เสวนา ‘มองเมืองไทย’ ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการจากเสวนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ที่อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท เมื่อวันที่ 19 มกราคม

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เราเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากว่า 30 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยอยู่อันดับเกือบโหล่ของอาเซียน ชนะบรูไนเพียงประเทศเดียว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.8% ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ขอยกตัวอย่างภูมิรัฐศาสตร์กับประเทศที่มีผู้นำ ย้อนไปเมื่อปี 1993 เกิดข้อตกลงรอบอุรุกวัย ผมยังไม่ทราบเลยว่าผลของข้อตกลงนี้สามารถทำอะไรได้ จากนั้นเรามี AFTA ซึ่งก่อนปี 1992-1993 ผู้นำของมาเลเซียมีข้อเสนอว่าต้องมี AFTA เมื่อมีแล้วนโยบายที่จะช่วยสังคมก็ดีขึ้นคือ 1.ย้ายฐานการผลิต 2.ถ้าทำด้านการเกษตร    โซนนิ่งใหม่ ห้ามปลูกยางพารา แต่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะถ้าปลูกยาง โดยเฉพาะยางไทย ซึ่ง 1992 ยังเข้ามาเลเซียไม่ได้ แต่อาฟต้าเขามอง 10 ปี เขาทำโซนนิ่งใหม่ รับซื้อยางจากเรา

เมื่อมีข้อตกลงรอบอุรุกวัยจะมีการเปิดเสรีด้านการเงินและด้านที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก ประเทศอื่นพอพูดว่ารอบอุรุกวัย เปิดเสรี เขาทำกฎหมายแบ่งโซน ทุกๆ 200 เมตร จะมีค้าปลีกหนึ่งร้าน รวมถึงการเปิดเสรีด้านการเงินทำให้โครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 26 บาท เกิดขึ้นในปี 1997 อย่างไรก็ตาม นักการเมืองต้องตอบถึงการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องที่ผมจะตั้งคำถาม คือ 1.เราอยู่ในลักษณะประชาคมอาเซียน 2025 เรารู้แต่ 2015 แต่ 2025 คือทั่วโลก นอกจากนี้2025 ยังมีสิ่งหนึ่งคือเออีซี นักการเมืองต้องรู้ว่าเราจะไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ใช่อุปสรรคเรื่องกำแพงภาษี หนึ่งในนั้นคือการปรับมาตรฐานสินค้าในระดับเดียวกัน 2.เรามี RCEP ซึ่งจะกลายมาเป็นหัวหอกของอาเซียนในการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ซึ่งมี 16 ประเทศ สองสิ่งนี้รวมกับ TPP โดย 3 ตัวนี้ นักการเมืองต้องตอบคำถามสำหรับช่วยประชาชนว่า เรามีการเตรียมพร้อมให้          เอสเอ็มอีอย่างไร ปรับมาตรฐานสินค้าหรือไม่ และมีมาตรฐานสินค้าเท่ากับอาเซียนหรือไม่ เพื่อจะปรับตัวได้ทัน แต่ปรับตัวทันแล้วก็ไม่รอด อย่าลืมว่าญี่ปุ่นอยู่ทั้งอาเซป และ TPP สินค้าที่เรามีมาตรฐานของเออีซีเข้าญี่ปุ่นได้โดยไม่มีกำแพงภาษี แต่น่าจะตาย เพราะญี่ปุ่นอยู่ TPP ซึ่งมาตรฐานสูงกว่านี้

เราจะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ถ้ามายด์เซตของนักการเมืองยังมองเท่านี้ เพราะยังมีการปรับโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่ายังไม่พอ ประเทศไทยก่อนที่โลกจะเปลี่ยน อัตราการเติบโต 9-10% เมื่อมีการเปลี่ยนในยุคดิจิทัลเมื่อกว่า 30 ปี เฉลี่ยแล้วแย่ที่สุด ชนะเพียงบรูไนประเทศเดียว

