บทนำ : กรณี‘นักฟุตบอลบาห์เรน’

เป็นการตัดสินใจที่น่าชื่นชม กรณีรัฐบาลไทยให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้ามาพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน หญิงสาวอายุเพียง 18 ปี  ชาวซาอุดีอาระเบีย หนีการแต่งงานเพื่อขอลี้ภัยที่ประเทศออสเตรเลีย โดยแวะพักที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนถูกควบคุมตัวเนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทางและวีซ่าเข้าประเทศ เธอได้ขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก จนทางการไทยยอมเปลี่ยนท่าทีที่แข็งกร้าวในระยะแรก และต่อมาเมื่อ 11 ม.ค. ได้ส่ง น.ส.ราฮาฟขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศแคนาดา ซึ่งพิจารณาอย่างรวดเร็ว รับตัวเธอไว้ด้วยเหตุผลเรื่องมนุษยธรรม

ชะตากรรมของสาวซาอุฯ แตกต่างจาก นายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน วัย 25 ปี ที่ลี้ภัยจากบ้านเกิด หลังจากร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านและวิจารณ์รัฐบาล ต่อมาสถานะผู้ลี้ภัยให้พำนักในออสเตรเลีย แต่ทางการไทยโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดินทางมาประเทศไทยพร้อมภรรยา การควบคุมตัวเกิดจากการประสานงานระหว่างบาห์เรนกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย ขณะนี้ถูกควบคุมตัวรอการพิจารณาของศาล ขณะที่ออสเตรเลียแสดงความห่วงใย และขอให้ไทยส่งตัวกลับคืนออสเตรเลีย มีเสียงเรียกร้องว่า หากมีการส่งตัวนายอาไรบีกลับ น่าจะเกิดอันตรายกับนายอาไรบี

เมื่อ 9 ก.ค. 2558 ประเทศไทยเคยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 109 คน กลับไปจีน มีการระบุว่าชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งขัดขืนไม่ยินยอมขึ้นเครื่องบิน จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ดอนเมือง และเกิดการโจมตีสถานกงสุลไทยที่อิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกี ต่อมาสหรัฐและตุรกีออกแถลงการณ์ระบุว่าการส่งชาวอุยกูร์ขัดต่อหลักการไม่ส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ กรณีเหล่านี้เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อชื่อเสียงประเทศชาติ ในวาระที่ประเทศกำลังกลับสู่ภาวะปกติ จะมีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค.นี้ รัฐบาลควรฟื้นฟูชื่อเสียงของประเทศในเรื่องเหล่านี้ โดยพิจารณาปัญหาในแง่มุมสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image