น.2รายงาน : ส่องเหตุ‘ไฟใต้’ถี่ยิบ กระเพื่อมเจรจา‘สันติสุข’

หมายเหตุความเห็นของทหาร นักวิชาการ กลุ่มเครือข่ายชาวพุทธและกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเหตุการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุลอบยิง วางระเบิด ถล่มโรงพัก ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมจนถึงมกราคม 2562 นั้น

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์
โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุถี่ยิบตั้งแต่ปลายปีมาจนถึงปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน

Advertisement

แต่น้ำหนักส่วนใหญ่เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการหัวรุนแรง ประเด็นอื่นๆ ก็ไม่ตัดทิ้ง ทั้งการเมือง ความขัดแย้งส่วนตัวที่เหล่านี้เหมือนมาซ้ำเติมสถานการณ์ให้มันรุนแรง

กลุ่มคนร้ายจะสร้างความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะและต่อบุคคล เช่น ยิงนายก อบต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา (3 ม.ค.62) ผลพิสูจน์อาวุธปืนสงครามของคนร้ายไม่พบอยู่ในสารบบมาก่อนเลย

รวมทั้งคนร้ายก่อเหตุยิง 2 สามีภรรยา ที่ อ.กาบัง จ.ยะลา (13 ม.ค.62) สามีเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ยังสรุปไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากอะไร ส่วนเหตุคาร์บอมบ์หน้าหน่วยเฉพาะกิจ ตชด.สงขลา อ.เทพา จ.สงขลา (8 ม.ค.62) ค่อนข้างชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อเหตุ

Advertisement

ส่วนการยิง อส.4 ศพ ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี (10 ม.ค.62) เจ้าหน้าที่พิสูจน์แล้วเป็นฝีมือผู้ก่อเหตุร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุ ส่วนการปะทะกับกลุ่มก่อเหตุปิดล้อมบ้านใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี (13 ม.ค.62)

มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งบิดเบือนหาว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปละเมิดต่อเด็ก อ้างว่าเมื่อมีการปะทะกันแล้ว ได้มีผู้ปกครองตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีเด็กอยู่ในพื้นที่ยิงกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำเด็กออกมา เป็นข้อมูลที่จงใจโกหกชัดๆ

โดยข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ตะโกนตลอดเวลาว่าใครอยู่ในบ้านให้ออกมา ระหว่างที่โจรยิงปืนออกมาเรื่อยๆ มีสองสามีภรรยามาตะโกนบอกว่าเด็กถูกยิง เจ้าหน้าที่เลยวิ่งฝ่ากระสุนไปเอาตัวเด็กออกมาเลย

ส่วนการพูดคุยเจรจาสันติสุขนั้น ทางไทยเปิดโอกาสพูดคุยกันอยู่แล้ว พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขสื่อสารมาตลอด ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการพูดคุย รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งส่วนผู้เห็นต่างและพี่น้องประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อสารมวลชนในพื้นที่ถึงวิธีการปฏิบัติ

แต่เพราะหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีหน้าที่ในการทำให้พื้นที่อยู่ในความปลอดภัยอยู่แล้ว การพูดคุยนั้นเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มยุติความรุนแรงและพูดคุย

การใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างสถานการณ์เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ เราจะต้องมาวิเคราะห์ว่าเบื้องหลังทำเพื่อมุ่งสู่หวังผลประโยชน์อันใด เป้าหมายแรกคือทำลายความน่าเชื่อถือระบบอำนาจรัฐ แล้วกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ จะเป็นกลุ่มขบวนการ กลุ่มยาเสพติด หรือกลุ่มการเมือง ทำให้เวลามีเหตุใหญ่จึงยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง ทางแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา บังคับใช้กฎหมาย ติดตามคนร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อยากจะฝากว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนหลายมิติ กลุ่มคนร้ายใช้วิธีการสร้างสถานการณ์รุนแรงควบคู่กันกับโฆษณาชวนเชื่อ เรียกร้องไปยังองค์กรระหว่างประเทศว่ารัฐไปทำการละเมิด ขอให้ท่านใช้วิจารณญาณในการบริโภคข้อมูลข่าวสารเรื่องของข้อเท็จจริงในเหตุการณ์

โดยเฉพาะงานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะต้องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาล่าสุดเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุ

รักชาติ สุวรรณ
ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ อยู่ในช่วงการปรับทีมเจรจาสันติสุขทั้งส่วนการเจรจาของฝ่ายไทยและมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ทั้งไทยและมาเลเซียต้องการให้กลุ่มความคิดเห็นต่างเข้ามาคุยบนโต๊ะเจรจา ไม่เฉพาะแค่กลุ่มมาราปาตานีหรือ Party B เท่านั้น พยายามกันมาตั้งแต่สมัยของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายไทย (Party A) ชุดปัจจุบันก็พยายามต่อเนื่อง

