ขรรค์ชัย บุนปาน l ถ้าตอนนี้ยังหนุ่ม ก็จะเป็น ‘นักข่าว’

14,975 วัน คือช่วงเวลาที่ มติชนŽ วางแผงทุกเช้าตรู่ นับแต่ฉบับปฐมฤกษ์ออกจากแท่นพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2521 จนถึงฉบับล่าสุดในเช้าวันนี้ 9 มกราคม
พุทธศักราช 2562

เผยแพร่ข่าวสารที่กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมือง นานนับเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานสิ่งพิมพ์ไทย

ขรรค์ชัย บุนปาน คือชื่อของบรรณาธิการคนแรก

จากสำนักงานและโรงพิมพ์เล็กๆ ข้างวัดราชบพิธ ฝั่งพระนคร ขยับขยายมาปักหลักในย่านประชาชื่น เติบโตเป็นอาณาจักร ผ่านฤดูกาลหลากหลาย-ร้อน-ฝน-หนาว ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจยุควิกฤตปีž40 จนถึงสมรภูมิเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

Advertisement
มติชน ฉบับปฐมฤกษ์ วันที่ 9 มกราคม 2521 ราคา 1.50 บาท

ในฐานะประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขรรค์ชัย ในวันนี้ ยังยืนยันหนักแน่นถึงประเด็น เนื้อหาและความถูกต้องว่าเป็นปัจจัยสู่ความเป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์ม กระดาษŽ หรือ กระจกŽ บนหน้าจอสมาร์ทโฟนที่สื่อยุคใหม่จ้องแข่งขันกันแบบนาทีต่อนาที ในขณะที่ นักข่าวŽ อาจไม่ติดอันดับยอดฮิตในคำตอบของคำถามถึงอาชีพที่ใฝ่ฝันเหมือนยุคเก่า ซ้ำยังถูกพายุใหญ่จากเสียงวิพากษ์อย่างหนักหน่วงหลายต่อหลายหน

หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนผู้เริ่มต้นจากนักข่าวอาชีพชายคา ”สยามรัฐ”Ž ด้วยเงินเดือน 1,000 บาท เปิดใจพร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย จากยุคเรียงพิมพ์สู่โลกออนไลน์ ไม่เคยยึดติด

ทั้งยังเดินหน้าสร้างสรรค์โปรแกรมใหม่ๆ อย่างรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวŽ” ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างอบอุ่น ทั้งจากแฟนเก่าตั้งแต่คราวได้ฉายา สองกุมารสยามŽ จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และแฟนใหม่วัย New Gen

Advertisement

ขับเคลื่อนโครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

ยังเขียนโคลงลึกซึ้งด้วยความหมายตีพิมพ์ทุกฉบับวันอาทิตย์ ให้ขบคิดนัยยะแฝงเร้นในถ้อยคำ

ไม่หวั่นไหวในกระแสความเห็นต่างทางการเมือง เมื่อมั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ

ต่อไปนี้คือความคิด ความเห็นและความเชื่อของนักหนังสือพิมพ์ตัวจริงที่มีต่อสถานการณ์หลากหลายในแวดวงข่าวสาร

ก่อนจะถึง พรุ่งนี้Ž วันที่ 14,976 ของ มติชนŽ

มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 42 เตรียมตัวอย่างไร?

จะไปเตรียมอะไร? ก็ต้องเตรียมความเจริญก้าวหน้า ถูกไหมเล่า (หัวเราะ) ก็ทำกันไป คนแก่ก็เตรียมเจ็บ เตรียมตาย หรือไม่ต้องเตรียมก็ได้ ถ้าชอบประมาท

ปีที่แล้วเคยบอกว่ามติชนเหมือนอยู่ในวัยกลางคน แล้วปีนี้มติชนเหมือนอะไร?

