ใกล้วัน”ประชามติ” คสช.-กลุ่มเห็นต่าง เผชิญหน้าถี่ขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และมีกำหนดถามความเห็นประชาชน ออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถือเป็นหัวใจหลัก เรียกว่าเป็นงานชิ้นโบแดงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

การออกเสียงประชามติครั้งนี้มีความหมายและความสำคัญหลายแง่ด้วยกัน

แง่หนึ่งเป็นการขอความเห็นจากประชาชนว่าจะยอมรับเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ แต่อีกแง่หนึ่งซึ่งลึกลงไป เป็นเหมือนการวัดใจคนไทยว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารหรือไม่

ในแง่นี้ เป็นเสียงสะท้อนได้ดีว่าคนในประเทศยอมรับรัฐบาลที่นำโดย “บิ๊กตู่” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มากน้อยเพียงใด

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายความมั่นคง โดย คสช.จึงหมายมั่นปั้นมือต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านมติจากประชาชน จนมีผลประกาศใช้ในที่สุด เพราะเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมีคุณ ควรค่าแก่การปกป้องตรงที่อำนาจทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือของรัฐบาลชุดใหม่เสียทีเดียว หมายความว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านมา 5 ปีหลังการเลือกตั้ง คสช.ยังจะมีบทบาทไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นั่นทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องออกมาคัดค้านหัวชนฝา

กฎระเบียบที่ใช้เป็นเกณฑ์ ควบคุมให้การออกเสียงประชามติอยู่ในกรอบ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นกรรมการตัดสินว่าการกระทำใดบ้างถูกหรือผิด แม้ในตัวกฎหมายยังไม่ละเอียดชัดเจน จนนำมาสู่การถกเถียงไม่รู้จักจบสิ้น แต่ กกต.อย่าง “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” ก็ได้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดความกระจ่างได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขณะเดียวกัน คสช.ได้ถือโอกาสนี้ ใช้กฎหมายที่มีอยู่ ดำเนินคดีกับแก๊งป่วนที่มีมาต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น 8 แอดมิน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับเพจเฟซบุ๊กของคนเสื้อแดง และเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์

พวกเขาเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือฐานความผิดยั่วยุ ปลุกปั่น ซึ่งมี 2 ใน 8 คนโดนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพ่วงด้วย

แม้ 8 แอดมิน จะไม่มีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฉบับล่าสุด แต่เมื่อทั้งหมดถูกจับกุมในช่วงที่มีการรณรงค์ออกเสียงประชามติ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์ว่า เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ขู่ผู้เห็นต่างให้เกิดความกลัว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของ “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สมาชิกพลเมืองโต้กลับ ถูกศาลทหารอนุมัติออกหมายจับ เลขที่ 36/2559 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนเจ้าตัวจะตัดสินใจเดินทางเข้ามอบตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

“แม่จ่านิว” ได้รับการประกันตัวใน 2 วันต่อมา คือวันที่ 8 พฤษภาคม ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท

กรณีนี้ถูกมองว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูเช่นกัน เพราะชื่อของ “จ่านิว” ในความหมายของฝ่ายความมั่นคงนั้น คือบุคคลที่ทำกิจกรรมต้านการรัฐประหารมาเนิ่นนาน แม้ คสช.จะเรียกคุยแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เป็นผล

“จ่านิว” กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เรียกว่า เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน เพราะเขาเล่นทุกเรื่อง กัดไม่ปล่อย อาทิ ร่วมกันขึงป้ายดำรำลึก 8 ปี การรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ต่อมาปีเดียวกัน “จ่านิว” ในนามนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LTTD) บุกเข้าชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในงานเสวนา “ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จนเมื่อต้นปี 2558 “จ่านิว” ถูกทหารคุมตัวไปดำเนินคดี เหตุฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ

“จ่านิว” ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนประกอบด้วย “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” หรือพ่อน้องเฌอ “อานนท์ นำภา” ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ “วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ” หรือกึ๋ย อาชีพขับรถแท็กซี่ รวมเป็นกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เพื่อแสดงออกไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ ต่อต้านรัฐประหาร เขาถูกทหารควบคุมตัวขณะเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ ในกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 เมื่อครั้งที่มีข่าวหนาหูเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ก่อนจะถูกปล่อยตัวในช่วงกลางคืน โดยมีเงื่อนไขว่าจะละเว้นการเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมือง

