ลีลา การเมือง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เป้า การเมือง

ปัญหาที่มีการแยกแตกตัวจากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคประชาชาติ เป็นพรรคไทยรักษาชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อชาติ ทำให้ปัญหา “ยุทธวิธี” มีความสำคัญ

พรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา อาจไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

แม้จะรู้สึกอึดอัด คับข้อง จากโครงสร้างของการเลือกตั้งอันกำหนดและบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ตาม

Advertisement

แต่กล่าวสำหรับพรรคเพื่อไทยมีความจำเป็น

เพราะพรรคเพื่อไทยคือ “อวตาร” ของพรรคพลังประชาชน ขณะที่พรรคพลังประชาชนคือ “อวตาร” ของพรรคไทยรักไทย

หากพรรคเพื่อไทยต้องการเอาชนะ “คสช.” ก็จำต้องกำหนด “ยุทธวิธี” ที่เหมาะสม

Advertisement

ตรงนี้แหละที่ “ยุทธวิธี” มีความสำคัญ เพราะหากไม่มียุทธวิธีที่ดีหรือเหมาะสมกับสภาพก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะบรรลุ “ยุทธศาสตร์” ที่วางเอาไว้

ต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ คือ เป้าหมายที่จะก้าวไป ขณะที่ยุทธวิธีคือกระบวนการหรือรูปแบบที่จะนำไปสู่ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย คือ เอาชนะ “คสช.”

จุดตรงนี้เองที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแตกต่างไปจากพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

บางพรรคการเมืองอาจต้องการเพื่อสนับสนุน คสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสานต่อนโยบาย

บางพรรคการเมืองต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

แต่พรรคเพื่อไทยแจ่มชัดว่าต้องการเอาชนะ คสช. ไม่ต้องการให้ คสช.ได้สืบทอดอำนาจ ต้องการยุติบทบาทของ คสช. และโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยุทธศาสตร์เป็นเช่นนี้ ยุทธวิธีจะเป็นเช่นใด

แท้จริงแล้ว การแยกและแตกตัวพรรคเพื่อไทยไปเป็นพรรคประชาชาติ ไปเป็นพรรคไทยรักษาชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อชาติ

นั่นก็คือ กระบวนการในทาง “ยุทธวิธี”

เพราะตระหนักว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ร่างมาเพื่อมัดตราสังมิให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นเหมือนกับที่พรรคไทยรักไทยเคยเป็น

เป็นเหมือนกับที่พรรคพลังประชาชนเคยได้เมื่อปี 2550 พรรคเพื่อไทยเคยได้เมื่อปี 2554

การแก้เกมนี้จึงไม่ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยต่อสู้แบบเทิ่งๆ ตรงกันข้าม มีความจำเป็นที่จะต้องแยกกันเดิน เพื่อกระจายความเสี่ยง

จุดร่วมอย่างสำคัญก็คือ กำหนด “ยุทธศาสตร์” เดียวกัน

จุดต่างอย่างสำคัญก็คือ สรุปบทเรียนจากชัยชนะของพรรคไทยรักไทย และของพรรคพลังประชาชน ขณะเดียวกัน ก็คิด “ยุทธวิธี” ที่เหมาะสม

แต่ละ “ยุทธวิธี” ก็เพื่อ “ยุทธศาสตร์” เดียวกัน

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์และเป้าหมายต่างหากคือแก่นแกนอย่างแท้จริง ขณะที่ยุทธวิธีสามารถยืดหยุ่นและพลิกแพลงได้

ตามความเหมาะสมของ “กาละ” และ “เทศะ”

หากดูรายละเอียดและทิศทางของพรรคเพื่อไทยเปรียบเทียบกับพรรคประชาชาติและกับพรรคไทยรักษาชาติก็จะสัมผัสได้ในลักษณะต่างและลักษณะร่วม

คำตอบอยู่ที่เดือนมีนาคมว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image