สัมภาษณ์พิเศษ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง กับการแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ โดย : กุลนันท์ ยอดเพ็ชร

rpt

หมายเหตุนายศุภวิทย์ ถาวรบุตร อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

⦁การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคเสนอนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อะไรคือสาเหตุทำให้สังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมายาวนาน

ตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริ่งก็เหลื่อมล้ำแล้ว ตอนนั้นเราเน้นการส่งออกข้าว เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับ 1 ดังนั้น ความมั่งคั่งจะอยู่ในภาคการเกษตรมากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังไม่ก่อตัว ส่วนจุดที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่และต้องเข้าสู่การแข่งขันแบบทุนนิยม มักจะตัดกันที่ พ.ศ.2500 เป็นปีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร และความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก คือการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเจตนาของแผนนั้นชัดเจน ถ้าใช้คำของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็คือ มันต้องถ่ายโอนความมั่งคั่งจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม แม้คำว่าถ่ายโอนนั้นดูดี แต่ในกระบวนการหรือมาตรการจริง คือทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเกิดได้ ดังนั้น แนวโน้มของแผนพัฒนาตั้งแต่ฉบับที่ 1 จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบไม่สมดุล เพราะสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการคือโครงสร้างพื้นฐาน เท่ากับเราต้องเอาทรัพยากรที่เก็บได้จากทั้งประเทศมาสนับสนุนตรงนี้โดยอัตโนมัติ มันจึงกดภาคการเกษตร จนพูดกันว่ารัฐบาลไทยไม่ว่ายุคสมัยไหนจะคุมราคาข้าวยากมาก

ซึ่งมันไม่ใช่แค่ราคาข้าว แต่ยังสัมพันธ์ไปอีกว่าถ้าราคาข้าวในประเทศราคาถูก ค่าแรงก็ไม่ต้องให้เยอะ ขณะเดียวกัน เราต้องการลดการนำเข้าสินค้าบางชนิด เช่น ปุ๋ย เพราะประเทศเกษตรต้องใช้ปุ๋ยเยอะ แต่เมื่อเริ่มสถาปนาอุตสาหกรรมปุ๋ย เราไม่มีทางสู้กับประเทศที่เขาทำมาก่อนได้ จึงต้องตั้งกำแพงภาษีว่าถ้าเป็นปุ๋ยนำเข้า จะเจอภาษีเพื่อให้ราคาปุ๋ยในประเทศสู้ได้ และเมื่อคุณเลือกว่าอุตสาหกรรมปุ๋ยต้องรอด ดังนั้น เอ็งเป็นชาวนา เอ็งมีหน้าที่ใช้ปุ๋ยราคาแพงจากในประเทศ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคการเกษตรสูญเสียความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ เพื่อให้เมืองและเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโต ทำให้กรุงเทพมหานครดีพร้อมและเป็นไฮไลต์ เป็น “ประเทศกรุงเทพฯ” จริงๆ และหากเราไปทบทวนนโยบายการพัฒนาที่ผ่านมา ก็จะเห็นร่องรอยของอคติ (Bias) เชิงนโยบายเช่นนี้เต็มไปหมด

Advertisement

ผมเพิ่งค้นบทความของเศรษฐกรที่แบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เขาเขียนขึ้นในปี 2560 เรื่อง Middle Income Trap (กับดักรายได้ปานกลาง) โดยใช้ indicator (ตัวชี้วัด) คือรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว ซึ่งหากว่ากันตามเกณฑ์นี้ ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศยากจนและเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี 2519 ถึงตอนนี้ก็ 40 ปี มันก็เกิดคำถามว่าถ้าสิ่งนี้เรียกว่า “กับดัก” คุณติดกับดักถึง 40 ปีเลยหรือ มันติดกันยังไงจึงไม่สามารถพ้นจากตรงนั้นได้สักที แปลว่าเราต้องวินิจฉัยลงไปมากกว่านั้นว่ามันอาจไม่ใช่แค่กับดัก เพราะถ้าเป็นกับดัก เราคาดหวังได้ว่ามันคงเป็นภาวะชั่วคราว แต่นี่ติดมา 40 ปี มันไม่ปกติ กล่าวคือมันมีพื้นฐานจากความเหลื่อมล้ำตั้งแต่นโยบายในอดีต เป็นผลสั่งสมเหมือนดินพอกหางหมู

⦁พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพิ่งเสนอว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำระยะยาวต้องแก้ที่การศึกษา

