เจาะฐานเสียงแฟนบอล รักสโมสร ต้องเลือกเจ้าของทีม?

ฟุตบอลกับการเมือง

ฟุตบอลกับการเมือง เจาะฐานเสียงแฟนบอล รักสโมสร ต้องเลือกเจ้าของทีม?

ฟุตบอลกับการเมือง – จะปฏิเสธว่าเกมการแข่งขันฟุตบอลไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง วันนี้ก็คงไม่มีใครเชื่อแล้ว

เพราะในเมื่อสโมสรฟุตบอลอาชีพที่เตะๆ กันอยู่ ถ้ามิใช่ของเล่นคนรวย เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่เหลือเป็นส่วนใหญ่ก็ล้วนมีรายชื่อ “นักการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องเป็น “เจ้าของ” แทบจะทั้งนั้น

นับเฉพาะ 18 สโมสรที่กำลังจะร่วมฟาดแข้งไทยลีกฤดูกาล 2019 ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็เห็นได้ชัดๆ

เพราะมีจำนวนเกินกว่าครึ่งที่คนใน “ตระกูลการเมือง” ครองสิทธิ ถือความเป็นเจ้าของทีมอยู่

Advertisement

แน่นอน เปิดฤดูกาลใหม่ไทยลีกปีนี้ถือว่าจังหวะดี

ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเห็นว่าเหมาะสมนัดเปิดฤดูกาลใหม่ไทยลีกก็จะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับโหมดแห่งการหาเสียงเลือกตั้งพอดิบพอดี

เป็นโหมดแห่งการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรก หลังมีเหตุต้อง “เว้นวรรค” ไม่มีมานานเกือบ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554

Advertisement

และยังเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่เหล่าบรรดา “ตัวจริง” บางคนจะได้ฤกษ์ถอด “เสื้อบอล” หวนกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เพราะหลุดจาก “โทษแบน” ถูกจองจำอยู่แต่ในบ้านเลขที่ 111 จากคดียุบพรรคไทยรักไทย ไปจนถึงบ้านเลขที่ 109 ในคดียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย และพลังประชาชนด้วย

เห็นได้ชัดๆ จากนักการเมืองฟากที่ประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ Design มาเพื่อพวกเรา” แห่งพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะ สมศักดิ์ เทพสุทิน หัวเรือใหญ่ “ค้างคาวไฟ” สุโขทัย เอฟซี ที่วันนี้สลับให้ “เจ๊เป้า” อนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาขึ้นเป็นประธานสโมสรแทนแล้ว หรือ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย บอสใหญ่ “นกใหญ่พิฆาต” ชัยนาท ฮอร์นบิล

รวมไปถึงพรรคขนาดกลาง อย่าง เทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ได้โบกมือลาประธาน “สวาทแคท” นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ลุยการเมืองเต็มที่ หรือแม้แต่ “เสี่ยท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา บิ๊กบอส “ช้างศึกยุทธหัตถี” สุพรรณบุรี เอฟซี ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น

ต่างก็ล้วนเป็นการกลับมาลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 10 ปีจากการต้องโทษทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีเช่นเดียวกัน

นี่ยังไม่นับรวมทีมในลีกล่าง หรือในระดับภูมิภาคอีกมากมาย

แน่นอน ในฐานะที่ “สโมสรฟุตบอล” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นพื้นที่ที่นักการเมืองใช้สื่อสารกับสาธารณะแทนเวทีทางการเมือง นี่จึงทำให้เหล่านักการเมืองที่ถูกแบน จึงมีภาพ “เจ้าของสโมสรผู้ใจดี” เป็นลุงเป็นแม่ เป็นพี่ กลับเข้าสนามการเลือกตั้งหนนี้ด้วย

ล่าสุด “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ยกทัพภูมิใจไทยไปเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กันถึงจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเลือกเอาบริเวณ “สปอร์ตซิตี้” ที่มีสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์ไทยลีกฤดูกาลที่แล้ว ที่ “ลุงเน” เนวิน กับ “ป้าต่าย” กรุณา ชิดชอบ ร่วมกันสร้างสรรค์ใช้ฟุตบอลเป็น “หมุดหมาย” ก่อนจะขยายไปสู่สนามแข่งรถระดับโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองคือผู้ที่ทำให้ฟุตบอลมันฟีเวอร์ แต่จะสามารถแปรเปลี่ยนฐานแฟนบอลให้เป็นคะแนนเสียง สำหรับการเลือกตั้งแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้หรือไม่ ยังถือเป็นคำถาม?