ก็น่าจะโตขึ้นอีก มีความรอบรู้มากขึ้น มีบทเรียนเพิ่มขึ้น วิชาสั่งสมเพิ่มขึ้น การทำงานก็ได้ผลเป็นบวกอยู่แล้ว แต่ขอให้เห็นความสำคัญของคนอื่นๆ ด้วย เราอยู่ได้ด้วยคนอื่น อย่างอื่น สิ่งอื่น อย่าไปคิดว่าเราแน่ ถ้าคิดว่าเราแน่ ก็ล้มเหลวไปก่อนแล้ว ถ้าอยู่กับความจริงและยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องแอ๊กทีฟ การเผชิญความจริงจะทำให้เราไม่เพ้อเจ้อ การเพ้อเจ้อคือฝันชั่วครู่ อยู่ในภวังค์ตลอดแต่ไม่เคยตื่น (หัวเราะ)

รู้สึกอย่างไร เมื่อมีคนบอกว่า มติชนŽ เป็นสถาบันไปแล้ว?

อย่างแรกคือขอบคุณ และอย่าหลงผิดในสิ่งที่เขาชม ใครชมก็ต้องขอบคุณ เพราะเรามารยาทดี (หัวเราะ) ให้มองอะไรด้วยเมตตาและอารมณ์ขัน จะช่วยได้เยอะ เพราะโลกนี้มันเหนื่อย มันทุกข์อยู่แล้ว ตามหลักพุทธศาสนา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ดี ไม่ชั่ว

มติชนทีวีžเพิ่งได้รางวัลใหญ่จาก ‘ยูทูบž’ พิสูจน์ว่าสามารถดำเนินไปได้ดีในยุคที่ ’สื่อเก่า’ž ต้องพัฒนาตัวเอง?

เราก็ต้องปรับตัว ความจริงนี่เป็นการกระทำอันปกติขององค์กรเราที่ทำมาอย่าง
เสมอต้นเสมอปลายและหนักแน่นอยู่แล้ว มติชนพัฒนาตัวเองมาตลอด ซึ่งก็ขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานด้วยว่าทุกคนแอ๊กทีฟ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันนี้ คงต้องล่มสลายไปถ้าไม่มีการปรับปรุง
เปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ล่าสุดยังมีสื่อใหญ่มากกว่า 1 สำนัก เปิดโครงการลาออกโดยสมัครใจ ในฐานะสื่อด้วยกันเวลาได้ยินข่าวแบบนี้กระทบความรู้สึกไหม ?

รู้สึกจนตายด้านไปแล้ว เพราะเราก็เคยเจอ เคยผ่านมาก่อน การเปลี่ยนแปลงคือเรื่องธรรมดา การที่จะอยู่รอดได้ก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง กับสิ่งแวดล้อม ขนาดไดโนเสาร์ยังตาย เพราะยิ่งใหญ่แต่ไม่ปรับตัวให้ถูกให้ควร ถ้าปรับก็อยู่ได้

สื่อยุคนี้นอกจากเนื้อหายังต้องแข่งกันที่ ความเร็วž แล้วสื่อในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เกิด แข่งกันด้วยอะไร?

แข่งกันที่ประเด็นข่าวและความเร็วเหมือนกัน ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความเป็นหนึ่ง ยุคนั้นใครมีของดีจะอุบไว้ก่อน แล้วไปเห็นกันอีกทีบนแผงหนังสือตอนเช้าเลย เพราะออนไลน์ยังไม่มี ขนาดโทรศัพท์เครื่องเดียว คนรอใช้ 50 คน 100 คน สำหรับสื่อยุคนี้ที่เน้นความเร็ว แต่ก็ต้องถูกต้องด้วย ให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

ท่ามกลางสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมาย จำนวนหนึ่งใช้วิธีลอกเนื้อหาจากสำนักอื่น มองสื่อเหล่านี้อย่างไร?

