ป.ป.ช. แจงยิบ เหตุไม่ฟันปมนาฬิกาหรู เชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ยืมมาจากเพื่อนที่ตายไปแล้วจริงๆ

ป.ป.ช.แจงละเอียดยิบ เหตุไม่ฟัน บิ๊กป้อม เชื่อ “นาฬิกาหรู” ยืมเพื่อนที่ตายไปแล้วจริง ไม่เจตนาปกปิด อ้าง ขอข้อมูลต่างประเทศไม่ให้

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลงรายละเอียดการตีตกคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช.จึงขอแจ้งว่า ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พล.อ.ประวิตร คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่ พล.อ.ประวิตรสวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนของ พล.อ.ประวิตร

นายวรวิทย์กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า ในแถบทวีปยุโรปต้องมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัด และมีประเด็นสำคัญคือ ต้องมีความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality โดยต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศผู้รับคำร้องด้วย ซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ซึ่งในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต ทำให้ประเทศดังกล่าวปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ

นายวรวิทย์กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้ดำเนินการตามระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2555 ข้อ 23 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถดำเนินการขอให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยในประเทศดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลให้ได้ โดยตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เนื่องจากทรัพย์สินในกรณีนี้คือนาฬิกาซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมาย มีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยาก ประกอบกับข้อมูลความเป็นเจ้าของดังกล่าวถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผย นอกจากนี้บางประเทศได้มีการอ้างถึงหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality โดยแจ้งว่าการยื่นบัญชีเท็จไม่เป็นความผิดอาญาในประเทศของตน จึงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูล ไม่ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

Advertisement

นายวรวิทย์กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีการนำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์กสวาเกนของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น 2 กรณีมีพฤติการณ์และข้อเท็จจริงแตกต่างกัน สำหรับกรณีนายสุพจน์ ซึ่งอ้างมายืมรถเพื่อนมานั้น แต่เพื่อนบอกว่ามอบเป็นเงินสดให้ภริยาไปซื้อรถเป็นของขวัญและเพื่อให้สมกับฐานะของนายสุพจน์ ดังนั้นรถจึงเป็นของนายสุพจน์ ส่วน พล.อ.ประวิตรชี้แจงว่านาฬิกาดังกล่าวไม่ใช่ของตน แต่เป็นของนายปัฐวาท ที่ตนยืมมาใส่และได้คืนไปหมดแล้ว โดยคณะทำงานได้ไปตรวจสอบนาฬิกาดังกล่าวที่บ้านของนายปัฐวาท พบนาฬิกาหรูจำนวนมาก (มากกว่าจำนวนที่ขอให้ตรวจสอบ) และพบนาฬิกาที่ตรงกับภาพถ่ายจำนวน 20 เรือน พบใบรับประกันแต่ไม่พบตัวเรือน 1 เรือน ไม่พบตัวเรือนตามภาพถ่ายและใบรับประกัน 1 เรือน

“นายปัฐวาทเป็นผู้มีฐานะดี คอยช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มเพื่อนที่เคยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และให้เพื่อนฝูงยืมนาฬิกาไปใช้สวมใส่ ซึ่งรวมถึง พล.อ.ประวิตรด้วย พยานบุคคลให้ถ้อยคำว่านายปัฐวาทเป็นผู้ชอบสะสมนาฬิกาและเป็นเพื่อนสนิทกับ พล.อ.ประวิตร จึงมักให้ พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาไปสวมใส่เป็นประจำ จึงรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตรได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาทมาสวมใส่ในแต่ละโอกาสและได้คืนนาฬิกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้มีเจตนายึดถือนาฬิกาดังกล่าวไว้เพื่อตน และไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่า พล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าของนาฬิกาทั้ง 22 เรือนดังกล่าว” นายวรวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image