วัดค่าประเมิน รายการ Good Monday ผ่าน‘ปฏิกิริยา’สังคม

หากประเมินจากการเคลื่อนไหวของ คสช.ประสานเข้ากับรัฐบาล และปฏิบัติการด้านการข่าว หรือ IO ในตอนสายๆ ของทุกวันจันทร์

ต้องยอมรับว่า Good Monday จุดติด

ตอนที่ออกเอพิโสด 1 มา หลายฝ่ายยังงงๆ จึงไม่มี “ปฏิกิริยา” อะไรมากนัก แต่พอเข้าสู่เอพิโสด 2 กับเอพิโสด 3 เริ่มสัมผัสได้

เริ่มจากเอพิโสด 2 แตะไปยังเรื่อง “ฝุ่น”

Advertisement

ตอนสายก็มีเสียงดังมาจาก คสช.และรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นการเปิดโครงการเรื่องอาหารโรงเรียนในพื้นที่ของ กทม.

ตามมาด้วยเอพิโสด 3 แตะไปยังเรื่อง “การท่องเที่ยว”

ตอนสายๆ ก็มีถ้อยแถลงเรื่องเดียวกันจากสระบุรีทั้งๆ ที่การสัญจรไปมีเป้าหมายอยู่ที่ ส.ป.ก.4-10 เป็นหลัก

Advertisement

นี่คือ “ปฏิกิริยา” นี่คือ “ผลข้างเคียง”

พลันที่รายการ Good Monday ออกมาสวัสดีตอนเช้า ไม่ว่าหน่วย IO ของ คสช. ไม่ว่าหน่วย IO ของทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าหน่วย IO ของพรรคพลังประชารัฐชล้วนกระตือรือร้น

เท่ากับคนหนึ่ง “ร้อง” อีกคน “รำ” ตาม

รายการ Good Monday จึงกลายเป็นเนื้อหาในการกำหนดทิศทางของข่าวสารให้กับ คสช. ให้กับรัฐบาลและให้กับพรรคพลังประชารัฐไปโดยอัตโนมัติ

นี่ย่อมถือได้ว่าเป็น “ความสำเร็จ”

ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะออกมาในเชิง “บวก” ไม่ว่าความสำเร็จจะออกมาในเชิง “ลบ” กระทั่งเรียกขานอย่างมีอารมณ์ว่า “นรก” วันจันทร์ก็ตาม

ถามว่าปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนอะไร

คำตอบแจ่มชัดอย่างยิ่งว่า รายการ Good Monday ได้เข้าไปมีส่วนในการส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อ คสช.ต่อรัฐบาลและต่อพรรคพลังประชารัฐ

จุดนี้จะมีแรงเหวี่ยงไปยัง “การเลือกตั้ง”

ขอให้สังเกตจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติ

4 พรรคนี้ถือเอา “คสช.” เป็น “เป้าหมาย”

4 พรรคนี้ถือเอารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ ต้นตอแห่งปัญหาไม่ว่าเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

4 พรรคนี้เกี่ยวกับรายการ Good Monday หรือไม่

มิอาจตอบได้ว่าเกี่ยวโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สัมพันธ์กันในทางความคิด จิตวิญญาณมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อยู่แล้ว

ถามว่าเป็นการครอบงำหรือไม่

นั่นเป็นเรื่องในทางความคิดมิได้เป็นเรื่องในทางการจัดตั้งจึงมิอาจเอา พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไปจัดการ

ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่อง “แยกกันเดิน” โดยมี “เป้าหมาย” ร่วมกันมากกว่า

รายการ Good Monday จึงสะท้อนลักษณะยืดหยุ่นและพลิกแพลงในทางการเมือง เป็นวิทยายุทธ์อันได้มาท่ามกลางการต่อสู้อันเข้มข้น

ใช้ความได้เปรียบในทาง “เทคโนโลยี”

ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบไปยัง คสช. ไปยังรัฐบาล ไปยังพรรคพลังประชารัฐ และวางเดิมพันไว้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 เป็นสำคัญ

ใครจะชนะ ใครจะแพ้

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image