ถือว่าเป็นสื่ออีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นมา โดยอาจจะไม่ได้คิดถึงหลักการ อุดมการณ์ คุณธรรม หรือความสุจริตแห่งวิชาชีพเลย เป็นสื่อใหม่ซึ่งไม่น่ากลัวอะไร สื่อที่ตรงกันข้ามก็ต้องทำให้ดีกว่า ให้มีอารมณ์ขันกับคนพวกนี้ไว้ (หัวเราะ)

ยุคหนังสือพิมพ์กระดาษ มีนักข่าวที่รอลอกหรือขอข่าวคนอื่นไหม?

มี (เสียงสูง) พื้นฐานของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนฟังแล้วจับใจความได้เลย บางคนก็จับได้นิดเดียว บางคนถนัดในการลอก เพราะรู้สึกเพลินกว่า (หัวเราะ) สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ออกพร้อมกัน ไม่มีออนไลน์ก็ลอกตั้งแต่ในภาคสนาม เพื่อนไป 9 โมง อีกคนตื่นสายไป 10 โมงครึ่ง ปรากฏคน 9 โมงเขียนสู้ 10 โมงครึ่งไม่ได้ก็มี

นักข่าวรุ่นใหม่ในอดีต กับนักข่าวรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ต้องมีอะไรเป็นจุดร่วม?

สิ่งที่ต้องเหมือนกันคือ รักและศรัทธาในวิชาชีพอย่างเดียวกัน ถ้าเปลี่ยนไปจากนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่แวดล้อมที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เช่น ค่าครองชีพสูงขึ้น ก็ต้องยอมรับและเผชิญกับมัน พยายามลดปัญหาลงให้เหลือน้อยที่สุด

ปลายปีที่ผ่านมามีผลวิเคราะห์ว่าสื่อแขนงต่างๆ มีแนวโน้มถูกเลิกจ้างเป็นอันดับ 1 มีอะไรอยากบอกนักข่าว หรือคนรุ่นใหม่ที่คิดจะทำอาชีพนี้?

ความจริงในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงในโลกที่เรียกว่าระยะ เปลี่ยนผ่านŽ ไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชน แต่เกิดขึ้นทุกสาขาอาชีพ รวมถึงประเทศต่างๆ ทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย โลกถึงคราวเปลี่ยน ใครไม่เปลี่ยนหรือปรับปรุงก็เจ๊กอั๊กด้วยกันทุกคน สื่อมวลชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง หรือเป็นไป คือถ้าไม่ปรับปรุงก็ต้องมีอันเป็นไป เพราะฉะนั้นขอให้นักข่าวอยู่กับความจริงและหายใจเข้าไว้ ถ้าไม่อยู่กับความจริงจะเพ้อเจ้อ ถ้าไม่หายใจก็หมดลม คือต้องเคลื่อนไหว แอ๊กทีฟ ทำงานไป

เห็นด้วยไหมกับคำพูดที่ว่า เดี๋ยวนี้ใครก็เป็นสื่อได้ž แค่มีสมาร์ทโฟน ความต่างระหว่างสื่ออาชีพกับสมัครเล่นคืออะไร?

ดีใจที่ทุกคนอยากเป็นสื่อ จะได้มาตกระกำลำบากด้วยกันมากๆ (หัวเราะ) ถ้าเป็นสื่ออาชีพ อยู่ในงานจริงจะรู้รายละเอียดปลีกย่อย ทุกอาชีพมันเป็นเรื่องของความรู้เฉพาะงาน ไม่ได้เสมอกัน เท่ากันไปหมด แต่ใครจะมาร่วมเป็นสื่อก็ไม่ได้รังเกียจ

ความได้เปรียบ-เสียเปรียบของสื่อออนไลน์ที่เป็นสื่อใหม่ž กับสื่อเก่าซึ่งมีฐานจากหนังสือพิมพ์กระดาษ แล้วมามุ่งออนไลน์คืออะไร?
ถ้ามีรากเก่ามาก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ควรจะงอกเงยได้เร็ว เป็นทุนเก่า ในขณะที่สื่อออนไลน์ใหม่ก็อาจต้องอาศัยเวลา ที่ไม่ต้องอาศัยเวลาคือ ทองคำ กับเพชร เพราะยังไงก็มีราคาอยู่แล้ว

จากยุคที่สื่อถูกเรียกว่าฐานันดรที่ 4 มองอย่างไรเมื่อวันนี้สื่อถูกวิพากษ์อย่างดุเดือด ?

