เปิดพงศาวดาร ใครคือ ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ ? หลังผู้สมัคร ส.ส. อุตรดิตถ์ ขี่ม้าไปกกต.บอกเป็น ‘ทหารเอกพระยาพิชัย’

เป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่ง เมื่อนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ผู้สมัคร ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย แต่งกายด้วยชุดนักรบโบราณ ทหารเอกของพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในมือข้างขวาถือดาบเหล็ก ขี่ม้าสีน้ำตาล เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ต.งิ้วงาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ สถานที่เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต

โดยระบุว่าพระยาพิชัยดาบหักเป็นนักต่อสู้ พี่น้องชาวอุตรดิตถ์เดือดร้อนแสนสาหัส ท่านพ่อพระยาพิชัยคงอยากจะต่อสู้เพื่อให้ประชาชนคนอุตรดิตถ์และคนไทยทั้งประเทศ

‘มติชนออนไลน์’ ได้รวบทั้งเรื่องเล่า และหลักฐานเกี่ยวกับพระยาพิชัยดาบหัก มาให้อ่านกันคร่าวๆ ดังนี้

พระยาพิชัยดาบหัก คือขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลายสืบเนื่องมาถึงกรุงธนบุรี เป็นทหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก และได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ

Advertisement

ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

พิธีสมโภชอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อ พ.ศ. 2513

พระยาพิชัยดาบหัก มีชื่อปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารเพียงไม่กี่ครั้ง หนึ่งในนั้นคือคราวที่พระยาตาก นำทหารกล้าแหกค่ายออกจากกรุงศรีอยุธยา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่งว่า

“จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ กับทั้งนายทหารผู้ใหญ่คือพระเชียงเงินหนึ่ง หลวงพรหมเสนาหนึ่ง หลวงพิชัยอาสาหนึ่ง หลวงราชเสน่หาหนึ่ง ขุนอภัยภักดีหนึ่ง เป็นห้านาย กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคน จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติชมิวเซียมกลับระบุว่าเป็น “หลวงพิชัยราชา” ไม่ใช่ “หลวงพิชัยอาสา” ซึ่งพระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ผู้เรียบเรียงประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ระบุว่า เป็นตำแหน่งของพระยาพิชัยดาบหักเมื่อแรกเข้ารับใช้พระยาตาก

ความตอนเดียวกันในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า

“จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธต่างๆ แลประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา แล้วยกออกไปตั้ง ณ วัดพิชัยอันเป็นที่มงคลมหาสถาน”

ส่วนความเป็นไปได้ที่ “หลวงพิชัยอาสา” กับ “หลวงพิชัยราชา” จะเป็นคนเดียวกันนั้น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากยอมรับเรื่องรับตามประวัติที่เรียบเรียงโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดี

ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า ราชทินนาม “พิชัยราชา” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วน “พิชัยอาสา” ปรากฏหลักฐานอยู่ที่เดียวว่าอาจเคยใช้ในยุคกรุงธนบุรีและหมายถึงเจ้าเมืองพิชัยหลัง พ.ศ. 2313 และเหตุที่หลวงพิชัยราชาจะเป็น พระยาดาบหักมิได้นั้น มีคำอธิบายว่า

“แต่มีหลักฐานที่ส่อให้เห็นว่าหลวงพิชัยราชาที่ออกจากกรุงพร้อมพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จะเป็นพระยาพิชัยดาบหักไม่ได้ (หากยอมรับเค้าของประวัติพระยาพิชัยดาบหักตามที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีเล่า) เพราะหลวงพิชัยราชาผู้นี้เป็นจีนดังที่กล่าวไว้ชัดเจนในพระราชพงศาวดารตอนรบกับเหล่าร้ายที่เมืองระยอง”

การเปลี่ยน “พิชัยราชา” เป็น “พิชัยอาสา” จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื่อว่า พระยาพิชัยดาบหักเป็นขุนพลคนสนิทที่ร่วมกับพระเจ้าตากในการกอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ต้น

แต่เมื่อปรากฏความไม่สอดคล้องกันในตอนนี้จึงน่าสงสัยว่า พระยาพิชัยดาบหักซึ่งน่าจะเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญท่านหนึ่งในราชการสมัยกรุงธนบุรี แต่จะเริ่มมีบทบาทตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระยาตากรวบรวมไพร่พลตีฝ่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเลยหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่

ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image