจับต้องได้ โดยรูปแบบโมเดลจากสหรัฐที่เคยมีปัญหาเรื่องนักโทษที่จะต้องกลับมารายงานตัวทุกสัปดาห์ จึงมีการคิดพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเมตริก) ในส่วนของไทยอาจจะนำมาใช้ในเรื่องปัญหารถติด แรงงานต่างด้าว การจ่ายเงินใบสั่ง ยังสามารถให้คนในแต่ละจังหวัดนำเสนอปัญหาขึ้นมาและแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กร

ข้อสาม เรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น มีพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซ ให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กฎหมายต่างๆ ต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรสนับสนุนให้คนใช้เทคโนโลยีมากกว่าที่จับคนโพสต์ข้อความต่างๆ เช่น ชาวนาขายของผ่านออนไลน์ มีข้อมูลอัพเดต ภายใต้กรอบวิธีการคิดมี 3 ไอ ได้แก่ อินโนเวทีฟ คือ การคิดสร้างสรรค์ใหม่ อินคลูซีฟเพื่อให้ทุกคนใช้ได้และเข้าถึง ง่ายเหมือนเหมือนไลน์ เฟซบุ๊ก และอินเตอร์
คอนเน็กซ์ โดยเอกชนและภาครัฐ สามารถเข้ามาเชื่อมต่อระบบกันได้ รวมทั้งมีระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ต้องเปิดกว้างต้อนรับคนที่ฉลาดไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตามเพื่อเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลง

ข้อสี่ นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานและการกำจัดการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น ราคาเอทานอล ราคาค่าการตลาด การปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้มีอัตราที่เหมาะสม การปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าให้เข้ากับทิศทางของโลก รวมถึงทำลายการผูกขาดทั้งหมดในธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างการแข่งขันและทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนสามารถเติบโตได้

ทิศทางการเมืองในระยะต่อไปภาคประชาชนจะมีอิทธิพลต่อการเมืองมากขึ้น ต้องช่วยกันสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย มองว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ถ้าเห็นว่ารัฐบาลนี้อยู่มา 4 ปีแล้วมีความสุขก็เลือกได้ แต่หากไม่มีความสุขก็ต้องเลือกฝั่งประชาธิปไตย สามารถเลือกไทยรักษาชาติ แต่ช่วงการเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังเลือกตั้ง ปัญหาเรื่อง 350 เขต บัตรเลือกตั้งจะมีปัญหาหรือไม่ ผลการคัดเลือก ส.ว. รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมีคณะกรรมการสามารถหยุดยั้งการดำเนินการของรัฐบาลหากเห็นว่าไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ได้ หากไทยรักษาชาติเสนอเรื่องโค้ดไทยแลนด์ ถ้ามองว่าไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาตินโยบายนี้แม้จะดีแต่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เป็นการสกัดการดำเนินการต่อไปประเทศจะเดินหน้าไปต่อได้ยาก สุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาอย่างที่ที่เคยเจอมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้

คาดหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยจากการที่ทำโพลอาจจะชนะและมีโอกาสถึง 300 ที่นั่ง มีโอกาสที่ไทยรักษาชาติอาจจะจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีประชาชาติ ก็เป็นได้ แต่ถ้าฝั่งรัฐบาล คสช. จะใช้เสียง ส.ว. มาจัดตั้งรัฐบาลก็จะขัดกับความรู้สึกประชาชน ประเทศก็จะวุ่นวายได้ ถ้าผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานให้ประเทศอีกครั้งจะพัฒนาให้ก้าวหน้า แต่ถ้าไม่มีโอกาสก็จะวิจารณ์แนะนำเพราะหวังดีกับประเทศและอยากให้ประเทศก้าวหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image