ถ้ารู้ตัวว่าเป็นสื่อก็ต้องยอมรับว่ามีรายจ่ายอย่างนี้ นี่คือรายจ่ายที่ต้องจ่าย ในขณะที่อาชีพอย่างเราวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น เราก็มีสิทธิที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน
สื่อก็ต้องเสนอข่าวตามกระแส ไม่เสนอสิชอบกล เท่ากับปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สื่อต้องพิจารณาดูว่ามีประเด็นน่าสนใจไหม เมื่อน่าสนใจก็ต้องทำ

จะทำอย่างไรดี นายกรัฐมนตรีก็ฉุนสื่อบ่อยมาก?

จะไปทำอะไรได้ หัวเราะไป ไม่ตื่นเต้น เรื่องพวกนี้เหมือนลม พัดมาเดี๋ยวก็พัดไป ที่เราไม่ชอบใจเพราะลมมันร้อน เดี๋ยวลมเย็นก็มา ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็ดี เดี๋ยวเดียวก็ลืมแล้ว เอ๊ะ! เมื่อวานด่าเราเรื่องอะไรนะ (หัวเราะ) จริงๆ เรียกว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดีกว่า อย่าเรียกว่าด่าเลย สมัยก่อนเราก็เคยโดนด่าเยอะ แต่ด่าเรื่องไม่จริง ก็เลยยิ้มไป ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงก็ไปฟ้องร้องกันเอาเอง ไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็อดทนกันไป แต่ถ้ารู้จักอาชีพของตัวเองก็จะถือว่าเป็นเรื่องปกติ

สมัยก่อนโดนฟ้องบ่อยไหม?

โอ๊ยยยย โดนประจำ แต่คดีแรกที่ขึ้นศาล ไปเป็นพยานจำเลยให้หมอสุด แสงวิเชียร ที่โดนธรรมนูญ ลัดพลี ฟ้องเพราะพูดเรื่องการยักยอกของจากบ้านเชียง หมอสุดเป็นจำเลยที่ 1 เราก็ต้องไปช่วย ตอนนั้นอายุ 20 กว่าๆ สุดท้ายศาลยกฟ้อง

ถ้าตอนนี้ ขรรค์ชัย บุนปานž คือวัยรุ่นคนหนึ่งที่กำลังหาทางเดินของตัวเองในยุคที่สื่อไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนในอดีต จะยังตัดสินใจเป็นนักข่าวอยู่ไหม?

เป็นๆ (พยักหน้า) รู้สึกว่าเครื่องไม้เครื่องมือสมัยนี้มันสนุกกว่าสมัยก่อนเยอะ แต่ก่อนมีแค่ปากกา ไม้บรรทัดยังต้องหาเลย (หัวเราะ) พิมพ์ดีดก็แพง ต้องเขียนด้วยลายมือ ปากกาลูกลื่นก็ยังไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ใช้หมึกซึมกันทั้งนั้น ปากกาด้ามแรกที่ใช้ตอนเป็นนักข่าวยี่ห้อ Pilot ยุคนั้นมีองค์ประกอบแวดล้อมที่ทำให้เราอยู่นิ่งไม่ได้ มนุษย์ต้องหาทางออกในทางที่ดี ยังเป็นช่วงที่เรายังเป็น Undeveloped Country ประเทศยังไม่เจริญ คนยังขาด พลเมืองมีแค่ 18 ล้านคน ตอนนี้ 70 ล้าน ต้องแย่งกันกิน แย่งกันอยู่

บรรยากาศในอดีตของมติชน นอกเหนือจากเวลางานแล้วทำอะไรกันบ้าง?

