‘รสนา’ สอนมวย ป.ป.ช. บิ๊กป้อมต้องหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่หน้าที่ ป.ป.ช.หาให้

เมื่อวันที่ 19 มกราคม น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และอดีต สปช. โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีการชี้แจงของ ป.ป.ช. เรื่องเบื้องหลังการตีตกคดีนาฬิกาหรู โดยระบุว่า “การสอบคดีนาฬิกาของ ป.ป.ช.ฟ้องความไร้ฝีมือในฐานะมือปราบคอร์รัปชั่น” หรือไม่?!

การที่กฎหมายกำหนดให้นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นกระบวนการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะทรัพย์สินและหนี้สินที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติเป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งในเรื่องการทุจริตรับสินบนของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หากไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินและหนี้สินนั้น

แนวทางการสอบสวนของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับนาฬิกาที่ พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ อ้างว่าขอยืมเพื่อนนั้น เป็นการตั้งโจทย์ในการหาข้อมูลที่น่าจะไม่ถูกต้อง แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพในฐานะกรรมการขององค์กรปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่?

แนวทางที่ควรเป็นในการตรวจสอบของ ป.ป.ช.คือ

Advertisement

1) ต้องให้ พล.อ.ประวิตรมีหน้าที่ต้องนำหลักฐานมาแสดงจนสิ้นสงสัยว่านาฬิกาทั้ง 22 เรือน ไม่ใช่ของตน และใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง หาก พล.อ.ประวิตรไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ว่าใครเป็นเจ้าของ ย่อมแสดงว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรเอง

ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องไปหาหลักฐานมาพิสูจน์แทน พล.อ.ประวิตร ว่าใครคือเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริง

2)ในเมื่อการหาหลักฐานของ ป.ป.ช. พบว่านาฬิกาทั้งหมดไม่ได้ขายผ่านตัวแทนในประเทศไทย และกรมศุลกากรก็ไม่พบว่ามีการเสียภาษีนำเข้า ย่อมแสดงว่าเป็นนาฬิกาที่ลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมาย ซึ่งต้องถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน

Advertisement

3)ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เคยได้รับการชี้แจงจาก ป.ป.ช.ว่าหนี้สินที่แม้เป็นการยืมส่วนตัวก็ต้องแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แล้วจู่ๆ เลขาธิการ ป.ป.ช. มาประกาศว่าถ้าเป็นการยืมก็ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินนั้น จะมิกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ทำลายการตรวจสอบ และเปิดช่องให้ทุจริตกันง่ายๆ ในอนาคตหรือ!?

การยืมนาฬิกามูลค่าเรือนละเป็นแสน เป็นล้านบาทนั้น ถ้าไม่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเสียแล้ว ต่อไปใครรับสินบนอะไรมา ก็อ้างว่าเป็นการยืมได้ ใช่หรือไม่?

4)ตามหลักการของ ป.ป.ช. แต่เดิมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่การยืมต้องถือว่าเป็นหนี้สินที่ต้องแจ้ง นาฬิกาที่ยืมจึงเป็นทั้งทรัพย์สินและหนี้สินไปพร้อมกัน

การไม่แจ้งจึงถือว่าเป็นปกปิด ใช่หรือไม่

การให้สัมภาษณ์สื่อของกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา จึงไม่ได้ทำให้ข้อสงสัยคาใจของประชาชนต่อ มติอัปยศของ ป.ป.ช.หมดไป แต่กลับเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กรรมการ ป.ป.ช. ไม่ใช่มืออาชีพ ทั้งขาดความรู้ในกฎหมายที่ตัวเองต้องใช้ในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ

การใช้เวลาถึง 1 ปี ในการตรวจสอบโดยตั้งโจทย์เปะปะผิดประเด็นเช่นนี้ สังคมย่อมประเมินได้ว่าควรเป็นผลงานที่ผ่านโปร หรือไม่ และคุ้มค่ากับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนหรือไม่?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image