คอลัมน์ Brain talk เรื่อง Free and fair elections

 

ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า แม้เราจะมีเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศ จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว บนเวทีการเมืองหลายครั้ง ซึ่งโดยตรรกะก็ถูกต้องและเป็นเรื่องจริง การเลือกตั้งเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ความจริงยิ่งกว่าก็คือ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลยถ้าไม่มีการเลือกตั้ง

ในทางวิชาการ การเลือกตั้งคือวิธีการหรือกลไกการเปลี่ยนคะแนนเสียงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งให้เป็นจํานวนตัวแทนประชาชนที่ชนะเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภา โดยหลักการเลือกตั้งที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับกันในสากล คือการเลือกตั้งต้องเสรี (free) และเป็นธรรม (fair) เรื่องนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเล่นๆ แต่เป็นหลักการที่ประกาศและรับรองโดยสหภาพรัฐสภา (Inter parliamentary Union ) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1994 ณ กรุงปารีส

หลักการเลือกตั้งที่เสรี คือการที่พลเมืองซึ่งมีสิทธิเลือกตั้ง สามารถที่จะแสดงเจตจำนงหรือความต้องการทางการเมืองได้อย่างแท้จริง มีอิสระในการตัดสินใจที่จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตัวแทนหรือพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ โดยต้องไม่มีความรู้สึกหวาดกลัว ถูกบังคับ การลงคะแนนก็จะต้องเป็นความลับ ส่วนการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ก็คือการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองต่างๆ ต้องมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการแข่งขัน หาเสียง เพื่อที่จะดึงคะแนนและความนิยมจากประชาชนมาให้ได้

Advertisement

นอกจากพรรคการเมืองจะได้รับโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องมีโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้ง ทุกคะแนนเสียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม นอกจากนี้ ต้องจัดเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน หลักนี้คือที่มาว่ารัฐบาลจะมีอายุแค่ 4 ปีอย่างกรณีของไทย พอครบ 4 ปีก็ต้องเลือกตั้งใหม่ องค์ประกอบสุดท้ายคือ การเลือกตั้งที่เป็นธรรมต้องสะท้อนเจตจำนงและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยหลักสากลแล้ว มาตรการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรม ก็คือการยอมให้หน่วยงานที่เป็นอิสระ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมในการสังเกตการเลือกตั้งได้ เหล่านี้คือหลักการปกติทั่วไป

หนึ่งในผู้ที่ผูกโยงการเลือกตั้งกับประชาธิป ไตยได้ชัดเจนที่สุดคนหนึ่งคือ Robert A. Dahl นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐ สรุปไว้ชัดเจน 8 ข้อ ถึงคุณลักษณะที่จำเป็น 8 ประการของระบอบประชาธิปไตย 4 ข้อแรกคือความจำเป็นที่ต้องมีในการเลือกตั้ง 1.สิทธิในการเลือกตั้ง 2.สิทธิที่จะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม 3.สิทธิของพรรคการเมืองสามารถแข่งขันหาเสียงได้ 4. สิทธิตามกติกาที่จะแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งสาธารณะ 5.ต้องมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร 6.ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก 7.สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ถูกจำกัดหรือผูกขาด 8.มีสถาบันการเมืองที่กำกับนโยบายของรัฐบาลมาจากหรือสะท้อนความพึงพอใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

Advertisement

กว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ ในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ล้วนจะต้องต่อสู้ ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกันมาเป็นเวลานาน ส่วนในประเทศไทย ไม่มีปัญหาการจำกัดสิทธิเลือกตั้งในระบบกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนไว้คนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน อายุ 18 ปีก็มีสิทธิเลือกตั้ง ปัญหาของไทยคือการไม่เชื่อว่าคนมีสิทธิเท่ากันมากกว่า เพราะช่วงไม่กี่ปีมานี้ยังเถียงกันเรื่องคุณภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่เลย บางคนไปไกลถึงขนาดยกตัวเลข 300,000 เสียงในเมืองที่มีคุณภาพ ก็ยังดีกว่า 15 ล้านเสียงในต่างจังหวัด ฟังแล้วเศร้า เพราะประเทศที่เจริญแล้วเขาผ่านการเถียงกันในจุดนี้มานานแล้ว

(ดูเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561) หน้า 8-18.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image