วิพากษ์เลือกตั้ง62 อนาคตในมือ‘ปชช.’

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม และมีสิ่งที่คู่ขนานกันไป คือการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เป็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะผู้ที่จะโหวตเลือกนายกฯไม่ได้มีแต่ ส.ส. และภายใต้กติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 8 คนที่จะเป็นนายกฯไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.อีกต่อไปแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายชื่อให้ประชาชนทราบก่อน โดยเสนอชื่อได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.วันสุดท้าย คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการรับรองอย่างน้อยร้อยละ 5 ชื่อถึงจะนำมาใช้ได้ ซึ่งหากท่านอาจจะคิดว่านี่คือเรื่องปกติหลังรัฐประหารที่ผู้มีอำนาจต้องให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส.ได้

แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นครั้งแรกที่ทำสำเร็จ มีความพยายามก่อนหน้านี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ 2534 และถูกประท้วงจนต้องถอนอำนาจนี้ทิ้งไป แต่ครั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำสำเร็จ อย่างไรก็ตาม การเลือกนายกฯต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง หากรอบแรกเลือกนายกฯจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ต้องใช้รอบสอง จะมีรอบสอง คือนายกฯคนนอก ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก คือ 500 เสียง ซึ่งเป็นจุดอ่อน เพราะนายกฯคนนอกเป็นของแสลงสำหรับคนไทยจากบทเรียนเมื่อปี 2535 นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงอยากเป็นนายกฯที่มาในรอบแรก จึงอยากขอวิเคราะห์ให้ดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯหรือไม่

ทางเลือกแรก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ ส.ส.เพียง 126 เสียง ซึ่งต่อให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ ส.ส.ไม่ถึง 126 ก็ไม่เป็นเรื่องยากที่จะชวนพรรคอื่นมาร่วม แต่การจะอยู่ในสภาที่มี ส.ส. 500 เสียงจะอยู่ได้อย่างไร เพราะการพิจารณา พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปีจะไม่ผ่าน และจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจในเวลารวดเร็ว ฉะนั้น การที่จะอยู่ได้ต้องมี ส.ส. 250 ที่นั่ง ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า 2 พรรคใหญ่มี ส.ส.เกินครึ่งเสมอ แม้ในคราวนี้ระบบเลือกตั้งจะทอนขนาดของพรรคไป แต่จากการคาดการณ์ของโพลทั้งหลายยังเชื่อว่า 2 พรรคใหญ่จะยังมี ส.ส.รวมได้แค่ 250 ที่นั่ง

Advertisement

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องการเสียงจากพรรคใดพรรคหนึ่งใน 2 พรรคนี้ โดยถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลงเป็นนายกฯ การเมืองไทยจะเข้าสู่ 3 ก๊ก คือ 1.ส.ว. และพรรคเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีเสียงถึง 376 เสียง แต่เมื่อไม่รวม ส.ว.เสียง ส.ส.จะไม่ถึง 250 ที่นั่ง ทำให้อยู่ไม่ได้ 2.พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคเครือข่าย น่าจะไม่ถึง 376 ที่นั่ง และ 3.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็น่าจะมีที่นั่งไม่ถึง 376 ที่นั่ง ดังนั้น การจะเกิดรัฐบาลได้ต้องรวมกัน 2 ก๊ก ซึ่งการรวมกันของพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยคงจะยาก หากพรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ดูน่าจะเป็นไปได้ และถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รวมกันคงจะยากที่สุด

แล้วจะมีเหตุการณ์แบบไหน ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คือต้องทำให้ พรรคพลังประชารัฐ มาที่ 1 แต่หากอันดับ 1 เป็นเพื่อไทย การจะให้พรรคประชาธิปัตย์ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเรื่องยาก แต่หากว่าพรรคเพื่อไทย ได้ที่ 1 และรู้ว่าพรรคที่เหลือรวมกันสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรให้ไม่เป็นฝ่ายค้าน นั่นคือ ให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ แล้วพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นอันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะกลายเป็นนายกฯ ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ จึงต้องได้คะแนนเป็นที่ 1 เท่านั้น

ทั้งนี้ จากโพลคนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์สูงถึง 26.20 เปอร์เซ็นต์ แต่โพลอยากให้คนอื่นเป็นนายกฯกลับมีถึง 74% ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์เชื่อถือโพลจะต้องให้มีตัวเลขถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะน่าลงสมัครเป็นนายกฯ และจากโพลนี้พบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 6.4 ล้านคน และในโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน ถ้าดูจากจำนวนสมาชิกพรรคของแต่ละพรรคจะพบว่า การที่พรรคพลังประชารัฐจะมาเป็นที่ 1 ไม่ใช่เรื่องง่าย จากสถิติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 พบว่า พรรคพลังประชารัฐมีสมาชิกพรรคแค่ 4,200 คน ขณะที่ประชาธิปัตย์ มีสมาชิกกว่า 1.2 แสนคน มากที่สุดแม้จะถูกเซตซีโร่สมาชิก