ทางปาร์ตี้บีที่เรียกมาพูดคุยจะยอมขึ้นสู่การเจรจาหรือไม่นั้น แต่คิดว่าน่าจะยาก ล่าสุดมีคลิปที่ออกมาบอกว่าจะไม่ยอมพูดคุย ไม่ยอมร่วมมือใดๆ กับฝั่งไทย ส่วนตัวคิดว่าคงมีข้อต่อรองในประเด็น 5 ข้อของเขา (บีอาร์เอ็น) ที่เสนอมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลไทยไม่สนใจ มีอยู่ข้อหนึ่ง เหมือนกับปฏิเสธมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ข้อนั้นบอกว่าผู้อำนวยความสะดวกต้องเป็นที่ยอมรับก็น่าจะเกี่ยวข้องตรงนี้ด้วย พอไม่ยอมขึ้นสู่โต๊ะเจรจา เหมือนกับต้องการแสดงศักยภาพ ช่วงหลังจึงมีเหตุการณ์ติดต่อกัน

การก่อเหตุล่าสุด เหมือนการแสดงศักยภาพของการเอาคืน นึกออกไหมครับ กรณีเราไปปิดล้อมและทางฝ่ายขบวนการเสียชีวิต พอรุ่งขึ้นก็ตอบโต้ฝ่ายรัฐที่ติดอาวุธด้วยกันทันที ดังนั้น ฝ่ายกำลังอื่นๆ ของปาร์ตี้บี ไม่น่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มมาราปาตานี ทางฝ่ายไทยคงต้องชัดเจนการพูดคุยกับกลุ่มไหนบ้าง ข้อที่น่ากังวลมีการส่งสัญญาณกันมาก ฝ่ายนั้นคิดว่าทางไทยไม่มีความจริงใจในการพูดคุย บางเรื่องที่คุยแล้วตกลงกันได้ก็กลับทำไม่ได้ บางเรื่องน่าจะแถลงออกมาร่วมกัน บางครั้งไทยก็ชิงพูดนำออกมาก่อน

ส่วนกรณีกลุ่มก่อการเคยเบี้ยวคุยกับ พล.อ.อุดมชัย ถึงสองครั้ง ชัดเจนเลยว่าเขาไม่สนใจพูดคุย ข้อเสนอเมื่อปีที่แล้วยังไม่ได้รับการตอบรับด้วย ไม่แน่ใจว่าทางไทยจะทบทวนหรือเปล่า รัฐคงต้องทำความเข้าใจแสดงความจริงใจให้กับกลุ่มคนในพื้นที่ก่อน เพื่อจะนำไปสู่ความไว้วางใจต่อรัฐ

รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ผมมองว่ามีการส่งสัญญาณให้เกิดความตื่นตัวมากกว่า เหมือนเร่งให้รัฐดำเนินการในเรื่องการเจรจาที่จริงจังมากขึ้น อันนี้ความเห็นส่วนตัว อาจมีประเด็นเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย หมายถึงการรอที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เกิดขึ้น เพราะยังมีเหตุยิงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เสียชีวิตพร้อมภรรยาที่ จ.ยะลาด้วย

ส่วนการเดินทางเยือนของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว ข้อเสนอของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกอยากให้เพิ่มกลุ่มเจรจาด้วย เป็นแนวคิดที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ทางฝั่งไทยก็น่าจะนำมาพิจารณาให้เป็นรูปธรรมที่จริงจัง

คอลีเยาะ หะหลี
แกนนำสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นน่าจะมีเรื่องการเจรจาสันติสุขอยู่ด้วย ทางมาเลเซียผู้อำนวยความสะดวกเหมือนไปบีบบังคับให้ทางกลุ่มเห็นต่างอื่นๆ เข้ามาร่วมมือในการพูดคุยนอกจากมาราปาตานี

ขณะที่มีกลุ่มที่เคยเสนอให้ฝ่ายไทยรับพิจารณา และไม่มีการตอบสนองใดๆ เหมือนไม่วางใจกัน ทำให้มีเหตุสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น

ในส่วนภาคประชาสังคม การก่อเหตุที่ผ่านมาไม่ควรทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ในพื้นที่ก่อเหตุมีผู้หญิง คนแก่ และเด็กอยู่ด้วย ไม่ควรเกิดขึ้น

รวมทั้งคนร้ายยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส) เมื่อ 28 ธ.ค.ปีที่แล้ว ใช้เป็นฐานยิงโจมตีใส่ฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลกาลิซา มันไม่ใช่วิธีของพวกนักเลง พูดกันตรงๆ ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่มีใครทำกัน ทุกคนมองไม่ถูกต้อง

นอกจากการเจรจาสันติสุข ตอนนี้การที่แม่ทัพภาคที่ 4 มุ่งแก้ปัญหายาเสพติดที่ระบาดหนักในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นั่นคือความหวังของชาวบ้านเลย นับตั้งแต่มีโครงการปราบปรามยาเสพติด ทำให้ยาเสพติดในพื้นที่ลดไปมากมาย เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกดินแดนที่ล้าหลังไปแล้ว ควรหันหน้ามาคุยกันแก้ความขัดแย้งให้จบสิ้น

