เบรนทอล์ก : 1 สิทธิ 1 เสียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 24 มีนาคม มีวิธีการเลือกตั้งแปลกไปจากการเลือกตั้งแบบเดิม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคน อีกใบหนึ่งเลือกพรรค อีกทั้งยังเป็นเขตเดียว เบอร์เดียวกันทั่วทั้งประเทศ ทำให้การเลือกตั้งเข้าใจง่าย และสามารถเลือกคนที่รักแล้วก็ยังเลือกพรรคที่โดนใจได้อีกด้วย

ซึ่งในการเลือกตั้งในปี 2551 และ 2554 แม้ในเขตใดไม่มีผู้สมัครของพรรคการเมืองส่งลงสมัคร แต่ก็ยังสามารถได้รับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากคนที่กาให้พรรคการเมือง โดยอีกใบกาให้ผู้สมัครพรรคอื่นในการเลือก ส.ส.เขตได้ ทำให้มีการแบ่งแยกคะแนนชัดเจน และเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนนอกจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคะแนนมาอันดับ 1 และอันดับ 2 โดยพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 204 ที่ได้คะแนนพรรค 15,752,470 คะแนน ปาร์ตี้ลิสต์ 61 ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ทั้งหมด 265 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขต 115 ที่ ได้คะแนนพรรค 11,435,640 คะแนน ทำให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 44 ที่นั่ง

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย พรรคที่มาลำดับที่ 3 ได้ ส.ส.เขต 29 ที่ แต่กลับได้คะแนนพรรคเพียง 1,281,652 คะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น

Advertisement

แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งในปี 2554 ประชาชนยังคงกาบัตรเล็กให้คนที่รัก แล้วกาบัตรใหญ่ให้พรรคที่ชอบมากกว่า

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ลงคะแนนในบัตรเดียว ไม่แยกบัตรเหมือนครั้งก่อน อีกทั้งแต่ละเขตทั้ง 350 เขต ยังเป็นคนละพรรค คนละเบอร์ สร้างความสับสนให้ประชาชนเป็นอย่างมาก และเป็นหน้าที่ของผู้สมัครแต่ละเขตที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ตัวเองไม่สับสนหมายเลขกับเขตข้างเคียง

นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ให้สิทธิเลือกตั้งอีกว่า หากพรรคการเมืองใดไม่ส่งผู้สมัครในเขตนั้นก็จะไม่ได้คะแนนให้กับพรรคการเมืองนั้นๆ เพราะจะไม่มีชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้ง เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็จะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบเช่นกัน

Advertisement

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกคะแนนมีความสำคัญนอกจากเลือก ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วยังเป็นการเลือกนายกฯไปในตัวด้วย ชนิด 3 in 1

และหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมแล้ว ยังต้องมาลุ้นอีกว่าใครจะได้เป็นนายกฯ เพราะเดิมคือพรรคที่ได้เสียงข้างมากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อนายกฯ

แต่ในครั้งนี้รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลออกแบบให้ ส.ว.มีส่วนในการยกมือโหวตนายกฯ

โดยให้พรรคที่มี ส.ส.เกิน 25 เสียง เสนอชื่อนายกฯได้ โดยมี ส.ส. 50 คน รับรองการเสนอชื่อ และจะต้องมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. และ ส.ว.ให้การสนับสนุน เพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสียงทั้งหมดจะต้องเกิน 376 เสียง

ทว่าเดิมรัฐธรรมนูญถูกออกแบบไว้เพื่อให้ ส.ว.ยกมือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องมาดูกันว่า ส.ว.จะยกมืออย่างไร

#เข้าสู่โหมตการเมืองที่มันหยด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image