‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ป้องแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยก ‘นโยบายดีๆ’ เกิดยุครัฐบาลทหาร

นโยบายดีๆเกิดยุครัฐบาลทหาร

‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ป้องแผน 20 ปี ยก นโยบายดีๆเกิดยุครัฐบาลทหาร

นโยบายดีๆเกิดยุครัฐบาลทหาร – นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กก.บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2562 โดยวิเคราะห์ว่า การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มองเรื่องรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้มีบางพรรคการเมืองออกมาพูดว่า จะฉีกรัฐธรรมนูญ หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ จะเอาหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญออก เช่น ไม่อยากทำยุทธศาสตร์ชาติ ไม่อยากจะทำเรื่องปฏิรูป ตรงนี้คิดว่า รอให้ถึงเวลาหย่อนบัตรลงคะแนน และคิดเรื่องนโยบายกันว่า เราจะทำให้ประชาชนเขาได้อะไร แต่ทั้งนี้เราต้องคิดร่วมกันด้วยว่า เราจะทำอะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองและสังคม และต้องทำไปด้วยความเป็นประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น และไม่กลับไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายอีก นี่เป็นส่วนที่ตนอยากจะชักชวนคนไทยให้ตระหนักคิดในการเลือกตั้งครั้งนี้

นายเอนก บอกเลยว่า ถ้ามีพรรคไหนที่เสนอว่า จะฉีกรัฐธรรมนูญ หรือไม่เอารัฐธรรมนูญ ก็อยากจะเตือนให้ตระหนักว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านประชามติจากประชาชนกว่า 16 ล้านเสียงมาแล้ว เราต้องเคารพการลงประชามตินั้น เพราะประชามติเป็นเรื่องสำคัญเราจะต้องช่วยกันรักษา ส่วนถ้ามีพรรคการเมืองเสนอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องทำตามกติกา ซึ่งไม่ได้ยากนัก หากพรรคการเมืองที่เสนอนั้นได้เสียงข้างมากในสภามาเพื่อจะแก้ไข ก็สามารถทำได้

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลายพรรคการเมืองเห็นว่าจะล้าหลัง และมีการมองว่าหากได้เข้าไปเป็นรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ นายเอนก ระบุว่า

“ประเทศไทยเดิมที ไม่มีแม้แต่นโยบาย สมัยตนเรียน จะมีคำว่า “รัฐบาลมีภารกิจ” หรือ “กระทรวงมีภารกิจ” ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช่นโยบาย ก็อยู่กันมาได้ จนกระทั่งยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เริ่มมีการใช้คำว่า “นโยบาย” เข้ามามากขึ้น ซึ่งนโยบายก็เป็นรูปธรรมกว่าภารกิจ เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดของภารกิจได้ เราก็คุ้นกับการจัดทำนโยบาย ยิ่งในการทำงบประมาณเราก็จะต้องมีนโยบายมาให้กระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณดูก่อนที่จะให้นายกรัฐมนตรี ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน ตอนนั้นคนจำนวนมากก็ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “นโยบาย” ก็เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับคนไทยในขณะนี้ คือ อะไรที่ใหม่ๆ ก็จะพูดไปก่อนแล้วว่ามันจะไม่ได้ เพราะเราเคยชินกับของเก่า

Advertisement

“ต่อมา ยุคปลายๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีอะไรที่ใหม่กว่าคำว่า “นโยบาย” ขึ้นมา ก็คือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี” ก็แปลว่าเราจะทำอะไรที่เป็นเรื่องหลักๆ ร่วมกัน 5 ปี เพื่อประเทศว่าจะพัฒนาอย่างไร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สมัยนั้น คนก็บอกว่า จอมพลสฤษดิ์จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือ มีการวางแผนการล่วงหน้าไว้ตั้ง 5 ปี แต่ในที่สุดจนถึงปัจจุบันนี้ก็ชินกับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี

“จนกระทั่งสมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ก็มีผู้เสนอว่า เรื่องนี้ควรจะมีแผนพัฒนาการที่ยาวกว่านั้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็จึงเกิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นการปฏิรูปด้วย เชื่อว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ออกมาแล้ว อย่างน้อยก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดระเบียบระบบราชการได้ดี ถ้ารัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งเอาความเฉลียวฉลาดมาต่อยอดจาดของเดิมได้ผมคิดว่าเรื่องนี้จะไปได้ดี” นายเอนก กล่าว

อดีตนักวิชาการชื่อดัง ยังกล่าวด้วยว่า จะสังเกตเห็นได้ว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี” ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม เพราะฉะนั้นถ้าจะมาตั้งข้อรังเกียจว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” กับ “การปฏิรูป” ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่เรามี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี” มาตั้งแต่ต้นที่ก็ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลประชาธิปไตยเช่นกัน ตนพูดตรงนี้เพื่อที่จะเห็นอีกมุมหนึ่งเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image