Advertisement

วรชาติ ดุลยเสถียร
ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV
เราทำอะไรไม่ได้หลังเลือกตั้ง เนื่องจากมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งแตะเรื่องเกษตรน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประเทศไทยมีไม้ผลที่เป็นรายได้ปีละกว่า 3 หมื่นล้านคือทุเรียน กลางปีที่แล้วในเดือนเมษายน ขายทุเรียนให้แจ๊ก หม่า ได้ 80,000 ลูก ใน 1 นาที ทุกคนว้าว แต่สำหรับผมนั่นเพียง 8 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น  เราส่งทุเรียนต่อวันแบบพีกๆ ราว 180-200 ตู้ต่อวัน แต่การที่เขาเข้ามากลับสร้างพื้นที่ได้หมด ถามว่า 80,000 ลูกนั้นเกิดขึ้นจริงไหม รวบรวมอย่างไร กระบวนการสุกใกล้เคียงกันไหม

ปี 2561 เราส่งทุเรียนไปจีน 50 ล้านลูก ทั้งนี้ ทุเรียนไทยเรารู้ว่าหมอนทอง ข้างบ้านรู้ กัมพูชาก็ปลูกหมอนทอง ในเมียนมามียางพารา ก่อนจะล้มยางเพื่อปลูกหมอนทอง เวียดนามเองก็ขยายพื้นที่ปลูกหมอนทอง ผมไม่ได้กังวลเรื่องแข่งกับไทย แต่กังวลว่าหมอนทองรอบบ้านคุณภาพไม่ดีพอ แต่ตลาดปลายทางคือจีนที่เดียวกัน ปัญหาคือคนจีนไม่รู้ว่าหมอนทองลูกนั้นมาจากไหน ตรงนี้เป็นตัวทำปัญหาให้ประเทศอย่างใหญ่หลวง ถ้าไม่มีการป้องกัน คงฝากไว้ว่าหลังเลือกตั้งน่าจะมีนโยบายที่เป็นกลยุทธ์เหล่านี้จริงๆ

เรื่องรถไฟความเร็วระดับกลางที่จีนจะแล้วเสร็จปี 2564 ความหมายคือการล่าอาณานิคม เราหวังได้เล็กน้อย ลาวได้ประโยชน์เรื่องนี้ ตอบไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่ไทยควรได้ประโยชน์เรื่องนี้ด้วย ถนนทุกเส้นวิ่งสู่พวกเราเสมอ หากเราไปเสียบปลั๊กไม่ได้ เสร็จแน่นอน คงต้องฝากนโยบายเรื่องนี้ว่าการเป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ยังมี R-9 ที่เข้าลาว ความยาวกว่า 180 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้ออกอ่าวตังเกี๋ยเรียบร้อยแล้ว ไม่ลงแหลมฉบัง เหล่านี้เป็นภาพที่เปลี่ยน ไทม์ไลน์เปลี่ยน เราต้องปรับตัว

Advertisement

จรัส สุวรรณเวลา
ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
ต้องย้อนกลับไปว่า เมื่อได้มีกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา แล้วใช้คำว่าอิสระ นั่นคือการคิดโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เริ่มจากทำหน้าที่เพื่อศึกษา ทำข้อเสนอแนะเพื่อยกร่างกฎหมาย ในการศึกษาเราพบความจริง รู้สึกอย่างที่ทุกคนรู้สึก โดยสรุปคือเรามีปัญหาเรื่องการศึกษาหนักจริงๆ แบ่งได้ 4 ด้าน คือ 1.การศึกษามีคุณภาพต่ำ ปีนไม่ทัน ยังค้างอยู่ที่เดิม ยังใช้การท่องจำ เด็กไทยแม้อยู่ในสภาพนี้คุณภาพก็ยังต่ำ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เราเทียบไม่ได้เลย 2.ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษารุนแรงมาก คนที่มีการศึกษาในระดับที่พอแข่งได้ มีเพียง 1-2% ของจำนวนประชากรเท่านั้น 3.เราไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เลย ลำดับความสามารถในการแข่งขันปีนี้อยู่ที่ 32 เห็นชัดว่าระยะหลังนี้ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน แซงเราไปแล้ว และ 4.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบต่ำ เราใช้เงินไม่น้อย 3.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 1.5 แสนล้านบาท เป็นการศึกษาอุดมศึกษา หรือประมาณ 20% ของงบประมาณแผ่นดิน