ผมมองว่าการศึกษามันสำคัญน้อยลง ยกตัวอย่าง กรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เป็นประเด็นเมื่อปี 2561 มันไม่ใช่ปัญหาว่าคุณผลักดันคนจนเรียนจบไม่ได้ แต่คือต่อให้คุณเรียนจบด้วยสถานะทางบ้านที่มีข้อจำกัด การเรียนจบแทบไม่ช่วยอะไรกับการตั้งตัว สมมุติ คนสองคนทำงานภาคเอกชนเหมือนกัน เริ่มต้นเงินเดือนที่ 18,000 บาท คนแรกมาจากต่างจังหวัด ไม่มีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเช่าหอ ทุกอย่างต้องจ่ายหมด กับอีกคนที่ได้เงินเท่ากัน แต่มีพ่อแม่ช่วยเรื่องรถและมีที่อยู่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คุณคิดว่าใครจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้

Advertisement

ถ้าเราเห็นว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่การเข้าถึงทรัพยากรซึ่งจำกัดมากสำหรับคนบางกลุ่ม คุณโยนการศึกษาให้เขา มันก็แค่การไต่ขึ้นมาขั้นแรกเท่านั้น แต่อีก 100 ขั้นที่เหลือซึ่งพ้นจากการศึกษาไป มันต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมากเป็นองค์ประกอบ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องให้เรื่องการศึกษา เพียงแต่คิดว่ามี 2 เรื่องเวลาเราพูดถึงการศึกษา คือ เมื่อพ้นจากการศึกษาไปสู่โลกการทำงานในสังคมเศรษฐกิจแบบนี้ การมีการศึกษาไม่ใช่เงื่อนไขเดียว

ยิ่งเมื่อพูดถึงทิศทางในการกำหนดการศึกษาที่โยงกับตลาดแรงงาน ก็มีข้อสงสัยว่า ท้ายสุดแล้วประโยชน์ของการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมันคุ้มหรือไม่ เพราะก็มีบางคนที่รวยได้โดยไม่ต้องตรากตรำเรียนหนังสือ ขณะเดียวกัน การเรียนระดับมหาวิทยาลัย มัธยมหรือประถมในอนาคต มันถูกพูดถึงว่า Over Supply (ผลผลิตเกินความต้องการ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ หรือต่อให้ผลิตคนออกสู่ระบบอยู่เรื่อยๆ แต่คนที่เข้าไปอยู่ในระบบตรงนั้น ลำพังการศึกษาคือสิ่งที่ทำให้เขาสร้างความมั่นคงในชีวิตได้หรือเปล่า น้อยมากนะถ้าจะอาศัยการศึกษาเพียงอย่างเดียวจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การให้การศึกษามันมีความรู้สึกทางบวกเสมอว่าอย่างไรเสียก็ต้องให้ แต่เมื่อเรามองโดยโยงกับบริบทอื่นๆ จะเห็นว่าฟังก์ชั่นของการศึกษาในการถีบส่งคนให้ขึ้นไป มันทำได้น้อยลง เพราะต้นทุนในการเข้าถึงสินทรัพย์ (Assets) ในระบบเศรษฐกิจนั้นสูงมาก และการศึกษาไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการก้าวพ้นไปสู่จุดนั้น

⦁พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เสนอว่าการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ต้องรื้อโครงสร้างที่กดทับประเทศ
ตามกรอบวิเคราะห์ของผม มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหามากกว่า เพราะการไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรมันเป็นโจทย์ใหญ่ ถ้าเรามองเมืองอย่างกรุงเทพฯ ถ้าคุณยิ่งตัวเล็กเท่าไร คุณจะมีส่วนแบ่งในทรัพยากรน้อยมาก หรือเข้าถึงยาก

ผมเคยกลับจากห้างสรรพสินค้ามาบุญครองตอนห้างเลิก วันนั้นไม่ได้เอารถไป ต้องนั่งรถเมล์ พอรถเมล์มามันแน่นไปหมด อัดกันเป็นปลากระป๋อง เวลา 3-5 ทุ่ม คนที่ทำงานในห้างทั้งหมดเพิ่งเลิกงาน และรถเมล์สายนั้นเป็นสายที่สุดทางที่นนทบุรี ถ้าขึ้นจากจุดนั้นจะมีแค่สายเดียว ขณะที่สายซึ่งไปทางพหลโยธินหรือวิภาวดีจะมีจำนวนรถเยอะกว่า แล้วผมก็ขึ้นสายนั้น ต้องยืนจนถึงบ้าน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า คนเหล่านั้นคือคนที่ต้องหากินในเมือง แต่ที่อยู่ของเขา ด้วยรายได้ขนาดนั้น ไม่มีทางมีที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน เพราะฉะนั้น สำหรับคนจนแล้ว การเข้าไม่ถึงทรัพยากรเท่ากับคุณมีต้นทุนที่ต้องแบกรับชีวิตตัวเองมากขึ้น

