คอลัมน์แดดเดียว เลือกตั้ง 24 มี.ค.‘เดินหน้า’หรือ‘ถอยหลัง’

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครของเราที่จมอยู่ในฝุ่นจิ๋ว โดยไม่รู้ว่าจะพ้นจากชะตากรรมมัวๆ นี้ไปได้อย่างไร

นั่นคือ “วันเลือกตั้ง” แต่สุดท้าย มีข่าวจาก กกต.แล้วว่า คงจะเป็นวันที่ 24 มี.ค. (มั้ง)

ใส่คำว่า “มั้ง” ไว้เพื่อเบรกๆ ไว้นิด ลดความแน่นอน เผื่อเหลือเผื่อขาด เจอ “โรคเลื่อน” กำเริบซ้ำอีก

การเลือกตั้งเที่ยวนี้ ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นในอาการที่ต้องอธิบายด้วยคำคุณศัพท์ประเภท-ฝืด-หนืด-หืด-ประดักประเดิด-อีหลักอีเหลื่อ-กระอักกระอ่วน-พิพักพิพ่วน ฯลฯ

Advertisement

เรียกว่าเป็นแอดเจคทีฟในหมวดที่ฟังแล้ว ชวนให้เกิดสภาพอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ ยังไงพิกลนั่นแหละ

เพราะดูเป็นการเลือกตั้งแบบไม่เต็มใจ เบื่อๆ อยากๆ เลือกก็ได้ ล้มก็ดี ยัดใส่ลิ้นชัก งัดมาดูใหม่ แล้วใส่กลับเข้าไปอีก เรียกว่าชักเข้าชักออก อะไรประมาณนั้น

ทำเอาฝ่ายที่เห็นว่า บ้านเมืองเข้าตรอกมืดซอยตันมานานแล้ว ควรจะออกถนนใหญ่ไปเห็นเดือนเห็นตะวัน วิ่งแข่งกับรถหรูกับเขาดูบ้าง เกิดความเซ็งไปตามๆ กัน

ก็อย่างที่เห็นว่า มีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว ชูป้ายค้าน “เลื่อนเลือกตั้ง” ในหลายจังหวัด

บรรดาภาคีสมาชิกสายนกหวีดหลายคนเปลี่ยนท่าที ขอให้จัดการเลือกตั้งเสียทีเถิด

ก็ขนาดศิลปินสายอารมณ์ดีอย่าง “ศุ บุญเลี้ยง” ยังต้องออกมาทำเพลง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ทวงถามการเลือกตั้ง กับเขาด้วย

แต่ก็ใช่ว่าจะเรียกร้องกันได้สบายๆ ใครออกมาเคลื่อนไหวในหัวข้อเรื่องเลือกตั้ง จะได้รับเกียรติจากเจ้าหน้าที่รัฐไปเยี่ยมถึงบ้าน

ต้องหมายเหตุไว้นิดว่า ที่คนของรัฐไปเยี่ยมถึงบ้าน ก็ใช้งบประมาณ ใช้ทรัพยากรของราชการ ที่ประชาชนเสียภาษีให้ไปนั่นแหละ ไม่ได้ใช้งบจากองค์กรโลกแบนที่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีกองหนุนไม่ให้เลือกตั้ง คอยออกมาเหน็บแนมว่า เป็นพวก “คลั่งเลือกตั้ง” เข้าไปอีก

นี่ก็แปลกดี การคลั่งเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นได้ยังไง ในสภาพของบ้านเมืองประเทศไทย ที่ 5 ปีมานี้ ไม่มีการเลือกตั้งใดๆ เลย

ไม่ว่าจะเลือก ส.ส., อบจ. ไปจนถึง อบต. และเทศบาลระดับต่างๆ

พอมีกลุ่มคนที่เห็นว่าการไม่เลือกตั้ง กำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งเสียงเตือนบอกว่าเลือกตั้งทีเถอะ รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว กฎหมายลูกก็เสร็จแล้ว พรรคต่างๆ ไปเซตซีโร่สมาชิกมาแล้ว พรรคใหม่ก็จดทะเบียนตั้งแล้ว

