การเมือง ฝุ่นจาง วันเลือกตั้ง เริ่มชัด จับตา 2 ขั้ว พลิกกลยุทธ์

มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับสำหรับวันเลือกตั้ง

เมื่อกระแสเสียงจากหลายฝ่ายขานรับวันที่ 24 มีนาคม เหมาะสมที่สุด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คนที่เคยเสนอว่าวันที่ 24 มีนาคม เหมาะสมที่จะเป็นวันเลือกตั้งตอกย้ำว่า การประกาศวันเลือกตั้งวันใดนั้นมีความหมายมาก เพราะถือเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสภาภายใน 15 วันหลังจากนั้น

ที่เกรงกันก็คือเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วนับ 15 วันจะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธี จึงได้พูดคุยกันว่าให้ยึดวันที่ 9 พฤษภาคมเป็นหลัก

Advertisement

และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม ก็จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน ซึ่งถ้า กกต.คิดว่าทำได้ทันและดูแล้วก็ไม่ติดพระราชพิธีใดๆ

ดังนั้น จะให้อยู่ในกรอบวันที่ 9 พฤษภาคม ก็อยู่ที่ กกต.บริหารจัดการ

หมายความว่า หากมีการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม กกต.มีเวลาอีก 45 วันที่จะประกาศรับรองผล ส.ส.ให้ได้ 95 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ไม่ใช่ 2 เดือน หรือ 60 วันตามที่กฎหมายเปิดทางให้

สําหรับเรื่องวันเลือกตั้ง นายวิษณุบอกว่าแล้วแต่ กกต.กำหนด แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่า วันที่ 3 และ 10 มีนาคม อาจจะกระชั้นไป เมื่อเทียบกับวันที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้จริงว่าจะประกาศเมื่อไหร่

ถ้าเป็นวันที่ 17 มีนาคม อาจจะมีปัญหากับเด็กที่สอบ TCAS จำนวนเป็นแสนคน และเป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนั้น

ดังนั้น จึงเหลือวันที่ 24 มีนาคม น่าจะเหมาะที่สุด

และพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ก็น่าจะประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้าอย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบอกไว้

นั่นคือความคืบหน้าเกี่ยวกับวันเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ชัดเจนถึงขนาดมีกระแสข่าวว่า จะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 23 มกราคม

จะประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันเลือกตั้ง

และจะเปิดรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์

ทุกอย่างฟังดูลงตัว เหลือรอวันเวลาที่คาดหมายว่าจะดำเนินไปตามนั้นหรือไม่

ขณะที่วันเลือกตั้งกำลังรอความชัดเจน บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็เปิดเกมรุกกันอย่างเต็มตัว
ล่าสุดพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 500 คนที่สนามช้างที่ จ.บุรีรัมย์

ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองทั้งขั้วสนับสนุน คสช. และขั้วที่ไม่สนับสนุนต่างก็มีความเคลื่อนไหว

แต่ละพรรคต้องงัดกลยุทธ์ออกมาใช้

โฟกัสที่พรรคเพื่อไทยแชมป์เก่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งฯ นำทีมเปิดเวทีทั้งอีสานและเหนือ

ทิ้งทุ่น “เลือก พท.กระเป๋าตุง เลือกลุงกระเป๋าแฟบ”

ช่วงหลังได้จับมือกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ออกปราศรัยและเยี่ยมประชาชนร่วมกัน ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเอกภาพขึ้น

ยิ่งเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศจัดรายการ “กู๊ดมันเดย์” เพื่อโชว์ไอเดียต่างๆ ยิ่งตอกย้ำความเข้มแข็งของฝ่ายไม่เอา คสช.

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีกิจกรรมปล่อยขบวนเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กทม. และหลังจากนั้นแต่ละคนแต่ละทีมก็ลงพื้นที่กันคึกคัก

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า ก็ใช้โซเชียล บุกเข้าพบปะกับประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเต็มที่

แต่ละพรรค แต่ละคน ต่างเดินเครื่องเต็มตัว

ระยะเวลาที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่าพรรคพลังประชารัฐขยับไม่ค่อยออก

นับตั้งแต่การเปิดตัวใหญ่ด้วยการจัดระดมทุนขายโต๊ะจีน ได้เงินเข้าพรรค 650 ล้านบาท แล้วถูกโจมตีอย่างหนัก

ดูเหมือนว่าพรรคพลังประชารัฐจะขับเคลื่อนไปด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลไกสำคัญของพรรคคือ 4 รัฐมนตรีนั้น ยังมีสถานะ 2 อย่างคือเป็นทั้งรัฐมนตรี และเป็นทั้งแกนนำพรรค

ดังนั้น การที่จะขยับไปสวมหัวโขนการเมืองเพื่อหาเสียงกันเต็มตัวเหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ จึงลำบาก

ลำบากเพราะพรรคการเมืองอื่นๆ ต่างจับจ้อง และพร้อมจะเปิดโปง

หลายงานของพรรคพลังประชารัฐจึงสะดุด แม้แต่กำหนดเปิดนโยบายของพรรคก็ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพราะเหตุพายุปาบึกถล่มพื้นที่ภาคใต้

แต่จวบจนพายุปาบึกผ่านพ้น และภาคใต้กำลังเข้าสู่การฟื้นฟูแล้ว พรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่แจ้งวันที่แน่นอนในการเปิดนโยบาย

ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐจึงเงียบ เพราะถูกกลบด้วยการใช้อำนาจรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นเพราะใคร แต่ภาพที่ปรากฏเมื่อพรรคเพื่อไทยโดนยกเลิกการใช้สนามกีฬาจังหวัดพะเยา เพื่อปราศรัย

ฝ่ายที่เสียหายกลับกลายเป็นรัฐบาล

ดังนั้น กติกาที่คราครั้งแรกมองว่าเอื้อต่อขั้ว คสช. และการมีอำนาจอยู่ในมือที่เดิมคาดว่าจะเอื้อต่อขั้ว คสช.

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงแล้ว สิ่งที่คิดว่าเป็น “จุดแข็ง” อาจจะกลายเป็น “จุดอ่อน”

ยามนี้ พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงขั้วสนับสนุน คสช.ต้องพลิกเกม

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ตอกย้ำว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้น แม้ผลการเลือกตั้งจะมีความสำคัญ และกระบวนการต่อสู้ในการเลือกตั้งก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่า

กระบวนการเลือกตั้งมีความหมายรวมไปถึงกฎกติกา คณะผู้ควบคุมกฎกติกา ผู้เข้าแข่งขัน รวมไปถึงประชาชนในฐานะผู้เลือก

ถ้าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง โดยได้มาด้วยกระบวนการอันมิชอบ ผลกระทบย่อมตามติด

ถ้าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง โดยผู้ควบคุมกฎกติกาไม่เป็นกลาง ผลกระทบย่อมเกิดขึ้น

การเลือกตั้งที่ไร้ผลกระทบ ต้องได้ผู้ชนะด้วยกระบวนการที่เป็นธรรม

เพราะกระบวนการที่เป็นธรรม จะส่งผลให้ผู้ชนะมีความชอบธรรม

และความชอบธรรมนี้เองที่จะช่วยให้การเมืองกลับคืนสู่ปกติ

ทำให้สังคมคืนกลับสู่กติกาตามวิถีทางประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image