เล่นกีฬา แต่ก่อนสนุก เตะตะกร้อกันเป็นหมู่ ทุกคนได้ออกกำลัง ถ้าส่งเสริมให้เล่นกีฬา ก็เท่ากับตัดเรื่องยารักษาโรค ตอนนั้นใส่รองเท้านันยาง บางทีก็ไม่ใส่เลย (หัวเราะ) สมัยที่ตึกหลังของมติชนยังไม่ได้สร้าง มันเป็นสนามของโรงเรียนมัธยม น้ำท่วมประจำ ตำรวจยังเคยมาวิสามัญฆาตกรรมบ่อยแถวนี้

ขรรค์ชัย บุนปาน หรือ อาจารย์ช้าง หัวเรือใหญ่มติชน นำเตะบอล

ล่าสุด มติชนกลับมาจัดงาน สมานมิตรบรรเทองž อีกครั้ง หลังเว้นวรรคไป 3 ปี?

เหงา (หัวเราะ) ไม่ใช่หรอก เราคิดว่าอยากจะเป็นสถานที่หนึ่งซึ่งพี่ เพื่อน น้องมาเจอด้วยความสนุก บันเทิงใจ รื่นเริงโดยไม่มีจริตมารยาเข้าหากันเท่านั้นเอง ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นผล เราทำด้วยความสบายใจ เจอกันได้คุยสารทุกข์สุกดิบ ทุกคนน่าจะดีใจที่ได้พบปะกัน

ในช่วงขาลงของสิ่งพิมพ์ที่พูดกันว่าคนอ่าน หนังสือž น้อย ทุกอย่างหาได้จากอินเตอร์เน็ต แต่กลับยังมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นสวนกระแส?

ในความเปลี่ยนแปลง ใครเห็นความอยู่รอด เขาก็ทำ ก็ขอให้ทำอย่างสมจริง จำนวนคนในสำนักพิมพ์อาจน้อยลง แต่มีความสามารถมากขึ้น

ปีนี้รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวž เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 จะพาแฟนๆ ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง?

ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับคณะทำงาน เราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง (ยิ้ม) รู้สึกแฮปปี้ มีความสุข ไปเมืองอะไรก็ได้ อย่างตอนไปพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่แม่ริม เชียงใหม่ ที่ออกอากาศเมื่อเดือนธันวา ก็โชคดี ไปเจออากาศดี ส่วนเดือนมกรานี้จะไปเมืองโบราณศรีมโหสถ ปราจีนบุรี บ้านเก่าสุจิตต์เขา นี่เคยไปนอนบ้านสุจิตต์ตั้งแต่เป็นนักเรียน ม.7 ม.8 พอเข้าเรียนคณะโบราณคดีก็ไปอีก ทีนี้ไปขุดเลย ตอนนั้นอยู่ปี 1 เมื่อ พ.ศ.2509

พอใจกับผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน?

ดี รายการนี้ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง เพราะสุจิตต์เป็นคนนำความรู้ที่มีอยู่แล้วมาไขให้กระจ่างขึ้น นี่คือสิ่งที่หายาก เขาเป็นคนให้แสงสว่างเพิ่มขึ้น ให้คนเห็น คนคิด ใครก็ตามที่เพิ่มความสว่างให้แก่โลกในทางที่ดีก็ดีทั้งนั้น ส่วนบุคลิกส่วนตัวจะยังไงก็เรื่องของมัน (หัวเราะ)

ทุกวันนี้ยังเดินทางอยู่ไหมในช่วงที่ไม่ได้ถ่ายทำรายการทอดน่องฯ?

