นักวิชาการ ชี้หากยุบ ทษช. พรรคแบบไหนได้เปรียบ

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า หากมีการตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต้องดูว่าเกิดขึ้นช่วงใด หากยุบก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หมายความว่าผู้สมัคร ส.ส.ในพรรคไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส.ได้ เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองสังกัด ผู้สมัครของ ทษช.ในพื้นที่ใดก็ตาม ถ้าประชาชนกาเลือกจะกลายเป็นบัตรเสียทันที อาจนำไปสู่การจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครจาก ทษช.ได้รับชัยชนะ แต่หากยุบพรรคหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน

นายยุทธพรกล่าวว่า สำหรับกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ต้องดูว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความไปถึงจุดไหน หากเป็นการยุบพรรค แต่ไม่ได้ลงโทษกรรมการบริหารพรรค คงไม่มีอะไร หากสั่งยุบพรรคพร้อมลงโทษกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นเรื่องการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น คือ 1.ตัดสิทธิการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2.ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง และ 3.การตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากตัดสิทธิทั้ง 3 อย่างนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองระบุให้ตัดสิทธิ 10 ปี แต่ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากตัดสิทธิทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการลงสมัครรับเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือว่าตัดสิทธิตลอดชีวิต

“หาก ทษช.ถูกตัดสินยุบพรรคจริง พรรคอื่นๆ จะได้เปรียบหรือไม่นั้น คำว่า ‘พรรคอื่นๆ’ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.พรรคที่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยสากล ซึ่งสอดรับกับอุดมการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ 2.พรรคที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ 3.ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนขั้วอุดมการณ์ไหน ดังนั้น หากพรรค ทษช.ถูกยุบ คิดว่าไม่ว่าคะแนนเสียง ค่านิยม ความเชื่อของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะยังไม่ข้ามกลุ่ม ยังคงอยู่กับกลุ่มที่มีแนวอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยสากล เพียงแต่จะทำให้เกิดการกระชับพื้นที่ทางคะแนนเสียง แทนที่จะไปอยู่กับพรรคตั้งใหม่หรือพรรคขนาดเล็ก แต่จะไปสู่พรรคใหญ่ของขั้วอุดมการณ์นั้นมากขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image