น.2รายงาน : วิพากษ์เลือกตั้ง62 อนาคตในมือ‘ปชช.’

หมายเหตุ มติชนจัดสัมมนาเรื่อง “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคินฯ และอดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และนายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม.

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

ในฐานะอดีต กกต. ไม่อยากวิจารณ์ กกต. แต่อยากให้กำลังใจ ขอให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าฟังผู้มีอำนาจมากนัก แต่ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยก่อนหน้านี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนฯร่วมกับอีก 2 มูลนิธิ ได้เชิญพรรคการเมืองมาลงนามเพื่อให้สัญญากับประชาชนว่าจะมีน้ำใจนักกีฬาในการแข่งขัน นี่จะเป็นจรรยาบรรณในการหาเสียง ซึ่งต้องใช้ประกอบกับกฎหมาย ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างข้อบังคับบางส่วนที่น่าสนใจ ซึ่งไม่มีในอดีต เช่น หัวคะแนนที่เป็นทางการ ซึ่งเรียกว่าผู้ช่วยหาเสียง ที่จะมีรายได้จากผู้สมัคร ส.ส.ได้เพียง 320 บาทต่อวัน และผู้สมัคร ส.ส.จะมีผู้ช่วยได้วันละไม่เกิน 20 คน หากเปลี่ยนตัวก็ต้องเสนอชื่อ เปลี่ยนได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 6 คน ขณะที่ขบวนรถแห่หาเสียง มีได้วันละไม่เกิน 10 คัน และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าช่วยพรรคการเมืองหาเสียงจะผิดวินัยทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากพูดมากที่สุด คือการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งหลายคนอาจหวังพึ่งคนรุ่นใหม่ แต่คนส่วนใหญ่ที่ผมคบหาเป็นคนชั้นกลางใน กทม.ซึ่งหนุนบทบาททหารในทางการเมือง ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไรถ้าเขาจะหนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่เมื่อดูการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งเป็นระบบสัดส่วน ซึ่งแปลว่าจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นสัดส่วนกับคะแนนนิยมของพรรค ขณะที่หัวใจของพรรคการเมืองคือนโยบาย ประชาชนควรเลือกพรรคที่มีนโยบายที่เขาให้ความสำคัญและเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง เช่นขณะนี้ หลายพรรคการเมืองเสนอเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพูดกันมานาน แต่ไม่เคยเปลี่ยนได้ เพราะเป็นเรื่องยาก

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกระจายอำนาจ ความปรองดองและความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ ผมมองว่าภาพอนาคตที่อยู่ในความคาดหวังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาอาจดูรูปแบบการรัฐประหารในอดีต เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 11 ปี เมื่อร่างเสร็จก็เลือกตั้ง พอเลือกตั้งแล้วไม่ถูกใจก็รัฐประหาร หรือการรัฐประหาร 2519, 2534, 2549 ที่เชื่อกันว่าเมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แล้วจะทำให้ผลเลือกตั้งเป็นไปตามที่หวัง แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บอกแล้วว่าผลออกมากลับไม่ใช่อย่างนั้น เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2557 ที่บอกว่าจะอยู่ไม่นาน แต่ก็เปลี่ยนใจระหว่างทาง โดยแผนของเขาคือ แผน 13 ปี รัฐบาลปัจจุบันอยู่ประมาณ 5 ปีเศษ หลังจากนั้น 4 ปี ส.ว.ชุดเดิม กติกาเดิม ก็น่าจะได้นายกฯคนเดิม นี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่คือการยึดกุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ท่านตั้งพรรคที่ไม่มีชื่อ ให้มีเสียงในรัฐสภา ซึ่งคือ ส.ว. นี่เป็นการยึดอำนาจแบบละมุนละม่อมผ่านอำนาจทางนิติบัญญัติ แต่จะเป็นอย่างที่หวังหรือไม่ ผมไม่ทราบ

ข้อเสนอของผมสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ 1.เคารพหลักการ พรรคการเมืองต้องมี ส.ส.เกิน 250 คน จึงจะมีสิทธิเลือกนายกฯ 2.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แปลว่าคนที่เป็นนายกฯควรต้องเป็น ส.ส. 3.ต้องเอานโยบายของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่มีเสียงเกิน 250 เสียง มาใช้ประโยชน์ทั้งหมด จึงจะเป็นการเคารพเสียงของประชาชน 4.ในทางปฏิบัติ ให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 เชิญพรรค พปชร.มาคุยก่อน พยายามให้มาร่วมรัฐบาล เพราะพรรคอันดับ 1 มีอำนาจมหาศาลอยู่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นการแบ่งปันอำนาจอย่างแท้จริง เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้บ้านเมืองสงบ มีเสถียรภาพ หากเสียงไม่พอ ก็ดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลได้

