“ทักษิณ” โชว์วิชั่น เปลี่ยนวิกฤตฝุ่น เป็นโอกาสพลังงาน ดันอุตสาหกรรมรถใช้ไฟฟ้าจริงจัง

“ทักษิณ” โชว์วิชั่น เปลี่ยนวิกฤตฝุ่น เป็นโอกาสของพลังงาน ทั้งแก้ปัญหา-ทั้งได้ประโยชน์ ชี้ เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาหลายอย่างได้ ไทยต้องไล่ให้ทัน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จัดรายการ “Good Monday รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับดร.ทักษิณ ชินวัตร EP.2” ว่า ที่เมืองไทย มีปัญหาที่ตกใจกันมากก็คือเรื่องของ “ฝุ่น” เรื่องของอากาศมลพิษที่มีฝุ่นขนาดเล็ก ถึง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่อันตรายในการทะลุทะลวงเข้าไปในหลอดเลือดต่างๆ ทำให้สุขภาพเสียหาย การมีมลภาวะที่ติดอันดับ 10 ของโลกนั้น มันเสียหาย 2 ส่วนแน่นอน ส่วนหนึ่ง คือสุขภาพอนามัยของคนไทย แต่ส่วนที่สอง คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องของภาพพจน์ที่เสียหายไป การท่องเที่ยวก็จะมีผล เพราะคนก็ไม่อยากจะมาในช่วงที่ภาวะมลพิษทางอากาศสูงอย่างนี้ เหมือนหลายประเทศ หลายเมืองที่ขึ้นบัญชีว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษสูง ฉะนั้นก็จะเสียหายทางเศรษฐกิจ เสียหายในการทำมาหากินของคนซึ่งขายของตามถนนหรือตามกลางแจ้ง ก็จะมีความรู้สึกกลัวหรือเป็นห่วงใยต่อสุขภาพของตัวเอง ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้กัน โดยตนจะเล่าประสบการณ์ที่ตนไปที่ปักกิ่ง เมืองเขาเป็นแอ่ง เวลามีมลภาวะเนี่ย มีแล้วจะอยู่นานออกไปได้ยาก เขาก็หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรบ้าง แน่นอนสาเหตุหนึ่งก็เกิดจากรถติด รถเยอะ และเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเคยมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินอยู่รอบเมืองปักกิ่ง ตอนหลังก็ยกเลิก และก็ไปใช้พลังงานอื่นที่สะอาด มีโรงงานอุตสาหกรรมรอบเมืองปักกิ่งก็จับย้ายหมด ส่วนเรื่องของปัญหาด้านรถยนต์ก็มีนโยบายเลยว่า ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า รถที่จะวิ่งในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น และก็ถือโอกาสเอาวิกฤตนี้ มาส่งเสริมอุตสาหกรรมทำรถไฟฟ้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่งเสริมให้มีการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้ามากขึ้น จริงจังขึ้น อันนี้ก็เป็นการถือเอาวิกฤตเป็นโอกาส

กลับมาที่บ้านเรา ปัญหาที่เกิดจากฝุ่นจำนวนมากมายวันนี้ เกิดจาก 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งคือเกิดจากเรื่องรถ โดยเฉพาะรถดีเซล กับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถเก่า หมดสภาพมาวิ่ง ควันเยอะ พวกนี้เนี่ย ปัญหารถติด ปัญหารถมาก ปัญหารถดีเซล พวกนี้ต้องได้รับการแก้ไขระยะยาว ระยะยาวก็คือต้องแก้ปัญหาเรื่องรถติดอย่างจริงจัง อันที่สอง ก็คือการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์เ​ราเนี่ย เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์ ซึ่งวันนี้ทุกบริษัท อย่าง GM มีแผนชัดเจนว่าจะเปลี่ยนเป็นรถมีไฮโดรเจนบ้าง หรือเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าบ้าง หลายบริษัทเค้าเตรียมไปจนถึงตรงนั้นแล้ว และไปจนถึงรถที่ไม่ต้องมีคนขับ เขาเตรียมเผื่อไว้แล้ว เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ถ้าเราไม่มีแผนที่ชัดเจน เขาย้ายหนีหมด เราต้องพยายามจูงใจให้เค้าเปลี่ยนมาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ เพื่อลดมลภาวะของเราเอง และมันถูกตังค์ด้วยในอนาคตข้างหน้า เพราะเราไม่ต้องนำเข้าน้ำมันมากมาย เพราะเนื่องจากใช้ไฟฟ้าแล้ว เรามีตลาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจน บริษัทรถยนต์เหล่านี้ก็จะหันมาผลิตรถไฟฟ้าในเมืองไทย เราก็จะดำรงความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกได้อยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การจะไม่ให้รถที่เป็นเครื่องยนต์วิ่งได้อีกกี่ปี ต้องมีแผน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนที่มีรถที่เป็นเครื่องยนต์ธรรมดาวันนี้ต้องเดือดร้อน มันจะมีช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยน สมมุติว่าวันนี้รถเราหมดอายุแล้วจะซื้อใหม่ ถ้าไปซื้อรถไฟฟ้าอาจจะซื้อได้ถูกกว่า หรือมีแรงจูงใจทางภาษีอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะให้คนได้เปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์ธรรมดาที่หมดสภาพ หมดอายุแล้ว หรือจะซื้อใหม่ ให้ไปซื้อรถไฟฟ้า เราก็จะลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้ดีเซลก็ดี ใช้เครื่องยนต์ก็ดีที่วิ่งในกรุงเทพฯไปเรื่อยๆ จนในที่สุดมลภาวะที่เกิดจากรถยนต์ก็จะหายไป