Advertisement

ผมจึงขอนำคำพูดของซุนวู คือ ต้องชนะตั้งแต่ก่อนเข้าสนาม เพราะโอกาสชนะมีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ พรรคพลังประชารัฐต้องมาที่ 1 และการที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นว่าที่นายกฯ ที่ไม่ใช่นายกฯรักษาการ นั่นหมายถึงอำนาจในการทำอะไรต่ออะไร จะมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรคที่เสนอชื่อท่าน และ คสช.จะกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกันท่านยังเป็นหัวหน้า คสช. ที่สั่งการได้ทุกเรื่องได้เปรียบทุกพรรค และ การเลือก ส.ว.จะถูกตั้งคำถามทันที ว่าทำไมเลือกคนนี้ไม่เลือกคนนั้น เลือกมาเพื่อให้ตัวเองเป็นนายกฯใช่หรือไม่ คำถามจะดังขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอบไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตนเอง ซึ่งดูไปดูมาเห็นแต่ข้อเสีย
ผมจึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ถอยกลับสู่สถานะคนกลาง ที่พูดเรื่องนี้มาทั้งหมด พบว่าจุดเปลี่ยนประเทศไทยจากนี้ยังมองไม่ขาด เพราะยังไม่ทราบปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเมืองก่อนและหลังเลือกตั้ง คือ พล.อ.ประยุทธ์จะลงว่าที่นายกฯหรือไม่ ถ้าลงก็เป็นตามที่ผมบอกไว้ แต่ถ้าไม่ลง คสช.ก็อยู่ในฐานะคนกลาง โดย ส.ว.จะเป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรี

ผมเรียนว่าระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ก็น่าจะเพียงพอแล้ว มี ส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้นมา สามารถคุมให้รัฐบาลทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้น่าจะเพียงพอแล้ว คือถ้าลงแล้วได้เป็นแน่ก็เรื่องหนึ่ง แต่โอกาสได้เป็นก็ลำบากและก่อให้เกิดผลเสียมากมาย

ผมเห็นว่าประชาธิปไตยไทยมีปัญหาเหลือเกิน เลือกตั้งไปก็มีปัญหาอีก ในปี 2555 ประชาธิปไตยของไทยอยู่อันดับที่ 69 ของโลก ปี 2556 อยู่ที่อันดับ 65 และในปี 2557 ไทยอยู่อันดับที่ 63 ซึ่งเป็นอันดับประชาธิปไตยก่อนยึดอำนาจ เหมือนฟุตบอลไทยที่เรามีความหวังแม้จะอยู่ในอันดับที่ 120 แต่ท่านก็มีความหวัง มีกำลังใจ แต่อันดับของประชาธิปไตยของเราดีกว่าฟุตบอล ทำไมถึงไม่เชียร์ แต่ต้องย้ำว่าประชาธิปไตยคือการปกครองตัวเองของประชาชนผู้มีสิทธิ ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองของนักการเมือง ต้องแก้ไขตรงนี้ และหลังจาก 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า เราไม่มีอันดับอีกต่อไป หากเป็นนักศึกษาได้เกรด เอ บี ซี ยังพอมีความหวัง แต่เราให้เด็กคนนี้พักการเรียนมา 5 ปี แล้ว ถึงตอนนี้ควรให้เด็กคนนี้ได้กลับมาอีกครั้ง ครูไม่ต้องมาทำการบ้านให้อีกแล้ว เราหวังว่า 5 ปีที่ผ่านมาคงได้เรียนรู้พอสมควร

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ถอย เพราะถ้าท่านนายกฯลงว่าที่นายกฯ การเมืองไทยจะทำอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวอีก

บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
อดีตกรรมการกำกับนโยบายและรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งเราก็จะเห็นเศรษฐกิจคึกคัก เพราะผู้มีอำนาจจะต้องปิดโปรเจ็กต์ก่อนที่จะหมดอำนาจในการบริหาร แต่ความคึกคักนี้มีต้นทุน ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้งผมขอฟันธงว่า จะเป็นแบบเดิม คือ ศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยแทบจะเติบโตต่ำที่สุดในโลกสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะเศรษฐกิจไทยมีลักษณะที่อ่อนแอ ลักษณะที่อ่อนแอใน 3 รูปแบบ คือ 1.แข็งนอกอ่อนใน หมายถึง เศรษฐกิจภายนอกประเทศดี แต่ภายในยังอ่อนแอ 2.แข็งบนอ่อนล่าง หมายถึงคนชั้นบนก็จะยังมีกำลังสูง แต่คนล่างก็ยังไม่ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจ และ 3.แข็งไม่ถาวร หมายถึงเศรษฐกิจไทยต่อไปนี้โดยรวมก็คือสภาพเศรษฐกิจยังไม่มีความเสถียรภาพ ไม่มีความแน่นอน