อ๋อ ชอบอยู่แล้ว ก็หาวัด หาเมืองเก่าไปเที่ยว สนุกดี เพราะเรารัก มันเป็นความสุข ได้ไปดูก็เพลิน ผีเผอไม่กลัว เป็นเพื่อนกัน ถือเป็นซีเนียร์ กับจูเนียร์ ใครไปก่อนก็ซีเนียร์ (หัวเราะ) ถึงหลายแห่งเคยไปมาแล้ว แต่พอไปอีกก็จะได้เจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่เจอตั้งแต่เด็กหรือสมัยเรียนหนังสือเลย อย่างน้อยความทรุดโทรมก็ทำให้เห็นอนิจจังว่าแป๊บเดียวก็ไปแล้ว อย่างพิษณุโลก ไปดูปูนปั้น มหัศจรรย์มาก อยู่มาตั้งหลายร้อยปี วัดพระพุทธชินราชก็โอโห ขลังจะตาย อะไรที่งาม ก็ยอมรับว่างาม อะไรที่ดีก็บอกดี ของดีมีอยู่ ไม่เห็นเป็นปัญหา ไม่ต้องดื้อไปหาเรื่องติให้กลุ้ม ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี โดยทั่วไป ถ้าคนเกิดมาตำหนิ จะเห็นอะไรไม่ดีไปหมด

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ‘วัดโพธิ์โสภาสถาพร’

เครือมติชนมีโครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองž ซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา?

ใช่ๆ เราก็ดีใจที่มติชนได้เป็นดั่งไม้ขีดก้านหนึ่งซึ่งช่วยให้ทุกคนสว่างขึ้น ไม้ขีดเหมือนดาบสองคม ถ้าไม่สร้างความสว่าง ก็เผาคนอื่น โครงการนี้ตอนนี้ก็ยังดำรงอยู่ เพราะรู้สึกว่าโลกจะหนี 3 อย่างนี้ไปไม่พ้น ส่วนอื่นก็เป็นบริบทเสริม แต่เรื่องใหญ่ๆ จะอยู่ที่ 3 สิ่งนี้

ก่อนหน้านี้ ค่ายมติชนจับมือกับมูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ล่าสุด ก็เซ็นเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือเป็นการเน้นย้ำความเป็น นสพ.ของ ปัญญาชนž ที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงแก่สังคม?

ความรู้คือสิ่งที่ต้องแสวงหาอยู่เสมอ อาชีพอย่างเราต้องเกี่ยวข้องกับวิชาความรู้ ไม่งั้นควรไปทำอาชีพอื่น การเซ็นเอ็มโอยู
ครั้งนี้ก็เป็นการงอกเงยและงอกงาม เราก็จะมีความรู้เพิ่มขึ้น สังคมโดยรวมก็ได้ประโยชน์ด้วย

ในยุคที่สื่อกระดาษเฟื่องฟู บรรยากาศของ นสพ.ในช่วงใกล้เลือกตั้งเป็นอย่างไรบ้าง?

โอ๊ยยยย คึกคัก เพราะเป็นสื่อที่เป็นหลัก ถ้าซื้อเสียงไม่หนักหนา นสพ.การเมืองนี่ชี้นำได้เลย แต่ถ้าซื้อเสียงหนัก ก็ชี้นำได้น้อยหน่อย (หัวเราะ)

ชี้นำไปทางไหน?

ก็ต้องทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหาร

กอง​บรรณาธิการ​มติ​ชน สมัย​เริ่ม​แรก​ก่อตั้ง​บริษัท

พรรคการเมืองตอนนี้ ไม่ว่าพรรคเก่าแก่หรือตั้งใหม่ ต่างงัดเอาประเด็นคนรุ่นใหม่มานำเสนอ?

ทุกคนมองเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้เยอะ คนรุ่นใหม่จึงจำเป็น เพราะคนรุ่นเก่าก็เจ็บ ชรา ล้มหายตายจากกันไปเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่ฝากความหวังไว้กับลูกๆ หลานๆ จะไปฝากกับใคร ที่สำคัญคือการตัดสินใจอะไรก็ตาม ทั้งหมดควรเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ถ้าเอาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวนำก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าเอาแต่ใจตัวเอง ใช้แต่อำนาจ ก็เหนื่อย รอดลำบาก

เครือมติชนมุ่งสร้างสรรค์งานอีเวนต์เยอะมาก?

