“ปริญญา”เสนอ “ประยุทธ์” ถอยกลับสู่สถานะคนกลาง หวั่นการเมืองอยู่ในภาวะล้มเหลว

“ปริญญา” ย้อนถาม “บิ๊กตู่” หากลงว่าที่นายกฯ จะทำอย่างไรให้การเมืองไทยไม่ล้มเหลวอีก ชี้ พปชร. ต้องมาที่1 หากจะนำ “ประยุทธ์” เข้าสภา

เมื่อเวลา 30 มกราคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม และมีสิ่งที่คู่ขนานกันไป คือการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เป็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะผู้ที่จะโหวตเลือกนายกไม่ได้มีแต่ ส.ส. และภายใต้กติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 8 คนที่จะเป็นนายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.อีกต่อไปแล้วโดยมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายชื่อให้ประชาชนทราบก่อน โดยเสนอชื่อได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.วันสุดท้าย คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการรับรองอย่างน้อยร้อยละ 5 ชื่อถึงจะนำมาใช้ได้ ซึ่งหากท่านอาจจะคิดว่านี่คือเรื่องปกติหลังรัฐประหารที่ผู้มีอำนาจต้องให้ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯร่วมกับส.ส.ได้ แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นครั้งแรกที่ทำสำเร็จ มีความพยายามก่อนหน้านี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ 2534 และถูกประท้วงจนต้องถอนอำนาจนี้ทิ้งไป แต่ครั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำสำเร็จ อย่างไรก็ตามการเลือกนายกฯต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง หากรอบแรกเลือกนายกฯจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ต้องใช้รอบสอง จะมีรอบสอง คือนายกฯคนนอก ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก คือ 500 เสียง ซึ่งเป็นจุดอ่อน เพราะนายกฯคนนอกเป็นของแสลงสำหรับคนไทยจากบทเรียนเมื่อปี 2535 นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงอยากเป็นนายกฯที่มาในรอบแรก ตนจึงอยากขอวิเคราะห์ให้ดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯหรือไม่

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ทางเลือกแรก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ ส.ส.เพียง 126 เสียง ซึ่งต่อให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ได้ส.ส.ไม่ถึง 126 ก็ไม่เป็นเรื่องยากที่จะชวนพรรคอื่นมาร่วม แต่การจะอยู่ในสภาที่มีส.ส. 500 เสียงจะอยู่ได้อย่างไร เพราะการพิจารณา พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปีจะไม่ผ่าน และจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจในเวลารวดเร็ว ฉะนั้นการที่จะอยู่ได้ต้องมีส.ส. 250 ที่นั่ง ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า 2 พรรคใหญ่มี ส.ส.เกินครึ่งเสมอ แม้ในคราวนี้ระบบเลือกตั้งจะทอนขนาดของพรรคไป แต่จากการคาดการณ์ของโพลทั้งหลายยังเชื่อว่า 2 พรรคใหญ่จะยังมีส.ส.รวมได้แค่ 250 ที่นั่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องการเสียงจากพรรคใดพรรคหนึ่งใน 2 พรรคนี้ โดยถ้าพล.อ.ประยุทธ์ลงเป็นนายกฯ การเมืองไทยจะเข้าสู่ 3 ก๊ก คือ 1. ส.ว. และพรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีเสียงถึง 376 เสียง แต่เมื่อไม่รวม ส.ว.เสียง ส.ส.จะไม่ถึง 250 ที่นั่ง ทำให้อยู่ไม่ได้ 2.พรรคเพื่อไทย(พท.)และพรรคเครือข่าย น่าจะไม่ถึง 376 ที่นั่ง และ 3.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ก็น่าจะมีที่นั่งไม่ถึง 376 ที่นั่ง ดังนั้น การจะเกิดรัฐบาลได้ต้องรวมกัน 2 ก๊ก ซึ่งการรวมกันของ พปชร. กับ พท.คงจะยาก พปชร. รวมกับ ปชป. ก็ดูน่าจะเป็นไปได้ และพท. และปชป. รวมกันคงจะยากที่สุด

