นักวิชาการ ฉะ ‘สภาแต่งตั้ง’ ผลงานน่าผิดหวัง-ไร้ความชอบธรรม จี้ยุติทำงาน

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนาวิชาการ “ก้าวสู่ปีที่ห้า ‘สภาแต่งตั้ง’ ประชาชนได้อะไร?” น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า 4 ปีกว่าของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี 2 เรื่องคือ ลักษณะการทำงานนั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าสภาแต่งตั้ง และองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นทหาร ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางคนรู้สึกว่าต้องทำงานแบบนี้ คือทำงานเพื่อประโยชน์ ผลักดันวาระต่าๆ ของ สคช. ตนมีข้อสังเกตบางส่วนคือ เมื่อพูดถึงการแต่งตั้ง คำว่า “แต่งตั้ง” แปลว่า โดยปกติ ก่อนเข้ามาทำงาน สนช. ทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว นี่อาจเป็นงานที่สอง เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจน ยากต่อการอธิบายกับสังคมว่าผลประโยชน์เป็นไปเพื่อส่วนรวมจริงๆ นอกจากนี้ยังเห็นว่าหลายคนไม่มีวินัย ขาดประชุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่ขาดสมาชิกภาพ แทนที่จะว่าตามเนื้อผ้า กลับแก้ข้อบังคับ ทำให้ยื่นใบลากี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เป็นไร ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรซึ่งไม่ใช่ สนช.ก็ได้ แต่องค์กรอะไรก็ตามไม่ควรจะเกิดขึ้น แม้จะเห็นชัดว่าเป็นเรื่องการไม่ทำหน้าที่ แทนที่จะแก้ไขปัญหา แต่กลับช่วยเหลือพวกพ้อง จริงๆ สภาแต่งตั้งน่าผิดหวัง สามารถทำในสิ่งที่ควรทำได้ แต่ไม่ทำ

“เรื่องกระบวนการออกกฎหมายนั้น มีข้อสังเกตว่ากระบวนการไม่โปร่งใสค่อนข้างมาก ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว บางมาตรา อาทิ มาตรา 77 ระบุว่าให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แม้จะมีเว็บไซต์เพื่อรับฟังก็ตาม แต่ส่วนที่ตนเองเคยร่วมรับฟังความคิดเห็นใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กระบวนการรับฟังคือให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐมาพูดนานเป็นชั่วโมง แล้วเปิดเวลาช่วงท้ายไม่กี่นาทีให้เป็นช่วงเวลารับฟัง ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงออกกฎหมายเหล่านี้ มองว่าเป็นปัญหาพอสมควร พ.ร.บ.คอมพ์ก็ใช้ปิดปากต่อไป ตลอดจนการแสดงความเห็นในเว็บไซต์นั้น ไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่เราใส่ความเห็นไปจะถูกนำไปรับฟังหรือพิจารณาจริงๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการที่รู้สึกว่าเป็นการรับฟังข้างเดียว

“เมื่อกระบวนการเป็นแบบนี้ ไม่น่าแปกใจที่กฎหมายหลายฉบับออกมาแล้วเป็นปัญหา นอกจากนี้ หากไปดูกฎหมายที่ถกเถียง ตั้งกระทู้ถามกันบ้างนั้น ผลคะแนนที่ออกมา สุดท้ายจะสังเกตว่าเสียงที่ไม่ใช่เสียงเห็นชอบ หลายฉบับมักงดออกเสียง แสดงถึงความเกรงใจ ทั้งหมดนี้ตอกย้ำความเป็นอะไรที่ไม่ใช่แค่สภาแต่งตั้ง  แต่เป็นสภาแต่งตั้งที่ทำงานในทิศทางเดียวกันมาก และแทบจะไม่ค่อยให้ความสำคัญของวาระจริงๆ ของประชาชน”

