รายงาน เปิดพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กกต.ยื่นศาลรธน.ยุบ‘ทษช.’?

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่รับการเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เนื่องจากขัดกับพระราชโองการ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีใจความสรุปว่า “พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

แต่กระบวนการยังไม่จบสิ้น เมื่อที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีพรรค ทษช.มีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคล เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวนหนึ่งรายชื่อ และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92

โดย กกต.ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นตัวแทน กกต.เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และดำเนินคดี ตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแทน กกต.

ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของ กกต.ไว้ในทางธุรการ และอยู่ระหว่างการตรวจคำร้องโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องดังกล่าว ต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ต่อไป

Advertisement

สำหรับขั้นตอนและกรอบเวลาในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีคำร้องยื่นยุบพรรค ทษช.นั้น ขั้นตอนแรก 1.เมื่อได้รับคำร้อง ศาลจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว 2.เมื่อศาลรับคำร้องศาลจะแจ้งคำร้องไปยังพรรคที่ถูกร้อง 3.ศาลจะให้พรรคดังกล่าวชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นเอกสาร ภายใน 15 วัน 4.ศาลนัดไต่สวนพยาน 5.หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอก็สามารถวินิจฉัยคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน 6.ตุลาการศาลนัดประชุมทำคำวินิจฉัยส่วนตนและแถลงคดีด้วยวาจา ต่อที่ประชุม 7.ที่ประชุมองค์คณะตุลาการลงมติวินิจฉัย และ 8.องค์คณะตุลาการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย

ส่วนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง อย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ในหมวด 8 เกี่ยวกับการสิ้นสุดของพรรคการเมือง มาตรา 90 ระบุว่า พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ (1) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 (2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92

โดยมาตรา 92 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

Advertisement

(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 93 เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทําการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด

ในการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคําร้องเองหรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคําร้องและดําเนินคดีแทนก็ได้และเพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดีนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดําเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้

ในกรณีที่เห็นสมควรศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทําใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคําร้องขอของคณะกรรมการนายทะเบียนหรืออัยการสูงสุดแล้วแต่กรณีก็ได้

ขณะที่มาตรา 94 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้วให้นายทะเบียนประกาศคําสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษาและห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำหรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ

แต่ประเด็นที่ต้องจับตาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีหากศาลมีคำสั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

ซึ่งการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “ใบดำ” นั้นกฎหมายไม่ได้เขียนระยะเวลาเอาไว้ว่านานเพียงใด ขณะเดียวกันก็ถูกกำหนดเป็นลักษณะต้องห้าม ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ และกรรมการองค์กรอิสระ

ดังนั้น ถ้าหากคณะกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมหมายความว่า ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมือง หรือกรรมการองค์กรอิสระได้ตลอดไป

ส่วนผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในช่วงก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image