ดันมีนักเลงดีมาตีตราโป้งว่า เป็นพวก “คลั่งเลือกตั้ง”

ก็เข้าใจได้ว่า คงเป็นวิธีคิดของพวก “คลั่งไม่เลือกตั้ง” นั่นเอง คือชีวิตนี้ ขออยู่สบายๆ ภายใต้ระบบที่ตัวเองนึกว่าดี โดยไม่คิดให้ทะลุถ่องแท้ว่า ระบบที่คิดว่าดีนั้น คนอื่นเขาสุขสบายและคิดว่าดีด้วยหรือไม่

แต่ก็นั่นแหละ มาถึงเวลานี้ ชั่งน้ำหนักดูแล้ว ทิศทางของบ้านเมือง คงเดินไปสู่การเลือกตั้งแบบเหนียมๆ นั่นเอง จะเลี้ยวกลับไปร้องเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..” คงไม่ไหวแล้ว

ที่เหนียมๆ คือพวกที่ไม่ค่อยอยากเลือกตั้ง แต่หนีไม่ออก จำเป็นต้องเข้าระบบ เพราะสภาพบ้านเมืองบังคับ

ส่วนพวกนิยมเลือกตั้ง ตอนนี้คึกคัก แม้กฎกติกาจะเล่นยาก แต่ไม่ย่อท้อ ได้ยินเสียงปี่กลองดังก็พากันรำป้อออกมา

ระยะนี้ ทุกพื้นที่ จะมีผู้สมัครออกเดินเหิน ไปตามงาน เพื่อแนะนำตัว เช็กเรตติ้งตัวเองและพรรคที่สังกัด

เช็กเสร็จ นักข่าวไปสัมภาษณ์ก็โม้ทันทีว่า แน่นอน พรรคผมไม่ต่ำกว่า 250 กี่พรรคๆ ก็พูดๆ เหมือนๆ กัน

สภาผู้แทนฯเรามี ส.ส.เขต 350 คน กับปาร์ตี้ลิสต์อีก 150 รวมเป็น 500

แต่ที่ฟุ้งๆ กันตอนนี้ 10 พรรค พรรคละ 250 ก็ปาเข้าไป 2,500 คนแล้ว

ถ้าสภาผู้แทนฯมีเยอะขนาดนี้ อาจต้องเช่าสนามศุภฯ ไว้เป็นที่ประชุม

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกพรรคต้องบอกว่า พรรคตัวเองเจ๋ง ประชาชนสนับสนุน

คงไม่มีพรรคไหนออกมาบอกว่า แย่ครับ พรรคผม ประชาชนรังเกียจ ไม่มีผลงาน แถมยังสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง ไปตรงไหนก็ถูกตะเพิดออกมา เลือกตั้งอาจกลับมือเปล่า ฯลฯ

ในภาพรวม ก็คือ บรรดาผู้สมัครและพรรคต่างๆ พร้อมจะลงสนามกันแล้ว

แต่ฝ่ายที่มีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องเลือกตั้ง จะเห็นว่าดูไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่นัก

ออกข่าวมาแต่ละหน ชาวบ้านอยากจะไปเข้าชื่อถอดถอนให้รู้แล้วรู้รอด แล้วไปหาคนที่เต็มใจทำงาน มีศรัทธากับงานที่ตัวเองทำ เอามาจัดการ น่าจะคุ้มค่างบประมาณที่ใช้ไปแล้ว และจะต้องใช้อีกมากในอนาคตมากกว่า

ก็ต้องหวังกันต่อไปว่า พวกพี่ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องจัดเลือกตั้ง จะสลัดข้อขัดข้องต่างๆ ทิ้งไป และตั้งใจคิดใหม่ว่านี่เป็นกิจการของประเทศชาติและประชาชน

เมื่อประชาชนพร้อม ผู้สมัครพร้อม พรรคพร้อม พวกพี่ๆ ต้องพร้อมมากกว่า

เดินถอยหลังมันสนุกกว่าเดินหน้าตรงไหน เฮ้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image