แต่ “จ่านิว” ก็ยังออกมาเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา จึงถูกบุคคลแต่งกายคล้ายทหาร จำนวน 8 คน เข้าคุมตัวไปบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ฝั่งประตูเชียงราก) ตอนประมาณสี่ทุ่มครึ่ง หลังจากไปรับประทานอาหารกับเพื่อนสนิท 2 คน

นั่นเป็นเพราะถูกศาลทหารกรุงเทพ ออกหมายจับพร้อมพวก รวม 6 คน ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งต่อมาศาลได้ยกคำร้องในคดีนี้

สำหรับ คสช. ที่ผ่านมาเลือกใช้วิธีการเหมือนที่ “ไก่อู” “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกรัฐบาล เคยบอกว่าเป็นวิธีการแบบ “ละมุนละม่อม” กับผู้เห็นต่าง

แต่เป็นการละมุนละม่อมแบบทหาร หมายถึงจับหรือควบคุมตัวไว้ แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แม้ตั้งข้อกล่าวหา เช่น ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่ไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี นั่นเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วว่า หากปล่อยให้มีการทำกิจกรรมเสียดสี ล้อเลียน ยั่วยุ เข้ามากๆ จะไม่เป็นผลดี ทว่าจะใช้กฎหมายเด็ดขาดเสียทีเดียว ก็เกรงจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งความวุ่นวายจะตามมาจากการใช้กฎหมายเด็ดขาดนั่นเอง การที่จับแล้วไม่ตั้งข้อหาอีกแง่หนึ่งเพราะหากทำเช่นนั้น จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงครหากลั่นแกล้งทางการเมืองได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล-คสช.ถูกกดดันอย่างหนักจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมตัว ให้ดูเหมือนมีการใช้ข้อกฎหมายเพื่อจัดการ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น เกรงว่าจะมีคนอีกหลายกลุ่มเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึง “จับเพื่อให้รู้ว่าจับ”

ฝ่ายความมั่นคงใช้วิธีการนี้กับไม้เบื่อไม้เมาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่รวมตัวแสดงออกต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องเสรีภาพ พวกเขาถูกควบคุมตัวตามหมายจับด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการทำกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา วันประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นถูกนำตัวส่งศาลทหาร และถูกนำตัวไปฝากขังผลัดแรกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 12 วัน จนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากศาลทหารยกคำร้องในการขอฝากขังผลัด 2

คนที่ได้ชื่อว่าถูกเรียกปรับทัศนคติบ่อยที่สุดคือ “เสี่ยไก่” “นายวัฒนา เมืองสุข” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) “วัฒนา” แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คสช.ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน แม้ทหารจะเรียกคุยแล้วไม่รู้กี่รอบก็ยังย้ำจุดยืนเดิม ซึ่งบางครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของเขาก็สุ่มเสี่ยง เนื่องจากใช้คำพูดที่ “ดุ เด็ด เผ็ด มัน รุนแรง” ถึงกระนั้นฝ่ายความมั่นคงก็คุมตัวเขาได้ไม่นาน จำต้องปล่อยออกมา

กรณีล่าสุด ซึ่ง คสช.เรียกตัวในช่วงสงกรานต์ แต่ “วัฒนา” ยังติดภารกิจสำคัญจึงขอผ่อนผันเป็นช่วงหลังสงกรานต์แทน ต่อมา “วัฒนา” เข้ามามอบตัว โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่างจาตุรนต์ ฉายแสง, กิตติรัตน์ ณ ระนอง และตัวแทนสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา มาสังเกตการณ์และพูดคุยด้วย

งานนี้ ลูกสาว “วีรดา เมืองสุข” ไปฟ้องสถานทูตสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสิทธิมนุษยชน ว่าผู้เป็นพ่อถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง ขณะที่ “วัฒนา” ก็ร่อนจดหมายก่อนเข้าค่าย โดยส่งถึงนางจูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ออสเตรเลียช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลทหารของไทย

นอกจากที่กล่าวมา ยังมีชื่อของแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองนายกฯ และ “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งอยู่ในข่ายมีความสนิทชิดเชื้อ คุ้นเคยกับการถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นอย่างดี

กระนั้นก็ตาม ทั้งหมดที่ถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งการรณรงค์ประชามติยังไม่เข้มข้นเหมือนนาทีนี้

ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญยังจะยืนท้ารบ และ คสช.เองยังจะใช้วิธีการละมุนละม่อมกันต่อไป

หรือการเผชิญหน้ากันจะรุนแรงมากขึ้น

ทุกจังหวะยังต้องเฝ้าติดตาม ยิ่งใกล้วันออกเสียงประชามติ ยิ่งต้องติดตาม

หน้า 11

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image