สัมภาษณ์ : ‘สิริพรรณ’วิเคราะห์‘โหวตโน-ม.272’ ชี้ทิศทางการเมืองหลัง‘เลือกตั้ง62’

หมายเหตุ – รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงทิศทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคมนี้

⦁ หลังเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ‘พรรคตระกูลเพื่อ’ควรแก้เกมอย่างไรกับเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ถ้านับเฉพาะเกมเลือกตั้ง ต้องแบ่งเป็น 2 เกม เกมหนึ่งของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คืออาจให้ทุกพรรคทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) ถูกยุบ เป็นการล้มกระดาน แล้วระดมโหวตโน (ไม่ประสงค์ลงคะแนน) สมมุติบางเขตไม่มีผู้สมัครคนไหนชนะเลือกตั้งได้คะแนนเกินคะแนนโหวตโน นั่นหมายความว่าเขตนั้นต้องเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัคร ส.ส.คนเดิมไม่มีสิทธิลงรับสมัครอีก การเลือกตั้งก็จะไม่จบ เพราะถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศผล 95% เท่ากับ 475 คน ถ้านายทักษิณเล่นเกมนี้สัก 25 เขต จะไม่มี ส.ส.เพียงพอต่อการประกาศผลเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าเกมนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นั้น เชื่อว่าจะมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง

แต่ถ้าจะเล่นเกมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงต้องให้ ส.ส.พท.คุยกับคนในเขตว่า ขอคะแนน ทษช.มาเป็นคะแนนของ พท. เพื่อเพิ่มคะแนนให้เกิน 70,000 คะแนน ให้มากที่สุด พูดง่ายๆ คือชนะอย่างเดียวไม่พอ ต้องชนะอย่างถล่มทลาย เพิ่มคะแนน ส.ส.เขตของ พท.ที่ชนะแล้วให้มากที่สุด เพื่อไปคำนวณเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จากการตรวจสอบพบว่า พท.ไม่ส่งผู้สมัครใน 99 เขต ในจำนวนเหล่านี้คิดเป็นคะแนนของ พท.ในอดีตเมื่อครั้งการเลือกตั้ง 2554 จำนวน 2.3 ล้านเสียง คิดเป็นเสียง ส.ส.ประมาณ 30 ที่นั่ง

Advertisement

แน่นอนว่าผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 250 เขตของ พท.ตอนนี้เป็นเกรดไพรม์บวกๆ อยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะได้ทั้ง 250 เขตก็สูงมาก และถ้าไปดูย้อนหลังจะพบว่าเขตที่ พท.ชนะทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ คือเป็นพื้นที่ที่ฐานแน่นนั้นมีอยู่ 200 เขต จาก 375 เขตในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้เขตลดลงเหลือ 350 เขต ดังนั้นจึงอาจไม่ได้เต็ม 200 เขตเหมือนเดิม และบวกกับที่จะหายไปกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกจำนวนหนึ่ง เชื่อว่าหลายเขตจะชนะ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส. ดังนั้นใน 200 เขตที่ พท.เคยชนะในปี 2554 น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 170 ที่นั่ง บวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า พท.จะไม่ได้บัญชีรายชื่อเลย แต่ส่วนตัวคิดว่ายังได้อยู่ แต่จะให้ประเมินว่าได้เท่าไรนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควร

⦁บางฝ่ายประเมินว่าเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทำให้ Swing voters บางส่วน
อาจหันไปเลือกพรรค พปชร.

สมมุติฐานส่วนตัวยังมองว่าประชาชนจะโหวตอยู่ในตะกร้าเดิมของตัวเอง คือคนที่เคยโหวต พท.ก็จะไม่ข้ามไปโหวตให้ พปชร. และเดิมคนที่เคยโหวตให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือสายที่นิยมทหาร จะไม่ข้ามมาโหวตให้ พท. หากถามว่าจะมีคนที่หันไปหนุน พปชร. ให้คะแนนสงสารหรือคะแนนเห็นใจแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเหตุการณ์วันที่ 8 หรือไม่ ต้องบอกว่ามี แต่คิดว่าพื้นที่ตรงนี้มีไม่มาก และคนเหล่านั้นคือคนที่เคยโหวตให้ ปชป.

