‘อุตตม’ เคาะมาตรการเร่งด่วนช่วยภาคใต้ ออกแพ็กเก็จ “ทำทันที” ซ่อมสร้างฟื้นฟูผู้ประกอบการทุกพื้นที่

อุตตม สาวนายน

รัฐมนตรีอุตสาหกรรมสั่งประชุมฉุกเฉินเรียกทุกหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับ ระดมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแก่พี่น้องภาคใต้ รวมถึงผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” จัดเต็มครบวงจรทั้งพักหนี้ อัดฉีดเติมทุนเสริมสภาพคล่อง เตรียมออกกองทุนพิเศษพลิกฟื้นกิจการ รวมถึงปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิต โดยทุกมาตรการจะต้อง “ทำทันที” ลงพื้นที่แบบปูพรม

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้(6 มกราคม) เป็นวันหยุดราชการซึ่งเดิมมีภารกิจงานด้านการเมืองที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า แต่ตนได้สั่งยกเลิกทั้งหมดเพราะเห็นว่าเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ดังนั้นจึงได้เรียกประชุมฉุกเฉินกับท่านปลัดกระทรวงและผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงและหน่วยงานในกำกับทั้งหมดเพื่อระดมจัดทำแพ็กเก็จเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มค.ก่อนพายุ “ปาบึก” จะขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราช ตนได้มอบหมายสั่งการให้ท่านปลัดกระทรวงกำชับไปยังทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวเข้าให้ความช่วยเหลือกับพี่น้องประชาชนและะผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชม. ซึ่งทุกหน่วยได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักและหลังจากสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทางกระทรวงจะต้องรีบเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องทันกาล และต้อง “ทำทันที” เพื่อซ่อมสร้างฟื้นฟูพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของพี่น้องและผู้ประกอบการภาคใต้ทุกกลุ่มโดยเร็วที่สุด

“วันนี้ผู้บริหารทุกหน่วยงานมาโดยพร้อมเพรียงและร่วมกันระดมจัดทำแพ็กเก็จชุดความช่วยเหลือแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งเรื่องมาตรการทางการเงิน การพักหนี้ เติมทุนหมุนเวียน และการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักรเครื่องมือการผลิตของผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ให้กลับมาพร้อมใช้งานโดยเร็ว การปรับปรุงสถานประกอบการแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความเสียหาย และมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาให้พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ทุกราย โดยสรุปแพ็กเก็จประกอบด้วย

มาตรการเริ่มทำทันที ได้แก่ ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 5 ปีให้กับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมโรงงาน(กรอ.)จะออกประกาศได้ทันทีในสัปดาห์หน้า การร่วมกับ Big Brother นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ลงพื้นที่ช่วยทำความสะอาดสถานประกอบการซี่งได้ประสานงานไว้เรียบร้อยแล้ว การร่วมมือกับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์/รถจักรยานยนต์ทุกค่ายเปิดศูนย์บริการซ่อมแซมตรวจเช็คเครื่องยนต์ให้กับเจ้าของรถยนต์/รถจักรยานยนต์ของพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปทุกพื้นที่ เป็นต้น

Advertisement

มาตรการทางการเงิน ได้แก่ ธพว.ประกาศพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายวงเงินประมาณ 3,200 ล้านบาทซึ่งจะทำการสำรวจอย่างละเอียดและมีวงเงินเพิ่มให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีก รายละ 1-5 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ส่วนของเงินกู้ยืมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 ถึง 200,000 บาทปรับลดดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1% ต่อปี เตรียมวงเงินไว้ 30 ล้านบาท ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากสสว. มีมาตรการยืดชำระหนี้ออกไปนาน 6 เดือน เป็นต้น

มาตรการต่อเนื่อง ได้แก่ การช่วยเหลือด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการกลับมาจำหน่ายสินค้าและบริการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยสสว.มีช่องทางการตลาดสนับสนุนทั้งปกติและตลาดออนไลน์หลายเครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ลงพื้นที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอี นอกจากนี้จะมีการพิจารณานำเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่เหลืออยู่จำนวนหนึ่งมาปรับใช้ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงสถานประกอบการโดยจะกำหนดเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ

“ทุกมาตรการจะลงมือ “ทำทันที” โดยมุ่งซ่อมสร้างฟื้นฟูคืนความเป็นอยู่ปกติให้เร็วที่สุดแก่พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่โรงงานไปจนถึงเอสเอ็มอีคนตัวเล็กและวิสาหกิจชุมชน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินเครื่องนำมาตรการเหล่านี้ลงไปช่วยเหลือให้ถึงมือแก่ผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่โดยเร็วและรายงานผลให้ผมทราบเป็นระยะ โดยงานนี้ผมได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานใหญ่นำพาความปรารถนาดีและความห่วงใยจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปช่วยเหลือแก่พี่น้องและผู้ประกอบการชาวใต้ทุกคน” นายอุตตมกล่าวในที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image