และขอว่าอย่าบริหารแบบเดิม อย่าต่อรองตำแหน่ง มิเช่นนั้น จะเป็นไปตามคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่บอกว่าบาปประการหนึ่งคือการเมืองที่ไม่มีหลักการ ผมไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนอย่ายกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียทั้งหมด เพราะอนาคตอยู่ในมือของทุกคน

Advertisement

สุรชาติ บำรุงสุข
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อผมเป็นนิสิตปี 1 ในปี 2516 การเมืองไทยมีอาการที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่การเมืองไทยวันนี้ก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ ในสภาวะแบบนี้ถ้าจะอธิบายคุณลักษณะของการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร คือ ไร้เสถียรภาพ และไร้การคาดเดา ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยาวๆ เป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง 2 ชุด อนุรักษนิยมกับเสรีนิยม โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงแรก ยุคก่อนสงครามเย็น ช่วงที่สอง ยุคสงครามเย็น และช่วงที่สาม ยุคหลังสงครามเย็น แน่นอนการเมืองไทยกับการเมืองโลกไม่ได้หนีจากกัน เราเห็นการต่อสู้ในอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกฉันใด เราก็ต้องการต่อสู้ในอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยฉันนั้น ยุคก่อนสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คำตอบ อยู่ได้ 15 ปี ก็เกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 แม้ว่าคณะผู้บริหารหลังรัฐประหาร 2490 จะมีผู้นำคณะราษฎรบางส่วนเข้าร่วม แต่อุดมการณ์ 2475 ถือว่าจบ เพราะไม่พูดถึงอุดมการณ์ 2475 อีกเลย

ถามว่า การรัฐประหาร 2490 สะท้อนอะไรนั้น ในประวัติศาสตร์การเมืองเป็นการสะท้อนถึงการสมานฉันท์ของอุดมการณ์ 2 ชุดที่ลงตัว ระหว่างอุดมการณ์อนุรักษนิยมไทยกับอุดมการณ์เสนานิยมไทย จึงทำให้โอกาสที่อุดมการณ์เสรีนิยมไทยเติบโตในสังคมไทยยาก เพราะชนชั้นนำไทย ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการรักษาเสถียรภาพในทางการเมืองของไทย จึงทำให้การเมืองหลังรัฐประหาร 2490 ทำให้ไทยตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างสถานะของพม่าในยุคนั้น ในช่วงนั้นเราผ่านเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เงื่อนไขใหญ่ที่สุดที่ทำให้ชนชั้นนำไทยและผู้นำรัฐประหารยอมรับประชาธิปไตย ก็คือเงื่อนไขของสงครามคอมมิวนิสต์ที่ไทยจะเป็นตัวที่ 4 ที่จะแตกต่อจากเวียดนาม เขมร และลาว สุดท้ายเรามีรัฐประหารในปี 2519 ซึ่งเป็นรัฐประหารที่นองเลือดที่สุด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือ รัฐประหารไม่ตอบโจทย์ ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าป่า จนกระทั่งชนชั้นนำและผู้นำทหารยอมปรับยุทธศาสตร์ แต่พอถึงยุคหลังสงครามเย็นที่มีมาพร้อมกับรัฐประหาร 2534 นั่นคือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่พอเข้าสู่เส้นแบ่งเวลาของยุคเราก็ได้เห็นรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ซึ่งการรัฐประหาร ทั้ง 2 ครั้งเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้กำลังของฝ่ายเสนานิยม ในการล้มฝ่ายเสรีนิยม โดยฝ่ายขวาไทยยังใช้เครื่องมือชุดเดิมที่เดินเกินไปกว่ารัฐประหารไม่ได้ ทั้งๆ ที่ขวาในเวทีโลก กลายเป็นเดินไปไกลถึงประชานิยมปีกขวา ที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ เมื่อฝ่ายขวาไทยเดินไกลกว่าการรัฐประหารไม่ได้

จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลังจากรัฐประหาร 2534 ไม่มีครั้งไหนที่พรรคฝ่ายขวาชนะในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงทำให้การเมืองกลับมาสู่สูตรเดิม ล้มการเมืองที่ไม่ต้องการด้วยเงื่อนไขของกองกำลังทหาร คำว่าอำนาจรัฐเกิดจากปลายกระบอกปืน ของเหมา เจ๋อ ตุง กับใช้ได้ดีในการเมืองไทย ท่ามกลางความฝ่ายแพ้ทั้งหมด วันนี้มีการสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองชุดใหม่ที่สถาปนิกพยายามสร้างการเมือง โดยทำอย่างไรก็ได้ โดยที่การเมืองยังอยู่ในอำนาจของฝ่ายขวา แบบไม่ต้องแคร์อะไรทั้งสิ้น วันนี้คำว่าการสืบทอดอำนาจ ยังน้อยไปด้วยซ้ำ

วันนี้ การต่อสู้กำลังเข้มข้นมากขึ้น อนาคตอยู่ในเงื่อนไขของตัวแบบ 3 อย่าง สมมุติ 1.ฝ่าย คสช.รวบเสียงได้ 250 จะเกิดอาการเดียวกับพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยจัดตั้งรัฐบาลผสม ผลคือ อายุไม่ยืน 2.ฝ่าย คสช.สามารถตั้งรัฐบาลได้ โดยใช้เสียง ส.ว.ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เช่นเดียวกับรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเก่งในทางการเมืองแบบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หรือ 3.เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคปีกไม่เอา คสช.ในไทยจะชนะ แบบเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พรรคฝ่ายค้านในพม่า หรือในมาเลเซียชนะ ในสภาพเช่นนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพจะเกิดขึ้นแน่นอน วันนี้ต้องยอมรับว่าข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ เปิดเกมทางการเมืองนี้ และจะเป็นโจทย์สำคัญที่มีนัยยะทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งแน่นอน

สมมุติว่าถ้าการเมืองไทยออกมาในรูปแบบรัฐธรรมนูญนี้วางไว้ การเมืองไทยจะไม่ใช้การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงอยู่ต่อไปได้ ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเลือกตั้ง ถ้า คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อ การเมืองจะเป็น “เผด็จการครึ่งใบ” ที่เป็นปัญหาในเชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์อย่างที่เกิดขึ้นในรัฐเซีย ตุรกี และกัมพูชา แต่ผมเชื่อด้วยความหวังว่า ประชาธิปไตยยังเป็นอนาคตสำหรับสังคมไทย

ผมเรียกร้องว่า หากเสรีนิยมยังเป็นอนาคตกับสังคมไทย เราต้องช่วยกันปลดแอก 5 ข้อ แอกแรก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แอกที่สอง กฎหมายลูกล้วนไม่ตอบสนองในการพาสังคมไทยไปสู่อนาคต ต้องรื้อ แอกที่สาม ยุทธศาสตร์ไม่ได้ออกแบบเพื่อการดำรงอยู่ภายใต้อนาคต ต้องเท แอกที่สี่ การยกสถานะของ กอ.รมน. กลายเป็นหนึ่งกระทรวงซ้อนอยู่ ต้องทำให้กลับถอยกลับไปอยู่สถานะเดิม และแอกที่ห้า เราจะเอาอย่างไรอนาคตของกองทัพ เราจะปล่อยให้ผู้นำทหารออกมาพูดจาคุกคามในทางการเมืองอีกหรือไม่ วันนี้ถึงเวลาที่กองทัพไทยต้องกลับไปสู่ทหารอาชีพ เราไม่ต้องการทหารการเมืองเพื่อการพัฒนาประเทศ เราไม่ต้องการนักการเมืองในเครื่องแบบต่อไป

สิ่งที่เห็นชัด ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่มีพรรคทหารประสบความสำเร็จเลย แม้ว่ายุคปัจจุบันจะเป็นการหลอมรวมจิตวิญญาณครั้งใหญ่ แต่ผมยืนยันได้ว่าพรรคทหารก็จะประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่เช่นกัน ที่ผ่านมา ทหารไทยไม่มีขีดความสามารถในการทำ IO เพราะทหารไทยทำได้แค่ปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ ปจว. ล้างสมองคนในยุคของสงครามเย็น แต่วันนี้เป้าหมายเปลี่ยน กองทัพมีเครื่องมือนี้ในการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เหลืออยู่วันนี้คือกองทัพคุมมือเราในคูหาเลือกตั้งไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image