เลือกตั้ง62-จุดเปลี่ยน เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยน(ใจ)ประยุทธ์?

30 มกราคม วันเดียวกันกับที่ค่าฝุ่นมลพิษในกรุงเทพมหานครพุ่งขึ้นถึงขีดสุด

จนกระทั่งราชการต้องสั่งปิดโรงเรียนทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด

มีการจัดงานอีเวนต์และสัมมนาใหญ่ 2 เรื่องพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

งานแรกคือ มหกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เซ็นทรัลเวิลด์

Advertisement

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน

อีกงานหนึ่ง เครือมติชนจัดสัมมนา “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ข้อมูล-ข้อคิด

ประกอบด้วย นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคินฯ

และนายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone

โดยมิได้นัดหมาย

ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 5 แสดงความเป็นห่วงในเรื่องเดียวกันนั่นคือ “อำนาจ” และการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

นายสุรชาติกล่าวว่า ถ้าถามว่าตนห่วงอะไร ต้องบอกว่าห่วง คสช.แพ้

เพราะตนอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯภายใต้เงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐธรรมนูญที่เป็นสถาปัตยกรรมชุดใหญ่ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ถึงตอนนั้นจะไม่มีมาตรา 44 แต่ควรหาแพทย์พระมงกุฎฯ เตรียมยา 3 ขนาน คือ ยาบำรุงหัวใจ ยาบำรุงประสาท

และยากล่อมประสาทให้นอนหลับ

เพราะไม่เคยมีทหารที่ไหนควบคุมสภาหลังการเลือกตั้งได้

นายอิสริยะกล่าวว่า ตนเชื่อว่าผลการเลือกตั้งมี 2 ทาง

แต่ตอนนี้อารมณ์มวลชนไม่เอา คสช. ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ ตนนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนอีกทางคือหากพรรคที่ไม่ใช่ พปชร.ชนะ

ในวันรุ่งขึ้นจะมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ถือกล่องเก็บของกลับบ้านหรือไม่?

นายบรรยงกล่าวว่า รายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน

อาจเป็นเพราะ ผู้มีอำนาจอาจจะยังไม่รู้ว่าในปัจจุบันนี้จะเขียนอย่างไร หรืออาจดึงเอาไว้ก่อน ดูว่าใครจะเป็นรัฐบาล แล้วค่อยเขียนแบบละเอียดยิบหรือหลวมๆ

“กฎหมายที่เขียนมามีแต่คำสวยหรู เช่น เขียนว่าให้ร่วมกันขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ถ้าความเหลื่อมล้ำ แก้ไขได้โดยการเขียนกฎหมาย โลกนี้คงไม่มีความเหลื่อมล้ำแล้ว

แต่ที่ขัดแย้งกันอย่างที่สุดก็คือ แผนยุทธศาสตร์ที่ควรจะต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้

เอาไปเขียนเป็นกฎหมายที่บังคับตายตัว ให้ทุกคนต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

และที่แย่ที่สุด ก็คือการขยายขนาดของรัฐ

ซึ่งหลังจากปี 2540 เป็นต้นมา เราขยายรัฐขึ้นมาแล้วหลายเท่า

ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 15”

นายปริญญากล่าวว่า การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง มีแนวโน้มจะแยกเป็นสามก๊ก

คือพลังประชารัฐและพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารก๊กหนึ่ง

เพื่อไทยและกลุ่มที่ไม่เอาทหารอีกก๊กหนึ่ง

ประชาธิปัตย์ที่แทงกั๊กอีกก๊กหนึ่ง

โดยโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างามนั้นมีอยู่ทางเดียว คือพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นที่หนึ่ง

ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น การเมืองภายหลังการเลือกตั้งควรจะต้องออกมาแบบประนีประนอม ให้เสียงของประชาชนมีความหมายจริงๆ

ทำให้กองทัพเห็นว่า ประชาชนสามารถดูแลปกครองตัวเองได้ เพื่อตัดเงื่อนไขที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์เองนั้น ทางออกที่สวยที่สุด

คือการถอยออกจากการเมือง กลับไปเป็นกรรมการกลาง

ฟังคลับคล้ายว่าผู้อภิปรายส่วนใหญ่ ยืนตรงข้ามกับทหาร ยืนตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์

แต่หากลงไปดูเนื้อในรายละเอียด ด้วยใจอันแยบคายหรือ “โยนิโสมนสิการ”

ดังที่คำโบราณบอกไว้ว่า ผู้ชี้จุดอ่อน เท่ากับชี้ขุมทรัพย์ให้

อภิปรายที่ตั้งอยู่บน “ความจริง” ครั้งนี้มีคุณยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image