ทุกข์นั้นเรามีแน่ แต่ปัญหาคือเราไม่ตระหนักถึงปัญหาว่ารุนแรงขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2542 เราเคยปฏิรูปครั้งหนึ่ง เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์พอสมควร ผ่านมากว่า 19 ปี เมื่อมองกลับไปพบว่าปฏิรูปครั้งนั้นไม่สำเร็จ อีก 10 ปีข้างหน้า หากมองกลับมาจุดนี้ มองการปฏิรูปครั้งนี้ไม่สำเร็จ ประเทศไทยไม่ดีขึ้น ประเทศอื่นจะแซงหน้า ดังนั้น การปฏิรูปไม่สำเร็จไม่ได้

ทุกข์เห็นแล้ว สมุทัยพอเห็น นิโรธก็เห็นชัดว่าไม่สำเร็จไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่มรรค ตอนนี้เราทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ ทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาใหม่ ส่งทางรัฐบาลไปกว่า 5 เดือนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายรองคือ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา แม้จะมีระบบอย่างนี้แล้วแต่ก็มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 4 ล้านคน กองทุนนี้จึงใช้แก้ปัญหาระบบที่มองไม่เห็นหรือมองเลยไป

ชัดเจนว่าปัญหาของไทยคือมีโรงเรียนกว่า 3.3 หมื่นโรงเรียน แต่ปัญหาหลักอยู่ที่โรงเรียนประถมกว่า 1.3 หมื่นโรงเรียน สิ่งที่เราพยายามแก้กันอยู่แก้ได้เพียงหลักพัน ดังนั้น ยังมีคนที่ถูกละเลยอีกเป็นหมื่นๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องแก้ไข ถามว่าจะแก้อย่างไร ก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ต้องให้สภาคืนไปที่นักเรียนและครู การจัดการโรงเรียนไม่ใช่การบริหารจากด้านบน ส่วนหลักสูตรการเรียนรู้ เปลี่ยนการท่องจำเป็นการสร้างสมรรถนะ เรื่องการทำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ ตอนนี้มีเยอะมากแต่ไม่ถึงเด็ก ต้องปรับตรงนี้ให้ถึงเด็กให้ได้

สารี อ๋องสมหวัง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
อย่าคิดว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่เราต้องมีการเลือกตั้ง และต้องเลือกให้เร็วที่สุด เพราะมีคนชอบบอกว่าจะช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่แก้อะไรเลย อาจเรียกว่าหมดยุคของพระเอกขี่ม้าขาวแล้ว โดยสิ่งที่ต้องทำหลังเลือกตั้ง แม้อาจไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังคือ ดีใจที่คนอยากเห็นความเท่าเทียมเรื่องระบบสุขภาพ สะท้อนว่าคนเห็นความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตตัวเอง เราต้องทำให้ความเท่าเทียมในระบบสุขภาพเท่ากันให้ได้ รวมถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ขณะนี้ราคาแพงมาก กระทบกับประชาชน สิ่งที่เราเรียกร้องคือต้องไม่แพงจนตรวจสอบไม่ได้ และต้องมีเพดาน

นอกจากนี้ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าระบบสวัสดิการทำให้คนลดความเหลื่อมล้ำ ตัวเราเองและลูกจ้างทั่วไปเป็นประกันสังคม แก่ตัวไปมีเงินแค่ 3,000 บาท นึกถึงว่าจะอยู่อย่างไร คนจนกว่า 14 ล้านคน กับ 600-800 บาทต่อเดือน อยู่ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่สังคมต้องคิดว่าอยู่ยังไง อย่าลืมว่าทุกคนเสียภาษีเหมือนกัน นั่นคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการจัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดินของประเทศนี้ เรามีงบ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่น้อย แต่ให้ 300 ล้านกับองค์กรผู้บริโภคไม่ได้ วิปริตหรือไม่

