Brain Talk : Electoral Quata

หากเราย้อนกลับไปในอดีต เราจะมองเห็นความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นมากมายในประวัติศาสตร์การเมือง ยกตัวอย่าง เรื่องเพศชายหรือหญิงก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก ความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกในทุกสังคม ในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพก็ต้องผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางอัตลักษณ์ขึ้นในสังคม ความพยายามในการสร้างความเป็นธรรม จากการต่อสู้เรานี่เองจึงนำมาซึ่งระบบโควต้าเพื่อความสมดุลทางอัตลักษณ์
แนวคิดนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร มันคือความพยายามให้มีผู้หญิง คนชายขอบ คนด้อยโอกาส ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มอาชีพอย่างเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน หรือในปัจจุบัน ที่จะมีการเกิดขึ้นของกลุ่มอัตลักษณ์ใหม่ เช่น กลุ่มเพศสภาพต่างๆ เข้าไปเป็นตัวแทนในระบบการเมือง ให้คนเหล่านี้มีตำแหน่งทางการเมืองตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีคนกลุ่มใดถูกหลงลืม

สำหรับระบบโควต้าที่เราคุ้นชินกันมากที่สุด คือ ระบบโควต้าเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงและผู้ชายสามารถได้รับการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง หรือโดยความสมัครใจของพรรคการเมืองเอง ซึ่งวิธีการให้โควต้าก็ทำได้หลายวิธี เช่น การกำหนดจำนวนขั้นต่ำที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง เช่น ร้อยละ 30 หรือร้อยละ 50 เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีกำหนดจำนวนที่นั่งของผู้หญิงในสภาอย่างชัดเจน โดยทั่วไปจำนวนโควต้าสำหรับผู้หญิงจะกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30 ถึง 40 หรือในบางประเทศอาจสูงถึงร้อยละ 50

การทำงานของระบบโควต้า กำหนดได้ทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เช่น มีการกำหนดโควต้าก็ต้องมีตัวแทนเป็นผู้หญิงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างในฝรั่งเศสกำหนดไว้ ร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 33

ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้มากที่สุด มีสัดส่วน ส.ส.ที่เป็นผู้หญิงสูงสุด โดยในปี ค.ศ.1999-2003 สัดส่วนผู้หญิงในสภาของอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมาย กำหนดให้ผู้สมัครอย่างน้อย 1 ในทุกๆ 3 คนหรือร้อยละ 30 ต้องเป็นผู้หญิง ส่งผลให้การเลือกตั้งในปี ค.ศ.2009 มีสัดส่วนผู้หญิงในสภาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และล่าสุดในปี ค.ศ.2017 สัดส่วนผู้หญิงในสภาของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8

Advertisement

สำหรับประเทศไทย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รวบรวมตัวเลขไว้ว่า สัดส่วนผู้หญิงในสภาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 อยู่ที่ร้อยละ 15.8 มีจำนวน ส.ส. 79 คน จากจำนวนทั้งหมด 500 คน ซึ่ง ส.ส.หญิงเหล่านั้น หากดูตามสังกัดพรรคการเมือง พบว่ามาจากระบบเขตมากกว่ามาจากระบบสัดส่วน รศ.ดร.สิริพรรณชี้ว่าจากข้อเท็จจริงนี้ เป็นเพราะโครงสร้างการแข่งขันเลือกตั้งในระบบเขตของไทยมีฐานเสียงที่แอบอิงจากระบบครอบครัวและเครือข่ายญาติพี่น้องเป็นการเมืองของสายตระกูลจนมีอิทธิพลต่อชัยชนะ รวมถึงการเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554 นักการเมืองจำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิ จึงส่งคนในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงมาลง

ในปัจจุบันไทยจัดว่ามีผู้หญิงในสภานิติบัญญัติสัดส่วนต่ำระดับท้ายของโลก ต่ำสุดในอาเซียน การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ครั้ง มีมาตรา 90 กำหนดให้การจัดทำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ซึ่งการกำหนดดังกล่าวก็ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เราก็ได้เห็นหลายพรรคการเมืองสนใจเรื่องนี้ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่แบ่งสัดส่วนเพื่อความเสมอภาคของบัญชีรายชื่อ โดยแบ่งเป็นชาย 75 คน หญิง 75 คน เริ่มต้นจากลำดับที่ 1 หัวหน้าพรรค ลำดับที่ 2 เป็นผู้หญิง ซึ่งจะเป็นการสลับชื่อชาย-หญิง หรือพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้เห็นบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ เป็นผู้หญิงหลายคน จากหลากหลายวงการ เป็นต้น

(ดูเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image