บทนำ : อุปสรรคมาก

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ถูกโจมตีอย่างหนักว่า สร้างสภาพ “ย้อนแย้ง” ให้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ ให้มีการเลือกตั้ง แต่สร้างข้อจำกัดมากมายในการหาเสียง ทำให้พรรคต่างๆ ไม่กล้าหาเสียง เกรงจะถูกร้องเรียนนำไปสู่คดีความ ปัญหาดังกล่าว น่าจะเป็นผลจากการที่ กกต. ปฏิบัติตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดข้อจำกัด กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายกำหนดไว้เข้มงวด แต่ กกต.เองสามารถกำหนดแนวทางต่างๆ ให้ชัดเจน ปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์ในการหาเสียง เพื่อให้เกิดความมีอิสระและคล่องตัว ส่วนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ควรนำไปหาทางแก้ไข เพื่อให้ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

อาทิ การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องยื่นหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งปัญหาคือ ในปีนี้ กรมสรรพากรกำหนดให้ยื่นเสียภาษีของปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค.ถึง 31 มี.ค.2562 ซึ่งเท่ากับว่าถึงวันเลือกตั้ง ยังไม่หมดเขตในการยื่นเสียภาษี แต่ กกต.เห็นว่า กฎหมายกำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร จึงมีมติว่าหลักฐานภาษี ต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559, 2560 และ 2561 ดังนั้น แม้จะยังไม่หมดเขต แต่ กกต.เห็นว่า ผู้ที่จะสมัครสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว และขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมายื่นสมัคร ซึ่งเท่ากับบังคับให้ผู้สมัครต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก

อีกปัญหาหนึ่ง ได้แก่ การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลังจากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้ บรรดา ผู้สมัครพากันปิดบัญชีหรือแอคเคาต์ของตนเอง บ้างก็ลบข้อความต่างๆ ที่คิดว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้อง เพราะไม่แน่ใจว่าแนวปฏิบัติในเรื่องนี้คืออย่างไร ซึ่ง กกต.ออกมาชี้แจงว่าไม่ต้องลบแอคเคาต์ หากต้องการใช้หาเสียง ให้แจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย และให้เหตุผลว่า ระเบียบ กกต.ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวเพื่อปกป้องผู้สมัครที่จะใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชนจะได้ไม่ถูกปลอม     แอคเคาต์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อ กกต.จะคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งในเรื่องนี้ จะเป็นปัญหาต่อไปอีกว่า แล้วหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย จะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร และความไม่ชัดเจนนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image