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า อีกตัวนึงที่เป็นมลภาวะที่เขามองมากเนี่ย คือการเผาชีวมวลทั้งหลาย พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เกษตรกรมักจะเผาตอข้าวแทนที่จะขุดหรือจะขังน้ำไว้ให้เน่า ในประเทศเวียดนามเค้านิยมขังไว้ให้เน่า เพราะการเผาเป็นการทำลายจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ฤดูกาลต่อไปผลผลิตอาจจะตกต่ำ ต้องใช้ปุ๋ยเยอะ ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นการขังน้ำแล้วให้ตอข้าวเน่า จุลินทรีย์ในดินก็จะไม่เสียหาย แล้วตอข้าวที่เน่าจะเป็นปุ๋ย จะทำให้ผลผลิตในปีต่อไปมากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยขึ้น เราต้องรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรทั้งหลายเข้าใจ เราถือเอาวิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสโดยการรณรงค์เกษตรกรลดการเผา biomass ทั้งหลาย แล้วก็เปลี่ยนเป็นการปล่อยให้มันเน่าบนดินแล้วจะเป็นปุ๋ยในตัวเนี่ย ก็จะทำให้ biomass ทั้งหลายไม่เข้ามาในกรุงเทพฯ ตนไปอ่านข่าวเกี่ยวกับการที่ฮ่องกงจะเปิดใช้เครื่องขจัดมลพิษขนาดยักษ์ เป็นทาวเวอร์ใหญ่ ซึ่งเค้าบอกว่าเทียบเท่า กับการขจัดมลพิษด้วยต้นไม้ 4 แสน 8 หมื่นต้น เห็นมั้ยครับว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนี้ เขาเอามาใช้เพื่อประโยชน์ เพื่อความผาสุกของคนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยี นอกจากนี้ เป็นห่วงอยากให้กรุงเทพฯรักษาต้นไม้หรือเพิ่มต้นไม้ ถ้าไม่งั้นก็ต้องไปเพิ่มทาวเวอร์ไว้เพื่อขจัดมลพิษเหมือนที่ฮ่องกงทำ เพราะฉะนั้นประเทศเราเป็นประเทศที่ปลูกต้นไม้ได้ แต่วันนี้เราปลูกตึกจนทิ้งต้นไม้หมด ถ้าจะส่งเสริมเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์

Advertisement

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า อยากจะเท้าความถึงหนังสือเก่ามากเกือบ 50 ปีแล้ว ของนักอนาคตศาสตร์ ชื่อ อัลวิน ท็อฟฟ์เลอร์ คนนี้เค้าเขียนหนังสือเมื่อปี 1970 ชื่อ Future Shock : The Third Wave เขาให้คำจำกัดความว่า Future Shock แปลว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้จิตวิทยาของเราตกใจว่าทำไมเปลี่ยนเยอะมาก เปลี่ยนเร็วเหลือเกิน เพราะเทคโนโลยีพัฒนาเร็ว แต่วันนั้นเขาก็พูดเตือนไว้เยอะ คำว่า The Third Wave ของเขา ก็คือคลื่นลูกที่ 3 เขาว่าคลื่นลูกแรกคือยุคเกษตรกรรม ลูกที่ 2 ยุคอุตสาหกรรม เป็นยุคที่ผู้คนละโมบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา อยากจะแข่งกันผลิตจำนวนมากๆ เพื่อให้รวยๆ ยุคนี้เลยทำให้เป็นยุคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่ดีงามทั้งหลายก็เสียหายไป สุขภาพพลานามัยก็แย่ลง เพราะทุกคนต้องรีบทำงาน อยากจะทำงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ลูกที่ 3 คือเป็นคลื่นของเทคโนโลยีด้านสังคมข่าวสาร ข้อมูลข่าวสาร และก็เรื่องของเทเลคอมมูนิเคชั่นทั้งหลาย เขามองถึงเรื่องว่า ยุคต่อไป ใครทำมาหากินด้านสุขภาพจะถูกทาง เพราะคนเริ่มห่วงใยสุขภาพ พอมีตังค์แล้วกลัวตาย กลัวป่วย เขานึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดีเรื่องสุขภาพก็ ได้เขียนเตือน และมองว่าเป็นปัญหา แล้วผู้คนจะมองเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ก็เป็นจริงหมด เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนลองดูว่าอนาคตโลกจะไปทางไหน แล้วประเทศไทยเราเนี่ยจะรับมือยังไง ไม่ว่าเรื่องของการสาธารณสุข สังคม แม้กระทั่งเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และรวมทั้งที่สำคัญที่สุดก็คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกทั้งหลายมันกำลังเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image