ประเทศเรามีปัญหาแรงงานคือ คนหมด วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์มากนัก มีแต่คนห่วย จะเห็นได้ว่าเราล้มเหลวเรื่องการศึกษามาตลอดเวลา ทั้งที่เราควรทุ่มเทให้กับสิ่งเหล่านี้ แต่เรากลับทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปกับสิ่งที่ประสิทธิภาพต่ำ คือ การขยายอำนาจรัฐ ทั้งหมดไม่มีใครตระหนัก และพยายามปฏิรูปด้านนี้เลย ทำแต่ขยายรัฐ ทั้งที่เรื่องนี้ยิ่งทำประเทศก็ยิ่งอ่อนแอลง ที่น่ากลัวที่สุดจะรู้ว่า แผนยุทธศาสตร์ และปฏิรูปประเทศ ที่เราจะต้องถูกบังคับใช้ ยิ่งเป็นรูปแบบการขยายรัฐแบบมโหฬาร เพราะมีข้าราชการ อดีตข้าราชการ คนในรัฐบาลปัจจุบัน และมีนักธุกิจเพียงบางกลุ่มที่ต้องพึ่งพารัฐ เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการ เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เป็นเรื่องแบบนี้จะออกมาเป็นกฎหมายทั้งที่ความจริงเราควรมีแผนที่ยืดหยุ่นได้ แต่ไม่ใช่เป็นกฎหมาย เพราะการออกกฎหมายคือ คุณกำลังจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลเมื่อคุณจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลก็เท่ากับคุณก็จำกัดเสรีภาพของประชาชนไปด้วย

ผมอาจจะมองได้ว่าการออกแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ เกิดจากวิสัยทัศน์ชั่ววูบที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ แล้วเนติบริกรก็เข้าไปทำให้ และวันนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติยังไม่เสร็จ ตัวกฎหมายก็ถูกรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ พอเราไปออกกฎหมายลูก ก็มีการระบุเวลาว่าประเทศไทยต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีคณะกรรมการใหญ่ที่สุด 38 คน กรรมการนี้มีอำนาจมากเหลือเกิน มีอำนาจควบคุมให้รัฐบาลต่อไปทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และถ้าไม่ทำตามก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสิน ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.ไม่น่าจะไปเกี่ยวอะไรกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือคิดอะไรไม่ออกก็ส่งเรื่องให้คนของตัวเองที่สั่งได้ให้ทำหน้าที่ แล้วจะให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ได้อย่างไร ในเมื่อนาฬิกายังหาไม่เจอ

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอที Blognone.com

การเคลื่อนไหวโดยคนรุ่นใหม่ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะที่ไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น เรื่องเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ทั้งโลก เทคโนโลยีที่เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมเดิมๆ คนอาจจะตกงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีนี้ คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้ามาทำงานในสภาอเมริกา เพราะไม่สามารถทนต่อการนำของโดนัล ทรัมป์ ได้

เราเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 เวลาผ่านมา 8 ปีแล้ว คนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้วันนั้นเป็นคนอายุ 10 ขวบเท่านั้น คนเหล่านี้มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน คิดเป็น 12% ซึ่งคนเหล่านี้หากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครบจะมีสิทธิถึงขั้นเสนอชื่อนายกฯได้เลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม วันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่วัยรุ่นส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในนั้น ตอนที่มีการประกาศเลื่อนเลือกตั้งก็เกิดแฮชแท็กแรงมากในทวิตเตอร์ซึ่งถือเป็นท่าทีของคนรุ่นใหม่ต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในทวิตเตอร์ หากอยากเข้าถึงเสียงของคนรุ่นใหม่ ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่อย่าได้มองข้าม ต่อมาคือ ช่องทางยูทูบ ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ต่างจังหวัด และไลน์ ซึ่งข้อความมีลักษณะเป็นไวรัล และไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่ากระจายข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน

ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สร้างข้อจำกัดในการหาเสียงผ่านโซเชียล ผมคิดว่า หากพิจารณาการเสพข่าวของคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้อยู่แต่ในช่องทางโซเชียล เรามีตลาดที่มีความต้องการรับข้อมูลข่าวสารอยู่ ถ้า กกต.จะห้ามไม่ให้มีการหาเสียงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่า เราจะเกิดสงครามตัวแทน เพราะนักการเมืองไม่สามารถพูดโดยตรงได้เพราะกังวลกฎระเบียบต่างๆ ของ กกต. จึงต้องมีตัวแทนเกิดขึ้นเป็นบัญชีที่เอามาไว้พูดแทนนักการเมือง ซึ่งแน่นอนว่า จะมีการส่งข้อความหาเสียงแทน และจะมีการโจมตีฝั่งตรงข้าม ซึ่งในทางการเมืองคงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ จึงอยากฝาก กกต.ให้พิจารณาเรื่องนี้ให้ถ้วนถี่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image