สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ปชต.’ให้อะไรมากกว่าคิด

ถ้าจะให้ทายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตอบรับคำสู่ขอของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมื่อใด
ดูตาม “วัตรปฏิบัติ”
ที่แม้แต่สถานที่ “สู่ขอ” ยังอุตส่าห์ใช้ห้องสีม่วง ทำเนียบรัฐบาล แม้จะมีวงเล็บ (นอกเวลาราชการ)
แต่แสดงว่าอะไรที่เป็นประโยชน์เก็บทุกเม็ด
ดังนั้น จึงทายได้ไม่ยากว่า พล.อ.ประยุทธ์จะให้คำตอบพรรค พปชร.เมื่อใด
ฟันธงไปเลยไม่ 7 หรือก็ 8 กุมภาพันธ์ โน่นแหละ
เพราะหลังจากคำสู่ขอวันที่ 2-7 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีเวลาใช้เวลาอันมีค่านั้น “หาเสียง”
ว่าที่จริงจะใช้คำว่าหาเสียงไม่ได้สิ เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มีการย้ำนักย้ำหนาว่าการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่การหาเสียง
เอาเป็นว่า เป็นการบริหารราชการเพื่อความนิยมก็แล้วกัน

จึงเชื่อว่า ระหว่าง 2-7 กุมภาพันธ์ คงบริหารราชการเพื่อความนิยมกันอุตลุด
ส่วนหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์แล้วจะเป็นอย่างไร
ไม่ยาก ให้ตัดความเห็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม แปะข้างฝาไว้
“หาก พล.อ.ประยุทธ์ยอมให้ใส่ชื่อในบัญชีนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถหาเสียงได้ทั้งในและนอกเวลาราชการ”
ซึ่งก็ชัดเจนนะ
แต่อย่างที่ว่านั่นแหละอาจมีการอ้าง “หมวกนายกรัฐมนตรี” ที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อประชาชนได้อยู่
จึงอาจใช้รูนี้เลื้อยไปเก็บคะแนนนิยม
แต่ก็คงทำบุ่มบ่ามหรือทำตามใจตัวเองไม่ได้

เราถึงได้ยินคำสั่งให้นายวิษณุรวมถึงหน่วยงานกฎหมายของรัฐ ทั้งหลายไปดูข้อกฎหมายว่าอันไหนทำได้   ไม่ได้บ้าง
รวมถึงให้นายวิษณุเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาช่วยให้คำชี้แนะและตีกรอบหน่อยว่าสิ่งไหนทำได้-ไม่ได้
ซึ่งก็ต้องชมจุดยืนของ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ที่ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายวิษณุว่า
“ผมได้ปฏิเสธแล้ว กกต.ไม่รับหารือ เนื่องจากการกระทำผิดบางเรื่องอยู่ในอำนาจ กกต. แต่บางเรื่องอยู่ในอำนาจศาลจะพิจารณา หากมีผู้ร้องต่อศาล ศาลจะวินิจฉัย ดังนั้น กกต.จะไม่วินิจฉัยก่อนจนมีการร้องขึ้นมา เมื่อเคสยังไม่เกิด กติกามันหยุมหยิมมาก รอให้เคสเกิดขึ้นมาค่อยว่ากัน ซึ่ง กกต.มีแนวทางการทำงาน   แบบนี้”
ถือเป็นหลักเป็นการดี

เพราะเกิดไปกำหนดกรอบ แล้วมีใครไปหาประโยชน์ตรงนั้น รับรอง กกต.พัง
รอให้เกิดปัญหาก่อนค่อยว่ากันดีที่สุด
ส่วนประชาชนตาดำๆ จะมีท่าทีอย่างไร
ควรตะโกนบอกนายกฯเป็นกลางหน่อยๆๆ ให้เสียงแหบเสียงแห้งหรือไม่
แนะนำให้ยึดหลัก อาจารย์สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ความเห็นไว้ในข่าวสด ฉบับวันที่ 25 มกราคม ก็ไม่เลว
คือ
“ปล่อยเขาไปเถอะ ประชาชนตัดสินเองว่าเป็นการเอาเปรียบหรือไม่เอาเปรียบ
…คนในรัฐบาลก็อายุขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องไปสอนอะไรแล้ว
…สังคมจะสั่งสอนเอง ตอนไปเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเห็นว่าเอาเปรียบก็จะเสื่อมความนิยมไปเอง ประชาชนก็ไม่เลือก แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเขาก็เทคะแนนให้”
ง่ายๆ งามๆ

Advertisement

คำอธิบาย (ผสมอารมณ์ปูดๆ) เรื่องไม่ลาออกจากนายกฯ เรื่อง 4 รมต. และคำแก้ต่าง ต่างๆ นานานั้น
ให้เชื่ออย่างอาจารย์สุขุมบอกคือ ประชาชนเขาฟังออก และสั่งสอนเองได้
เราถึงเห็นการออกมา “ขอโทษ” และคง “ขอโทษ” กันอีกหลายครั้ง
จึงขอให้เชื่อเถิด การเมือง (ประชาธิปไตย) ให้อะไรมากกว่าที่ (ทหาร) คิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image