Advertisement

ดังนั้นจริงๆ แล้วพรรคที่เสียหายคือ ปชป.มากกว่า อย่างไรก็ตามยังมีคนกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจ เป็นไปได้ที่จะให้เสียงกับ พปชร.มากขึ้น แต่ถามว่าจะมากจนเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้คะแนนเปลี่ยนหรือไม่ คิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น และจริงๆ แล้วคนที่อยู่ระดับกลางๆ อาจจะไม่ได้คิดเลือก พท.มาตั้งแต่แรก แต่อาจจะเลือกพรรคทางเลือกอื่น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ได้สลายขั้วทางการเมืองแต่ประการใด ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีคนหลับใหลไปบ้าง แต่เขาก็ถูกปลุกให้ตื่นหลังเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ แต่การตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้เขาคิดจะเปลี่ยนใจ จึงเป็นการตอกย้ำขั้วเดิมเท่านั้น

⦁พรรคที่จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น หาก ทษช.ถูกยุบ

พรรคที่ได้ประโยชน์ที่สุดน่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กับพรรคทางเลือกที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ส่วน พ.พ.ช.ก็ใกล้เกินไป แถมยังเล่นเกมทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นการวิเคราะห์จะเหมือน พปชร. คือมันอยู่ในตะกร้าเดียวกันกับ พท. กล่าวคือ ถ้า พ.พ.ช.จะได้คะแนนก็เท่ากับไปแย่งคะแนนของ พท. ไม่ได้ไปแย่งคะแนน พปชร. คนที่ไม่เลือก พ.พ.ช.ก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ถ้า ทษช.ถูกยุบ คนที่เคยคิดจะเลือก ทษช.ที่จะหันไปเลือก พ.พ.ช.ก็มีเฉพาะในพื้นที่ที่ พท.ไม่ส่งผู้สมัคร แต่ถ้า พท.ลงเขาก็เลือก พท.

เพราะฉะนั้น เกมทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มันทำหน้าที่ 2 อย่างคือ 1.สร้างความชัดเจนในหมู่คนที่เป็นแฟนคลับคุณทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ขณะเดียวกันก็ไปกระตุ้นความไม่พอใจของคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เคยเป็นคนกลางๆ มาก่อนจะทำให้เสียคะแนนตรงนี้ไป เพราะคนที่ชอบก็ชอบอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ชอบเขาจะมองว่าเป็นการเล่นเกมการเมือง คนกลางๆ ที่ไม่ชอบเห็นการเล่นเกมการเมือง อยากให้เป็นการแข่งกันในเชิงนโยบาย หรือตัวแคนดิเดตนายกฯ จะค่อนข้างรับไม่ได้กับเทคนิคทางการเมืองแบบนี้ ดังนั้นถ้าถามว่า พ.พ.ช.จะได้แต้มเยอะไหม ไม่น่าจะได้เยอะ ส่วนพรรคเสรีรวมไทยหรือพรรคสามัญชน อาจจะได้บ้าง จึงพูดรวมๆ ได้ว่า พรรคทางเลือกใหม่จะได้คะแนนจาก ทษช. แต่พรรคที่จะส้มหล่นเต็มๆ สมชื่อคือ อนค.ซึ่งมันประจวบเหมาะกับกระแส #ฟ้ารักพ่อ เป็นจังหวะที่ดีมาก

