ย้อนรอย ‘ยึดทำเนียบ’ จำคุก 6 แกนนำพธม.

ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 8 เดือน 6 เเกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย หากพิจารณาจากคำตัดสินของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ สั่งให้จำคุกจำเลยไม่รอลงอาญาทั้ง 2 ศาล

สำหรับคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี อดีตแกนนำ พธม. และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปีอดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก โดยกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365 ประกอบมาตรา 83

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่ม พธม. ซึ่งมีจำเลยเป็นแกนนำ ได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังทำเนียบรัฐบาล และกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2551 แกนนำพธม.และผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ทำลายกุญแจประตูทำเนียบและแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แกนนำและผู้ชุมนุม พธม.ได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวาง แล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำ พธม.ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยท่ามกลางผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับเสียหาย และยังทำให้ระบบสปริงเกลอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ได้รับความเสียหาย รวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท

Advertisement

แกนนำ พธม.ทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เเละมีการนำพยานขึ้นสู้คดีในชั้นพิจารณา

จนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 ซึ่งผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานบุกรุกสถานที่ราชการจำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 โดยจำคุกคนละ 2 ปี สำหรับนายสนธิให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.1241/2550 (จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นประมาท) ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดง อ.5068/2550 (จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยสนามหลวง เมื่อปี 2549 หมิ่นอดีตนายกฯทักษิณ), อ.2765/2553 (รอลงอาญา 2 ปี คดีจัดรายการเมื่อปี 2550 หมิ่นประมาท), อ.524/2555 (จำคุก 20 ปี คดีผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535)

ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้ง 6 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้ง 6 มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งสนามหญ้าระบบรดน้ำต้นไม้และระบบไฟฟ้าในสนามด้วย ให้จำคุกคนละ 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้คนละ 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ซึ่งนอกจากที่แก้ก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Advertisement

ภายหลังจำเลยทั้งหกได้ยื่นฎีกา โดยที่จำเลยทุกคนได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ยกเว้นนายสนธิ อดีตแกนนำคนสำคัญ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมจากโทษ 20 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมข้อเท็จจริงเบื้องต้น รับฟังได้ว่ากลุ่ม พธม.ได้ทำการชุมนุมมีนายสุริยะใสเป็นผู้ประสานงานจัดปราศรัยชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกรณีที่ไม่เห็นชอบรัฐบาลนายสมัคร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้ย้ายการชุมนุมไปที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ผู้ชุมนุมได้รวมตัวรอบทำเนียบรัฐบาลมีผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล บางส่วนร่วมกันผลักดันแผงเหล็กที่ปิดกั้นฝั่งถนนนครปฐม และกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ตั้งเวทีปราศรัยร่วมชุมนุมกันที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยแกนนำทั้ง 6 กับผู้ชุมนุมร่วมกันผลัดเปลี่ยนขึ้นพูดปราศรัย มีการพักค้างแรมในทำเนียบรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งผู้ชุมนุมและแกนนำทั้ง 6 เข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 โดยปีนรั้วและตัดโซ่คล้องกุญแจออก จากนั้นพักค้างแรมตั้งเวทีปราศรัยในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 จนถึงวันที่พวกจำเลยออกไปจากทำเนียบรัฐบาล โดยตลอดเวลาที่ชุมนุมทำให้ทรัพย์สินของราชการและผู้อื่นเสียหาย เเละยังมีกลุ่มรักษาความปลอดภัยที่เรียกชื่อนักรบศรีวิชัย ควบคุมพื้นที่การชุมนุมและประตูทำเนียบไว้

การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แกนนำ พธม.ทั้งหกบุกรุกเข้าไปในทำเนียบนั้นจึงชอบแล้ว หลังยุติการชุมนุมปรากฏความเสียหายที่เป็นความเสียหายอันเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จึงชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษแกนนำทั้ง 6 คนละ 8 เดือนโดยไม่รอการลงโทษ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาจำคุกของศาลฎีกานี้ส่งผลให้นายสุริยะใส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ลำดับที่ 7 และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 (6) และแม้จะพ้นโทษแล้วก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามมาตรา 98 (7)

สำหรับส่วนคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ พธม. ได้แก่ คดีอาญาหมายเลขดำ อ.973/2556 หรือคดียึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตแกนนำและแนวร่วม พธม. เป็นจำเลยรวม 98 ราย ยังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำ พ.6453, 6474/2551 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาถึงที่สุดให้อดีตแกนนำและแนวร่วม พธม. 13 ราย ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 522 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีคดีอาญาหมายเลขดำ อ.3973/2558 หรือคดีชุมนุมดาวกระจาย ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตแกนนำและแนวร่วม พธม. เป็นจำเลยรวม 9 ราย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562

และคดีอาญาหมายเลขดำ อ.3881/2559 หรือคดีล้อมรัฐสภาวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่4 มีนาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image