แต่อย่างหนึ่งซึ่งควรเอาทหารเป็นโมเดล คือเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย ในแง่หนึ่ง กองทัพก็เป็นแลนด์ลอร์ด (เจ้าที่ดิน) มาตั้งแต่ต้น ผมไม่รู้ว่าทหารยศจ่าสิบเอก-จ่าสิบตรี จะได้รับเงินเดือนเท่าไรเมื่อเทียบกับพนักงานออฟฟิศ แต่ไม่มีทางเลยที่ทั้งชาติ คุณจะมีที่พักอยู่ในกรุงเทพฯชั้นใน เขตดุสิต บางซื่อ ราชเทวี พญาไท แต่ด้วยระบบของทหาร ทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถอยู่ในบริเวณนั้นได้ ถ้าเอาเรื่องนี้มาเปรียบเทียบจะเห็นชัดว่าทำไมเป็นทหารถึงดี เพราะมันได้เรื่องพวกนี้ด้วย โดยนโยบายของเอกชนเขาไม่ทำอยู่แล้ว และมันก็ทำไม่ได้ ท้ายที่สุด เราจะเห็นว่าความมั่นคงนั้นเกี่ยวกับการตั้งรกรากที่อยู่ที่สะดวกต่อการไปทำงาน ซึ่งไม่ใช่คนทุกคนในสังคมจะซื้อได้ ต่อให้มีเงินเดือนมีงานทำก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ นอกจากนี้ ยิ่งเวลาผ่านไปจะเห็นว่าผืนดินขนาดใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มทุนที่มีอำนาจซื้อมาก และหากยิ่งปล่อยให้เรื้อรัง โอกาสที่จะทำให้พื้นที่เหล่านั้นถูกใช้เพื่อสาธารณะก็มีแต่น้อยลงน้อยลง ด้วยเหตุนี้ คนจึงมีความหวังกับเรื่องภาษีที่ดิน อย่างไรก็ดี สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มี 2 ประเด็นที่ต้องดูคือ 1.เรตเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และ 2.สามารถหลบเลี่ยงได้หรือไม่ ซึ่งจากผลตอบรับโดยรวม มองว่ามันยังห่างไกล เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การเก็บภาษี แต่ต้องการ relocate (แบ่งสรรใหม่) รูปแบบการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการสู้กับโจทย์ที่ใหญ่มาก

⦁‘ประชารัฐ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คืออะไร

ตามหลักรัฐศาสตร์ พูดกันมานานแล้วว่า ชาติ คือชุมชนจินตกรรม (Imagined communities) ซึ่งแต่ละคนสามารถ imagine ได้ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าฟังจากวิสัยทัศน์ของคุณประยุทธ์ ชาติในจินตนาการของเขา คือสิ่งที่เมื่อทุกคนอยู่ร่วมกันแล้ว ต้องพร้อมจะทำทุกอย่างให้มันดี ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้การดึงเอกชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนต้องสนับสนุนชาติ แต่อีกด้านหนึ่ง จะต้องเชื่อมโยงความคิดนั้นกับโลกความเป็นจริงด้วยว่า การเป็นสังคมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าในประเทศไหน มันมีความขัดแย้ง เช่น ถ้าคุณเป็นแม่ค้าหมูปิ้ง ย่อมอยากให้เนื้อหมูราคาถูก แต่ถ้าคุณเป็นคนขายเนื้อหมู ก็ต้องอยากให้เนื้อหมูราคาแพง เมื่อสายโซ่พวกนี้มาต่อกัน จะเห็นว่าทุกๆ ขั้นที่มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ มันมีความขัดแย้ง แค่เป็นคนขายหมูปิ้งกับคนขายเนื้อหมู ยังต้องการในสิ่งที่ต่างกันเลย

