บทเรียนต้องจดจำ

ขณะที่ประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง มีปรากฏการณ์น่าจับตาได้แก่ การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งได้นัดหมายล่วงหน้า 1 สัปดาห์จะชุมนุมในวันที่ 19 ม.ค. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมามีกลุ่มบุคคล เปิดเพจเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ให้ชุมนุมแสดงพลังที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาเดียวกันกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้า และอาจนำไปสู่การยั่วยุ กระทบกระทั่ง กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งได้ และต่อมากลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ย้ายที่ชุมนุมไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การที่ประชาชนมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน และต้องการแสดงออกให้สังคมได้รับทราบความเห็นของตน เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต่างฝ่ายก็ต้องเคารพในความเห็นของกันและกัน ไม่ทำให้ความเห็นที่แตกต่างกลายเป็นชนวนของความไม่สงบเรียบร้อย ที่อาจลุกลามไปเป็นเงื่อนไขให้เกิดการฉวยโอกาสจากกลุ่มที่จ้องจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความขัดแย้ง ทางออกง่ายๆ ก็คือ ต่างฝ่ายต่างหาพื้นที่จัดกิจกรรมของตนเอง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกว่า จะติดตามหรือเข้าร่วมกิจกรรมของฝ่ายไหน หรืออาจจะจัดเวทีถกเถียงกันด้วยเหตุผล ก็จะยิ่งทำให้สังคมได้ประโยชน์

ในอดีต เคยมีการจัดตั้งประชาชนให้เผชิญหน้ากันเอง อาทิ กรณีขวาพิฆาตซ้าย การจัดตั้งนักศึกษามาปะทะกับนักศึกษา เมื่อสมัยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 มีการปลุกปั่นจัดตั้งอย่างเป็นระบบ จนเกิดเหตุการณ์สังหารโหดในวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 และเกิดรัฐประหารในวันเดียวกัน ความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นบาดแผลของสังคมไทยมาจนบัดนี้ แม้จะมีบทเรียนชัดเจน แต่วิธีการแบ่งแยกประชาชนให้พิฆาตต่อสู้กันเอง ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า การปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้ายิ่งทำได้ง่าย ในเรื่องนี้ ประชาชนจะต้องไม่ลืมบทเรียนเดิมๆ ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และใช้การเลือกตั้ง สร้างข้อสรุปให้กับข้อขัดแย้งต่างๆ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่เสียเลือดเนื้อเพื่อนร่วมชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image