เดินหน้าชน : วาระแห่งชาติ วิกฤตฝุ่น

กว่า 1 เดือนแล้วที่กรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล เผชิญกับวิกฤตฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 คราวก่อนที่เขียนถึงเรื่องนี้ยังคิดว่าช่วงปลายเดือนมกราคมสถานการณ์น่าจะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ

ถึงตอนนี้แล้วยังไม่มีหน่วยงานไหนที่จะออกมายืนยันว่าวิกฤตฝุ่นจะสิ้นสุดลงเมื่อไร

การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑลทำได้เพียงออกมาตรการระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าเท่านั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบ

ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นโดยตรงและกินระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อทุกอย่างยังไม่คลี่คลายย่อมเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

วิกฤตฝุ่นที่เกิดขึ้นคราวนี้มีข้อเสนอมากมายจากทั้งพรรคการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนและระยะยาว

ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและ           สิ่งแวดล้อม นิด้า เสนอว่า อาจต้องทำแบบจีน ที่ในเขตพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหรืออุทยานแห่งชาติ ใช้ค่ามาตรฐานรายวัน 35 มคก./ลบ.ม. พื้นที่อุตสาหกรรมใช้ 75 มคก./ลบ.ม. ส่วนมาตรการรถทะเบียนเลขคู่เลขคี่ ควรเน้นเฉพาะเขตกรุงเทพฯชั้นใน และอย่าบังคับใช้ทุกวัน ให้ใช้เฉพาะช่วงเกิดวิกฤตเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยแถลงเสนอ 6 มาตรการ เช่น สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าโดยการลดภาษี ลดจำนวนรถยนต์ดีเซลที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจภายในปี 2020 ศึกษาการสร้างหอคอยเพื่อฟอกอากาศ 4 มุมเมือง

Advertisement

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบาย “อากาศสะอาด” เพื่อมุ่งเป้าลดฝุ่น PM2.5 อย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน เช่น เสนอรัฐบาลควรจะกระจายหน้ากากให้ประชาชนได้ทั่วถึง การยกระดับยานยนต์เพื่อลดมลพิษ เปลี่ยนระบบเครื่องยนต์ดีเซล ของรถยนต์ รถบรรทุก รถโดยสารประจําทาง และรถขนส่งมวลชนสาธารณะ ทุกประเภทและทุกคันเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่เผชิญกับวิกฤตฝุ่นเช่นเดียวกับไทย

อย่างเช่นที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย ออกมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ของประชาชนที่ออกมาวิ่งบนถนน อนุญาตให้วิ่งในวันและเวลาที่กำหนด สั่งห้ามใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่

ญี่ปุ่นมีการคุมเข้มปล่อยก๊าซพิษจากเครื่องยนต์ การพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องยนต์เผาไหม้สมบูรณ์ กำหนดให้ตรวจสภาพรถยนต์ทุกปีอย่างเข้มงวด

เมืองปารีส ฝรั่งเศส ห้ามรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1997 เข้าไปในใจกลางเมืองช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 08.00-20.00 น. มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ลอนดอน อังกฤษ เพิ่มสายรถประจำทางและขบวนตู้รถโดยสารใต้ดิน เพื่อรองรับการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะของประชาชน ลดการเผาเชื้อเพลิงทั้งไม้และถ่านหิน

ส่วนประเทศจีนที่เผชิญกับปัญหานี้ค่อนข้างมาก ใช้มาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสลับรถวิ่งบนท้องถนน วันคู่ วันคี่ ตามเลขทะเบียนที่ลงท้าย หนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของการแก้ไขวิกฤตฝุ่นในต่างประเทศที่มีการวางแผน กำหนดมาตรการอย่างจริงจัง

ในขณะที่บ้านเราหากไม่เกิดวิกฤตรอบนี้คงไม่เห็นความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ

ปัญหาวิกฤตฝุ่นจิ๋วที่เกิดบ่อยขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป

ถึงเวลาที่ควรต้องหยิบยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อวางแผนแก้ไขในระยะยาวกันต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image