เพราะฉะนั้น โดยอัตโนมัติในอีกด้านหนึ่งของความเป็นชาติ เป็นคนที่อยู่ในระบบสังคมเศรษฐกิจเดียวกัน คือความต้องการของคุณจะขัดแย้งกับคนอื่นอยู่เสมอ ท้ายที่สุดเรื่องนี้จึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเราจะได้หรือไม่ได้อะไร ขึ้นอยู่กับอำนาจ ซึ่งพอบอกว่ามีประชารัฐ แล้วทุกคนจะเสียสละเพื่อชาติ ก็ไม่ปฏิเสธว่ามีคนที่คิดและทำงานบนกลไกนั้นอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมันต้องขยายไปในปริมณฑลที่ยิ่งใหญ่ เท่ากับต้องประยุกต์มันกับบริบทของความขัดแย้งที่มากขึ้นด้วย สมมุติ ระหว่างกลุ่มทุนที่คุณเลือก กับกลุ่มทุนที่คุณไม่เลือก เขาก็จะตั้งคำถามว่าทำไมฝั่งนั้นได้โอกาส แต่ฝั่งนี้ไม่ได้ เพราะในรูปแบบความเป็นรัฐ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะสามารถกระจายประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค ฉะนั้น ประชารัฐก็คือ perception (ความเข้าใจ) ที่คิดว่าชาติเป็นอย่างนี้ แต่ทุก perception มีข้อจำกัด และสำหรับกรณีนี้ข้อจำกัดคือ มันมองความขัดแย้งในสังคมน้อยเกินไป เพราะในข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย เขาก็บอกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเหมือนกัน

⦁เหตุใด ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี’ ตามโมเดล ‘เศรษฐกิจไหลริน’ จึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้

เรื่องนี้ต้องมองในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ว่าตอนที่แทคโนแครตรุ่นแรกเขาคิดอยากให้ไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยขึ้น ก็ต้องหันไปทางการกระตุ้นอุตสาหกรรม เนื่องจากมีแนวคิดพื้นฐานว่า ราคาต่อหน่วยของผลผลิตทางการเกษตรมันต่ำ ส่งผลให้รายได้ต่ำ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบน้อย ถ้าผลิตอุตสาหกรรมจะเวิร์กกว่าในแง่ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า และเมื่อภาคอุตสาหกรรมมีรายได้มาก พูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราเชื่อ ณ เวลานั้น ว่าเมื่อได้รายได้มา เราก็ต้องกระจายต่อ คุณได้เงินเดือนมาก็ต้องกินต้องใช้ เพราะฉะนั้นการให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งสามารถหารายได้ได้เยอะ เพราะมันขายของที่ราคาต่อหน่วยสูงกว่า เมื่อมาใช้จ่าย มันก็ทำให้เงินกระจายไป และจะเกิดการ trickle down (ไหลริน) เหมือนเวลาคุณไปงานเลี้ยง แล้วเอาแก้วแชมเปญมาต่อกันเป็นพีระมิด เมื่อคุณรินมันก็ไหลลงมา ซึ่งมันจะเวิร์กก็ต่อเมื่อแก้วทุกใบมีขนาดเท่ากัน แต่ปัญหาคือกรณีของไทย ข้างบนมันไม่ใช่แก้ว แต่ดันเป็นตุ่ม ดังนั้น กว่าที่แชมเปญจะล้นออกมาสู่ข้างล่าง ข้างบนมันก็กักไว้เต็มที่แล้ว

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา มันอยู่มาด้วยการสมยอมกัน คือรัฐอยากให้อุตสาหกรรมเติบโต จึงยึดนโยบายค่าจ้างต่ำ คนเป็นลูกจ้างอาจได้ผลตอบแทนดีกว่าภาคเกษตร แต่ก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น บางที่ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน แต่สำหรับคนที่อยู่ระดับท็อปของการผลิต เช่น เจ้าของกิจการ ความมั่งคั่งของเขาถูกสั่งสม เพราะฉะนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีและถูกเปรียบเทียบมาตลอด คือการกระตุ้นรากหญ้า เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มการบริโภคสูง คนหาเช้ากินค่ำ ได้มาก็ต้องจ่ายไป ทำให้เงินหมุน แต่ถ้ายิ่งอยู่ระดับท็อป มี 100 ล้านบาท ท้องของเขาก็เท่ากับคนอื่น อย่างมากหน่อยก็กินมื้อละพัน แต่เมื่อเทียบกับรายรับที่เขาได้ มันเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก และคนรายได้สูงนั้น เขาไม่มาซื้อหมูปิ้งหรอก โอกาสที่เงินจะไหลลงมาสู่ข้างล่างจึงน้อยลง ฉะนั้น สมมุติฐานนี้จะเวิร์กก็ต่อเมื่อต้องดูว่า โอกาสที่รายได้มันเข้าสู่ทุนขนาดใหญ่และกระจายลงมา จะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามันมากจริง สังคมไทยคงมาไม่ถึงจุดนี้

กุลนันท์ ยอดเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image