เปิดร่าง กม.ไซเบอร์ ตั้งบอร์ด‘กปช.-กกซ.’ คุมเข้มภัยคุกคาม

หมายเหตุสาระสำคัญบางส่วนของร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ….

มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กปช.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “National Cyber Security Committee” เรียกโดยย่อว่า “NCSC” มีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ

มาตรา 11 ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กปช.ตามมาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ดังต่อไปนี้

Advertisement

(1) คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า “กกซ.” มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานกรรมการ

มาตรา 19 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น

มาตรา 24 ให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า “คกส.” เพื่อดูแลงานด้านกิจการบริหารงานทั่วไปของสำนักงานประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ

Advertisement

มาตรา 48 ให้ กปช.มีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะหน่วยงานที่มีภารกิจหรือให้บริการในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ
(1) ด้านความมั่นคงของรัฐ
(2) ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ
(3) ด้านการเงินการธนาคาร
(4) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม
(5) ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
(6) ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
(7) ด้านสาธารณสุข
(8) ด้านอื่นตามที่ กปช.ประกาศกำหนดเพิ่มเติม

มาตรา 59 การพิจารณาเพื่อใช้อำนาจในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ กปช.และ/หรือ กกซ.จะกำหนดลักษณะของภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

(1) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับเฝ้าระวัง หมายถึง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่สำคัญในระดับร้ายแรง

(2) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง หมายถึง ภัยคุกคามในระดับร้ายแรงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) เป็นภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

(ข) เป็นภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยจนอาจทำให้คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ การป้องกันประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถูกแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญหรือถูกระงับการทำงาน

(ค) เป็นภัยคุกคามที่มีความรุนแรงที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยหรือความเสียหายต่อบุคคล หรือต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่สำคัญหรือมีจำนวนมาก

(3) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤต หมายถึง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤตที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ฉุกเฉิน เร่งด่วน ที่ใกล้จะเกิด และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความมั่นคงของรัฐ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

(ข) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ฉุกเฉิน เร่งด่วน ที่ใกล้จะเกิดอันอาจเป็นผลให้บุคคลจำนวนมากเสียชีวิต หรือระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมากถูกทำลายในวงกว้างในระดับประเทศ

(ค) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

ทั้งนี้ รายละเอียดของลักษณะภัยคุกคาม มาตรการป้องกันรับมือ ประเมินปราบปราม และระงับภัยคุกคามทางไซเบอร์แต่ละระดับ ให้ กปช.เป็นผู้ประกาศกำหนด

มาตรา 64 ในการรับมือและบรรเทาความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กปช.หรือ กกซ.มีอำนาจออกคำสั่งเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเหตุอันเชื่อได้ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เฝ้าระวังคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง

(2) ตรวจสอบคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อบกพร่องที่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(3) ดำเนินมาตรการแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อจัดการข้อบกพร่องหรือกำจัดชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ หรือระงับบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ดำเนินการอยู่

(4) รักษาสถานะของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์

(5) เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องเข้าถึงข้อมูลตาม (5) ให้ กปช.หรือ กกซ.มอบหมายให้เลขาธิการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง หรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องที่ยื่นต่อศาลต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังกระทำหรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง ในการพิจารณาคำร้องให้ยื่นเป็นคำร้องไต่สวนคำร้องฉุกเฉิน และให้ศาลพิจารณาไต่สวนโดยเร็ว

มาตรา 65 ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กปช.หรือ กกซ.มีอำนาจปฏิบัติการหรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) เข้าตรวจสอบสถานที่ โดยมีหนังสือแจ้งถึงเหตุอันสมควรไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เพื่อเข้าตรวจสอบสถานที่นั้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(2) เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทำสำเนา หรือสกัดคัดกรองข้อมูลสารสนเทศหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(3) ทดสอบการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องหรือได้ผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เพื่อค้นหาข้อมูลใดๆ ที่อยู่ภายในหรือใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์นั้น

(4) ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ ทั้งนี้ ไม่เกินสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวให้ส่งคืนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใดๆ แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองโดยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสอบหรือวิเคราะห์

ในการดำเนินการตาม (3) และ (4) ให้ กปช.หรือ กกซ.ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังกระทำหรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง ในการพิจารณาคำร้องให้ยื่นเป็นคำร้องไต่สวนคำร้องฉุกเฉินและให้ศาลพิจารณาไต่สวนโดยเร็ว

มาตรา 66 ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤตให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้

มาตรา 67 ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤต กปช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้ กปช.หรือ กกซ.แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว

ในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤตเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ประเมินผล รับมือ ปราบปราม ระงับ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของ กปช.หรือ กกซ.มีอำนาจขอข้อมูลเวลาจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่ กปช.หรือ กกซ.โดยเร็ว

บทเฉพาะกาล
มาตรา 77 ในวาระเริ่มแรกที่ยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามข้อ 6 (9) (10) และ (1) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติชั่วคราว และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือดำเนินการอื่นใดเป็นการชั่วคราวไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image