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า แล้วจะมีเหตุการณ์แบบไหน ที่ทำให้ปชป.ยกมือให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายก คือต้องทำให้ พปชร. ต้องมาที่ 1 แต่หากอันดับ 1 เป็นพท. การจะให้ ปชป. จะยกมือให้พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเรื่องยาก แต่หากว่าท่านเป็นพท. ท่านได้ที่ 1 และรู้ว่าพรรคที่เหลือรวมกันสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ท่านจะทำอย่างไรให้ไม่เป็นฝ่ายค้าน นั่นคือ ให้ปชป.เป็นนายกฯ ขณะเดียวกันถ้าหากปชป.มาเป็นอันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะกลายเป็นนายกฯ ดังนั้น พปชร. จึงต้องได้คะแนนเป็นที่ 1 เท่านั้น ทั้งนี้จากโพลคนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์สูงถึง 26.20 เปอร์เซ็นต์แต่โพสอยากให้คนอื่น เป็นนายกฯกลับมีถึง 74 % ซึ่งหากพล.อ.ประยุทธ์ เชื่อโพลนี้จะต้องให้มีตัวเลขถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะน่าลงสมัครเป็นนายกฯ และจากโพสนี้พบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 6.4 ล้านคน และในโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันถ้าดูจากจำนวนสมาชิกพรรคของแต่ละพรรคจะพบว่า การที่พปชร.จะมาเป็นที่ 1 ไม่ใช่เรื่องง่าย จากสถิติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 62 พบว่า พปชร.มีสมาชิกพรรคแค่ 4,200 คน ขณะที่ปชป. มีสมาชิกกว่า 1.2 แสน คน มากที่สุดแม้จะถูกเซ็ทซีโร่สมาชิก

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตนจึงขอนำคำพูดของซุนวู คือ ต้องชนะตั้งแต่ก่อนเข้าสนาม เพราะโอกาสชนะมีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ พปชร. ต้องมาที่ 1 และการที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ ที่ไม่ใช่นายกรักษาการ นั่นหมายถึงอำนาจในการทำอะไรต่ออะไร จะมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรคที่เสนอชื่อท่าน และ คสช. จะกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกันท่านยังเป็นหัวหน้า คสช. ที่สั่งการได้ทุกเรื่องได้เปรียบทุกพรรค และ การเลือก ส.ว.จะถูกตั้งคำถามทันที ว่าทำไมเลือกคนนี้ไม่เลือกคนนั้น เลือกมาเพื่อให้ตัวเองเป็นนายกฯใช่หรือไม่ คำถามจะดังขึ้นมาเรื่อยๆจนตอบไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตนเอง ซึ่งดูไปดูมาเห็นแต่ข้อเสีย ตนจึงเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ถอยกลับสู่สถานะคนกลาง ที่พูดเรื่องนี้มาทั้งหมด พบว่าจุดเปรียบประเทศไทยจากนี้ยังมองไม่ขาด เพราะยังไม่ทราบปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเมืองก่อนและหลังเลือกตั้ง คือพล.อ.ประยุทธ์จะลงว่าที่นายกฯหรือไม่ ถ้าลงก็เป็นตามที่ตนบอกไว้ แต่ถ้าไม่ลง คสช. ก็อยู่ในฐานะคนกลาง โดยส.ว.จะเป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรี

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตนเรียนว่าระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ก็น่าจะเพียงพอแล้ว มีส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้นมา สามารถคุมให้รัฐบาลทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้น่าจะเพียงพอแล้ว คือถ้าลงแล้วได้เป็นแน่ก็เรื่องหนึ่ง แต่โอกาสได้เป็นก็ลำบากและก่อให้เกิดผลเสียมากมาย เรื่องเห็นว่า ประชาธิปไตยไทยมีปัญหาเหลือเกิน เลือกตั้งไปก็มีปัญหาอีก ในปี 2555 ประชาธิปไตยของไทยอยู่อันดับที่ 69 ปี 2556 อยู่ที่อันดับ 65 และในปี 2667 ไทยอยู่อันดับที่ 63 ซึ่งเป็นอันดับประชาธิปไตยก่อนยึดอำนาจ เหมือนฟุตบอลไทยที่เรามีความหวังแม้จะอยู่ในอันดับที่ 120 แต่ท่านก็มีความหวัง มีกำลังใจ แต่อันดับของประชาธิปไตยของเราดีกว่าฟุตบอล ทำไมถึงไม่เชียร์ แต่ต้องย้ำว่าประชาธิปไตยคือการปกครองตัวเองของประชาชนผู้มีสิทธิ ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองของนักการเมือง ต้องแก้ไขตรงนี้ และหลังจาก 22 พฤษภาคม 57 พบว่า เราไม่มีอันดับอีกต่อไป หากเป็นนักศึกษาได้เกรด เอ บี ซี ยังพอมีความหวัง แต่เราให้เด็กคนนี้พักการเรียนมา 5 ปี แล้ว ถึงตอนนี้ควรให้เด็กคนนี้ได้กลับมามีอีกครั้ง ครูไม่ต้องมาทำการบ้านให้อีกแล้ว เราหวังว่า 5 ปีที่ผ่านมาคงได้เรียนรู้พอสมควร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตนถึงเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ถอย เพราะถ้าท่านนายกฯลงว่าที่นายกฯ การเมืองไทยจะทำอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวอีก

Advertisement

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image