ในบทเฉพาะกาลเขียนว่าจะให้เงินกับองค์กรผู้บริโภค แต่ออกแบบให้เป็นภาคเอกชนเหมือนสภาอุตสาหกรรม แต่ไม่ยอมให้มีสภาเดียว ล่าสุด สนช.เพิ่งผ่านกฎหมายให้มีสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ยอมให้มีสภาเดียว นี่คือสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ดังนั้น ควรมีสภาเดียวเพื่อให้มีพลัง ถ้า สนช.ยังเอาหลายสภามาพิจารณา พวกเราล้มกฎหมายนี้แน่นอน

เจษฎ์ โทณะวณิก
นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
สมมุติที่เรานั่งฟังมาตั้งแต่นิด้าโพล ลองดูว่าสิ่งที่เป็นร้อยละสูงที่สุดในแต่ละเรื่อง เช่น เรื่องปากท้อง ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่มาตอบหรอก เขาไปไกลกว่านั้นเรายังมาตอบเรื่องความเป็นประชาธิปไตยอยู่ ประเทศเสรีเขาไม่มาตอบกันแล้ว เหล่านี้สะท้อนว่าประเทศชาติบ้านเมืองเราไม่ได้เรื่องถึงขนาดว่าการทำโพลซึ่งกำลังจะเอาไปให้นักการเมือง หรือทำเพื่อบอกว่าภายหลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ เชื่อว่าคำตอบกว่าพันตัวอย่างที่โทรไปหารับโทรศัพท์ด้วยสมาร์ทโฟนแปลว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเจริญก้าวหน้าในบ้านเมือง แต่ยังตอบคำถามพื้นๆ อยู่ แสดงความเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าแม้จะเขียนตัวบทกฎหมายได้ดีแค่ไหน วงจรที่ยังวนเวียนอยู่หลังการเลือกตั้ง และจริงๆ วนเวียนมาตั้งแต่ 2475 ในยุคภาวะของการเลือกตั้งเป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของนักการเมือง เรามีนักการเมืองมีอยู่ตลอด แต่มีในหลายรูปแบบ

ภาวการณ์ของไทยโดยรวมที่เกิดปัญหาตลอดมาคือ เราไม่เคยลืมเรื่องการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ทั้งกับเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนข้ามชาติ ยกตัวอย่าง เวียดนาม ญี่ปุ่น สองประเทศนี้มีภูมิหลังเจ็บช้ำกับอเมริกามาก แต่เมื่อถึงเวลาต้องลืม เวียดนามลงนามเรื่องข้อตกลงการค้ากับอเมริกา ทำมาหากินกันได้เหมือนไม่เคยเกิดการสู้รบ แต่ไทยไม่เคยพัฒนาจากจุดนั้น เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ไม่เคยมีประเทศไหนย่ำยีประเทศไทย แต่เราทำร้ายกันเองตลอด ที่บอกว่าเสียของนั้น ไม่รู้ว่า 19 ก.ย.2549 เสียของจริงหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้วางหมากเพื่ออำนาจ แต่วางเพื่อขจัดอำนาจบางประการ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่น่าเสียดายคือ 22 พ.ค.2557 ท่านบอกว่าจะปฏิรูปบ้านเมือง จนถึงวันนี้ และอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะเลือกตั้ง ท่านปฏิรูปการศึกษาหรือเศรษฐกิจอะไรบ้าง

ดังนั้น ภายหลังเลือกตั้งที่ถามว่ารัฐธรรมนูญจะให้อะไร ผมบอกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก สิ่งเหล่านี้คือมายาทั้งหมด โดยเฉพาะถ้าลองมองพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่บอกว่าอยากได้คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าอายุน้อย แต่อายุ 70-80 ปีก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าคิดใหม่ สร้างนวัตกรรมทางการเมืองได้ก็เป็นคนรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นคิดว่าชีวิตหลังการหย่อนบัตรจะเป็นอย่างไร เราฝากความหวังไว้กับนักการเมืองไม่ได้ แต่ฝากความหวังกับตัวเองได้ เพราะสุดท้ายหย่อนบัตรแล้วไม่จบ ประชาชนต้องช่วยกันขับเคลื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image