Advertisement

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติ แต่ถูกทำให้เป็นปกติ เวลาพูดถึงอำนาจนิติบัญญัติ การออกกฎหมายสำคัญ ทำไมเราต้องเชื่อฟัง หากในภาวะปกติหรือเป็นเสรีธิปไตย แน่นอนว่าเชิงอุดมการณ์ แนวคิด จะตอบว่าคนที่ออกกฎหมายมีสายสัมพันธ์โยงใยกับเรา ดังนั้น เวลาบอกว่าคน 500 คน ไปเขียนอะไรออกมา จึงไม่ได้เป็นเพียง 500 คน แต่เป็นภาพสะท้อน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปสู่ประชาชนทั้งหมดในสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่านิติบัญญัติในสังคมสมัยใหม่ สังคมที่เป็นเสรีธิปไตย หลักการพื้นฐานคือยังไงก็ต้องสัมพันธ์กับประชาชน ดังนั้น องค์กรนิติบัญญัติที่สัมพันธ์กับประชาชน มาจากกลไกหลากหลาย ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องปกติมากๆ แต่สังคมไทยในตอนนี้คืออำนาจนิติบัญญัตินอกระบบ อำนาจนิติบัญญัติเถื่อน เป็นองค์กรที่ไม่มีความชอบธรรม

รศ.สมชายกล่าวต่อว่า ประเทศไทยหลังการรัฐประหาร มีการตั้งองค์กรนิติบัญญัติเถื่อน เพราะไม่มีที่มาที่ไป ในอดีตอย่างน้อยย้อนหลังไปกว่า 40 ปี ไม่เคยมีองค์กรนิติบัญญัติประเภทนี้ ซึ่งทำงานอย่างขยันขันแข็ง นี่เป็นชุดแรกที่ทำงานอย่างยาวนานและมีผลงานจำนวนมาก นี่คือภาวะไม่ปกติ ทั้งนี้ อำนาจนิติบัญญัตินอกระบบนั้น หากมองในภาพรวมจะพบปัญหา 3 เรื่อง คือ 1.ที่มาของคนที่เป็น สนช.มีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดคือเชียร์ หรือไม่ก็ช่วย คสช. ดังนั้น สนช.จึงเป็นที่รวมตัวแทนรัฐราชการ รวมศูนย์ คร่ำครึ จึงไม่แปลกใจที่เมื่อกฎหมายซึ่งเข้าไปในสภาจะมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน เพราะคนกลุ่มนี้มีมุมมองต่อสังคม ต่อความเจริญ ความก้าวหน้าในแบบเดียวกัน 2.ลักษณะของกฎหมายที่เขียนขึ้น 380 ฉบับ มีสองแบบใหญ่ๆ คือ หนึ่ง เน้นการขยายอำนาจรัฐ หนุนธุรกิจอุตสาหกรรม จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เพียงแค่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฉบับเดียวก็เห็นภาพชัดเจน สอง เอื้อประโยชน์แก่เครือข่าย อาทิ การขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง และ 3.การทำงานของ สนช.คือการทำในสิ่งที่คนที่อยู่ใน สนช.จำนวนมากเคยประณาม เช่น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ความไม่โปร่งใส เมื่อถึงช่วงเวลาที่ตนเป็น สนช.ก็ทำในสิ่งที่เคยประณาม โดยสรุปคือ ขี้งก ขี้เกียจ ขี้ฉ้อ รวมทั้งกึ่งๆ ขี้ข้า

“ถามว่าเราจะเผชิญกับภาวการณ์แบบนี้ต่อไปอย่างไร เพราะการที่ สนช.เห็นชอบกฎหมายแล้ว 380 ฉบับ ถ้าเดินตามแนวทางปกติคือแก้ทีละฉบับ ดังนั้น การแก้หลายร้อยฉบับนี้ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ไม่ต้องคิดเรื่องออกกฎหมายใหม่ แก้สิ่งที่มีอยู่อย่างเดียว นี่คือเรื่องใหญ่ของสังคมไทยหลังการเรื่องตั้ง เป็นประเด็นที่ต้องผลักดันหรือพูดกันอีกแบบ เพราะการแก้ทีละฉบับไม่สามารถทำให้เกิดผลจริงได้ อย่างไรก็ตาม สนช.พึงตระหนักว่าตัวเองไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่ที่มา กฎหมายที่เขียนขึ้น ลักษณะการทำงานที่ประจักษ์ชัด ผมคิดว่าเมื่อตอนนี้มีการประกาศชัดเจนว่ามีการเลือกตั้ง สนช.ควรต้องหยุดการทำงานได้แล้ว และสิ่งที่อาจต้องคิดต่อเนื่องคือ บรรดาที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเครือข่ายและได้รับประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งไม่ควรได้ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้อาจต้องทวงคืนทรัพย์สินของประชาชนที่ สนช.ได้ไปโดยมิชอบ ไม่ปล่อยให้วายร้ายหลับสบาย” รศ.สมชายกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image