“ชาลินี สนพลาย” นักวิชาการสาวจาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่สนใจบอลไทย ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทของสโมสรชลบุรี เอฟซี ในการรักษาและสร้างฐานเสียงทางการเมืองของกลุ่มเรารักชลบุรี” บอกว่า ต้องกลับไปดูที่จุดเริ่มต้น

อ.ชาลินี ชวนมองย้อนกลับไปไกลกว่าก่อนรัฐประหารปี 2549

เนื่องจากขณะนั้นมี “ฉลามชล” ชลบุรีเอฟซี ที่มี “คุณปลื้ม” ตระกูลการเมืองดัง เป็นเจ้าของเข้ามาคลุกคลีกับฟุตบอลอยู่แล้ว

“สิ่งที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้ามาคลุกคลีกับฟุตบอลได้ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ จนท้องถิ่นมีภารกิจที่จะต้องสนับสนุนเรื่องกีฬา สนามกีฬาจากที่เคยเป็นของส่วนกลางก็มีการถ่ายโอนไปยังระดับจังหวัดและเทศบาล

“การกระจายอำนาจคือ หน่ออ่อน ทำให้ อบจ.มาสร้างทีมฟุตบอลสมัครเล่นเตะแข่งขันระหว่างกัน ทำให้นักการเมืองที่มีความสามารถจับต้องสโมสรได้ จนวันหนึ่งวงการฟุตบอลไทยได้ยกระดับไปสู่ความเป็นมืออาชีพ มีการรวมลีกระหว่างทีมในต่างจังหวัดกับทีมใน กทม. แต่เดิมทีมไทยลีกคือทีมองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีเงิน ไม่มีคนดู แต่ทีมในโปรลีก ซึ่งเป็นทีมระดับจังหวัด มีศักยภาพในการหาคนดู แต่ไม่มีเงิน การรวม 2 ลีกนี้เข้าด้วยกันจึงทำให้สนามคึกคักเลย” อ.ชาลินีระบุ

สำหรับตัวนักการเมือง เมื่อเข้ามาทำทีมฟุตบอลก็มี “โมเดล” หรือวิธีการที่ต่างกันไปในรายละเอียด อย่าง “ตระกูลคุณปลื้ม” จะทำหน้าที่เป็นคนระดมทรัพยากรเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนสโมสรชลบุรี เอฟซี แต่จะให้ นายอรรณพ สิงห์โตทอง คนจากตระกูลการเมืองที่ในอดีต “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม เคยสนับสนุนทางการเมือง เป็นคนบริหารจัดการ

แต่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีวิธีที่แตกต่างออกไป อ.ชาลินี ชี้ว่า นายเนวิน หรือ “ลุงเน” ของแฟนๆ ทำทุกอย่าง เป็นเฮดของเฮดโค้ช มีส่วนจัดตัวผู้เล่น ระดมสรรพกำลังทุกอย่าง แม้กระทั่งตั้งกลุ่มแฟนบอลในระยะแรก ใช้เครือข่ายหัวคะแนนเสียงทางการเมืองช่วย

“แต่เมื่อวันเวลาผ่าน พอฟุตบอลรันไปได้ระยะหนึ่ง หัวคะแนน นักการเมือง วิ่งเข้าหาคุณเนวินมากขึ้น คล้ายๆ ว่าต้นทุนทางการเมืองของแกเปลี่ยน มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะฟุตบอลทำให้เข้าไปติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน หรือผู้เลือกตั้งได้โดยตรงได้ ขณะที่ในมุมของแฟนบอลกลับมีผลลัพธ์ที่มากกว่าสิ่งที่เจ้าของทีมคิดไว้ด้วยซ้ำ เพราะสโมสรฟุตบอล ทำให้สิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ท้องถิ่นปรากฏขึ้น และจับต้องได้ทันที ความเป็นบุรีรัมย์ ชลบุรี หรือแม้แต่สุพรรณบุรี กลายเป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ร่วมย่อยๆ กว่าความเป็นไทยที่รัฐชาติสมัยใหม่ครอบไว้”