ที่ผ่านมา พวกเราอยู่อย่างอิสระ ไม่ได้ถูกบังคับอะไรเลย อยู่ร่วมกันได้แบบพหุวัฒนธรรม สามจังหวัดชายแดนใต้จะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องอยู่แบบพี่น้องเหมือนในอดีต

ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ทั้งเรื่องปากท้อง ยาเสพติด ควรจะมาร่วมกันแก้ปัญหา เกิดเหตุขึ้นมา ชาวบ้านสูญเสียทุกวี่ทุกวัน เด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น หญิงม่ายก็มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็นหรือมาราปาตานี ควรทบทวนได้แล้ว ให้รางวัลกับพี่น้องได้หรือไม่

น่าจะมีการเปิดเวทีให้พวกเราได้สะท้อนความรู้สึกไปยังพวกที่ก่อการหลบในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ที่ผ่านมาพวกเราสูญเสียอะไรไปบ้าง เขาอาจเข้าใจพวกเรามากขึ้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ม.อ.ปัตตานี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังภัยใต้

เท่าที่ดูจากสถานการณ์แวดล้อม และเสียงสะท้อนที่ออกมาว่ามาเลเซียเองก็กดดันด้วย โดยมีความพยายามกดดันทางฝ่ายกลุ่มขบวนการโดยเฉพาะทางบีอาร์เอ็น ทำให้เกิดความไม่พอใจเนื่องจากกดดันให้เขาเข้าร่วม โดยที่กลุ่มยังไม่พร้อม และยังมีความคิดในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วย นี่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการทหารหลายจุดในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี

ช่วงแรกแนวการป้องกันอาจจะไม่ได้เตรียมไว้ตามเงื่อนไขใหม่ในแง่ที่เกิดขึ้น หากยังมีบรรยากาศกดดันอยู่ก็มีความเป็นได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีก แต่ถ้าเจ้าหน้าที่มีการป้องกัน ระมัดระวังมากขึ้นก็น่าจะลดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการก่อเหตุแบบนี้ขึ้น เพราะขบวนการเช่นนี้จะมีการเตรียมการไว้ก่อน ถ้าปฏิบัติการเสร็จไปแล้วหนึ่งชุดก็จะทิ้งช่วง

แต่หากยังมีเงื่อนไขเดิมในแง่ของการกดดันในการคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ทางฝ่ายมาเลเซียก็อาจแสดงออกเช่นนี้

แนวคิดทางฝ่ายของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าพูดคุยสันติสุขฯ ก็บอกว่าไม่ได้เร่งอะไร สามารถคุยได้ทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นการเปิดเงื่อนไขให้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้นับว่าเป็นการง้อแต่อย่างใด เพียงแต่เปิดทางให้ว่าหากพร้อมที่จะคุยก็สามารถคุยได้ ไม่ได้ปิดกั้นและไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องคุยพร้อมกับกลุ่มมาราปาตานี ตามเงื่อนไขเดิม สามารถคุยแยกกันได้หากมีความพร้อม ซึ่งนับว่าเป็นจุดดีที่มีการเปิดเงื่อนไขไว้ให้

ส่วนความเป็นไปได้ก็ต้องดูความเป็นจริงว่ามีการเข้าถึง หรือติดต่อกันมากน้อยแค่ไหน

เงื่อนไขการเจรจาของบีอาร์เอ็นเป็นเงื่อนไขที่แข็งมาก คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตามหลักแล้วองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางจะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า สามารถจัดการได้ดีกว่าในการพูดคุย

แต่รัฐบาลไทยเห็นว่าหากเป็นต่างประเทศจะมีเงื่อนไขเยอะจึงยืนยันหลักการว่าไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เงื่อนไขนี้จึงปิดและรัฐบาลจะดำเนินการเอง เพราะเป็นหลักการที่รัฐบาลไทยต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

แต่ให้เป็นเรื่องภายในประเทศไทยที่มีการพูดคุยกับคนภายในและจัดการภายในประเทศเท่านั้น โดยหลักการกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยงานความมั่นคงของไทยยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนหลักการ แน่นมาก ไม่มีการยอมรับเงื่อนไขของต่างประเทศ

ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ เข้าร่วมคุยหากมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคี หรือแบบลับ โดยที่ไม่ควรไปเร่ง นี่จะเป็นตัวเปิดเงื่อนไขที่ดี และที่สำคัญคือต้องเปิดรับว่าคุยได้ในทุกประเด็น เพราะการคุยไม่ได้หมายถึงการยอม แต่จะเป็นการลดเงื่อนไขได้อย่างมาก

หากไม่ยอมรับฟังประเด็นในการคุย กลุ่มต่างๆ ก็คงไม่เข้ามา แต่ถ้าบอกว่าคุยได้และรับเงื่อนไขในการคุยได้ทุกประเด็นที่เรียกร้องก็จะช่วยในการเจรจาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image