เป็นการหารายได้สุจริต และเราเห็นคุณค่าในงานที่ทำ เพราะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ อย่างเรื่องยางพารา มติชนŽ ร่วมจัดงานวันยางพาราบึงกาฬต่อเนื่องมาหลายปี อีเวนต์ของ ประชาชาติธุรกิจŽ ซึ่งจัดที่เชียงใหม่มาแล้ว 3 ครั้ง ก็เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เพราะเราคิดถึงผู้อ่านโดยตรง ว่าเขาควรจะได้ดีจากสิ่งที่เขามี ผู้รับผิดชอบต้องเอาใจใส่ หน่วยงานต้องเอาใจใส่ ต้องมองกว้าง มองไกล มองลึก ต้องคิดถึงสถาบันการศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องต่างๆ บางอย่างความสามารถของคนไทยเราถึง แต่ยังไม่มีใครทำอย่างจริงจัง

มติชนอคาเดมีž คึกคักมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มองในอนาคตอย่างไร?

คิดว่าน่าจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ทำในสิ่งที่สนองต่อคนส่วนใหญ่ เราเองก็ดีใจถ้ามาเรียนที่มติชนอคาเดมีแล้วไปประกอบอาชีพได้ เท่ากับส่งเสริมคนให้มั่งคั่งอย่างสุจริต มีอาชีพที่ดี ส่วนเรื่องทัวร์ก็เป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบ เราศรัทธาว่าควรจะเกื้อกูลแบ่งปันความรู้กันได้ นักวิชาการที่เชิญมาเป็นวิทยากรก็เด่น ลูกทัวร์ก็ดี ประกอบกันหมด ยอดเด่นมีหลายยอด (หัวเราะ)

เมื่อเช้าอ่านอะไรก่อนออกมาทำงาน ?

อ่านหนังสือพิมพ์สิ! มติชน ข่าวสด ประชาชาติฯนี่ต้องอ่านอยู่แล้ว ไทยรัฐก็อ่านทุกวันในฐานะศิษย์เก่า สยามรัฐก็ต้องอ่านเหมือนเพื่อนเก่า เพราะเป็นบ้านเก่า กลางคืนก่อนนอน อ่านหนังสือเล่ม ต่วยžตูนก็อ่าน และที่อ่านอยู่ตอนนี้คือเรื่องเมืองพะเยา ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังไม่จบ แต่บางเล่มอ่านรวดเดียวจบเลย บางทีอ่านถึงตีสอง การอ่านหนังสือไม่เกี่ยวกับอายุ ถ้าร่างกายไหวก็เพลินได้ความรู้เพิ่ม

คิดว่าสถานการณ์อึมครึมในยุคเปลี่ยนผ่านของสื่อโดยรวมจะจบเมื่อไหร่ ?

ไม่ยุติหรอก สื่อใช้คนน้อยลง ขึ้นอยู่กับงาน ปัจจัยหลายอย่าง คน สถานที่ เวลา สถานการณ์ไม่มีนิ่ง ก็ทำงานไป มีปัญหาอะไรก็แก้ไขกันไป

สุขภาพตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

สุขภาพประเทศหรือส่วนตัว? สุขภาพประเทศก็คล้ายๆ ส่วนตัว คือมีแต่ทรุดลง (หัวเราะ)

แต่ยังหัวเราะได้อยู่ ?

อ้าว! ก็การหัวเราะคือบำเหน็จ คือโบนัสของการเกิดมามีชีวิต

สุดท้าย จากการที่มติชนมีกำไรต่อเนื่อง แผนงานปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร ?

หนึ่ง สงบเสงี่ยมเจียมตัวทำงานไป อย่าไปหวือหวาเพ้อเจ้อ แต่ทำให้หนักแน่น โลกนี้ ไม่ใช่แค่อาชีพเรา อาชีพอื่นก็ต้องพัฒนา เพื่อความมั่นคงอยู่รอด และต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ด้วย ทั้งหมดนี้ รัฐบาลจะเอาไปใช้บ้างก็ได้ (หัวเราะ).

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image