ถามว่า เมื่อเจ้าของสโมสรกับแฟนบอลก็มีความสัมพันธ์แบบ “วิน-วิน” แล้วจะนำไปสู่การโหวตในเลือกตั้งหรือไม่

อ.ชาลินี บอกว่า ไม่มีใครคอนเฟิร์มได้ แต่สโมสรฟุตบอลเป็นต้นทุนทางความรู้สึก ที่ไม่ใช้ในแง่เศรษฐกิจหรือการอุปถัมภ์แบบเดิมๆ ที่นักการเมืองมีแน่นอน

อย่างใน จ.สุพรรณบุรี ที่ “โยชิโนริ นิซิซากิ” นักวิชาการชาวญี่ปุ่น อธิบายไว้ว่า สิ่งที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา รังสรรค์ขึ้น อาจไม่ได้ทำให้คนสุพรรณฯรวยขึ้น แต่ถนนดี โครงสร้างพื้นฐานดี มันเกิดความภูมิใจในความเป็นคนสุพรรณขึ้นมา

แต่วันหนึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีการกระจายอำนาจ ถนนในจังหวัดอื่นๆที่ดีๆก็มีเช่นกัน

“วันนี้ถนนที่สุพรรณฯไม่น่าอิจฉาเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว คุณท็อป วราวุธ อาจจะเห็นก็ได้ว่า สิ่งที่คุณพ่อทำไว้ไม่ใช่ว่าจะอยู่ตลอดไป จึงมาทำทีมฟุตบอลเพื่อหาต้นทุนทางการเมืองชนิดใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกับที่ถนนเคยทำได้” อ.ชาลินี ระบุ

แม้ว่าระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะถือเป็นความพยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพื่อเปิดโอกาสให้นำการเมืองแบบเก่า แบบที่เน้นจัดตัวโดยนำคนใน “ตระกูลการเมือง” ที่เกี่ยวกับทีมฟุตบอลมาเป็นตัวผู้สมัครหลัก

บนฐานความเชื่อที่ว่า คนเลือกที่ตัวผู้สมัครมากกว่านโยบาย

แต่ในทรรศนะส่วนตัวของ อ.ชาลินี เชื่อว่า พรรคการเมืองที่พยายามจัดตัวผู้สมัครโดยเน้นไปที่ตัวผู้สมัครนั้น คิดถูกไม่ทั้งหมด

เพราะ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเมืองเชิงนโยบายหรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” ได้เปลี่ยนวิธีคิดคนไปมาก คนเข้าถึงบริการของรัฐตามที่ตนเองปรารถนาได้มากกว่าเดิม อีกทั้งคนยังขยับฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น เขารู้แล้วว่าเขาไม่ต้องการแค่ปลา แต่เขาต้องการเบ็ดไว้ทำมาหากิน

อีกทั้งการเมืองเชิงนโยบายยังได้ไปลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของคนในตระกูลการเมืองลง “เจ้าพ่อ” บางคนเริ่มมีประสิทธิภาพในการอุปถัมภ์ลดลง บางคนเลือกตั้งที่ผ่านมาก็แพ้ เพราะประชาชนรู้วิธีแล้วว่า เขาสามารถเข้าถึงสิทธิได้จากนโยบายรัฐ ไม่ใช่ด้วยการร้องขอความเมตตาอีกแล้ว

แม้แต่การเข้าชมบอลไทยที่เป็นกิจกรรมเอ็นเตอร์เทนที่ถือว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ทั้งเงินและเวลา ยังนั่งรถจากอำเภอเข้ามาสู่จังหวัดเพื่อไปต่อคิวก่อนบอลเตะหลายชั่วโมงเพื่อซื้อหาบัตรกันเองได้ ดังนั้น การพยายามจัดวางการเมืองแบบย้อนอดีตที่อยู่ในบรรยากาศแห่งการ “ร้องขอ” แบบเดิมก่อนปี 2540 นั้น

สำหรับ อ.ชาลินี เป็นเรื่องท้าทายที่เธอก็อยากรู้เหมือนกันว่า ผู้มีอำนาจปัจจุบันจะคิดถูกต้องหรือไม่ ?

ชาลินี สนพลาย อ.คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image