จากตอนแรกที่ประเมิน อนค.ไว้ไม่มากนัก ประมาณ 10-15 ที่นั่ง ตอนนี้ต้องวิเคราะห์ว่าคะแนนของ ทษช.ที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกประมาณ 30-40 ที่นั่ง ก็คงจะมาอยู่ที่ อนค.และเป็นไปได้ว่า อนค.อาจจะถึง 30-40 ที่นั่ง ทั้งนี้ ต้องติงไว้ว่ายังมีเวลาอีกสามสิบกว่าวันกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง และการเมืองไทยช่วงนี้เปลี่ยนเร็วมาก

ถ้ามีกระแสที่พัดมาอีกแบบหนึ่งอาจจะเปลี่ยนได้และมีลางสังหรณ์ว่าก่อนการเลือกตั้งน่าจะมีเซอร์ไพรส์อีกระลอกหนึ่ง ถ้าความเซอร์ไพรส์นั้นคือการยุบ พท.และ พ.พ.ช.ขอให้ระวังเรื่องกติกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนในครั้งนี้ที่จะมีผลทางการเมืองไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 และจะกลายเป็นต้นทุนของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ต้องหาคนมาลงใหม่ เกมนี้จึงเป็นความสุ่มเสี่ยง ด้วยเหตุนี้ข้อคิดเห็นของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พูดถึง “กัมพูชาโมเดล” คือยุบพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด คิดว่าคงไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมมากเกินไป อีกทั้งชนชั้นนำของไทยในปัจจุบันไม่ได้มีเอกภาพมากพอ

⦁การวางตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรค ปชป.ในการเป็นทางเลือกที่ 3 จะโดดเด่นมากขึ้นหลังเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์

ส่วนตัวมองว่า ปชป.เป็นพรรคที่ไม่ได้และไม่เสีย เสมอตัว ถ้าพรรค พปชร.จะได้คะแนน ก็ได้มาจากคนที่เคยเลือก ปชป.ไม่ใช่กลุ่มที่เลือก พท. และถ้า ทษช.ถูกยุบ คะแนนก็จะเกลี่ยไปยังทุกพรรค ปชป.ก็จะได้ตรงนี้ด้วย ทีนี้ต้องมาดูว่า ปชป.จะเดินการรณรงค์หาเสียงอย่างไร เพราะ ปชป.ต้องสู้ด้วยตัวเอง จะได้หรือไม่ได้คะแนนก็อยู่ที่ยุทธศาสตร์ของตัวเองเป็นหลัก

หากถามว่าเกมคนรุ่นใหม่ของ ปชป.และตัวนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างไร ต้องบอกว่าเกมคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ถูกกำหนดด้วยแพลตฟอร์มใหม่ซึ่งเร็วมาก และคนที่เดินเกมนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นประชาชนทั่วไปและเป็นคนรุ่นใหม่เอง เช่น แคมเปญฟ้ารักพ่อที่ไม่ได้มาจาก อนค. แต่มาจากนักศึกษามหาวิทยาธรรมศาสตร์ และก็เห็นว่าเมื่อเกิดกระแสนี้ ทุกพรรคก็เล่นตาม ทำให้เห็นว่าพื้นที่ในการสื่อสารทางการเมืองนั้นเปลี่ยนเร็วมากและไม่ได้ถูกกำหนดโดยพรรคหรือยุทธศาสตร์ของพรรคอีกแล้ว แต่ถูกกำหนดโดยสังคม ดังนั้นใครที่ปรับตัวไม่ทันจะเสียเปรียบมาก

ตอนนี้เห็นว่า ปชป.พยายามปรับตัว แม้ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่ยังไม่ถึงกับหายไป และดีเบตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้นายอภิสิทธิ์ชัดเจนขึ้นมา มันสื่อให้เห็นว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่สังคมต้องการจาก ปชป.คือความชัดเจนของ ปชป.และนายอภิสิทธิ์

ขณะเดียวกัน พรรคที่ปรับตัวน้อยมากกับแพลตฟอร์มการสื่อสารคือ พปชร.และสิ่งน่าสนใจที่อยากพูดถึงคือทุกพรรคหาเสียงบน “Mother of ประชานิยม” อาจเรียกว่าเป็น “ประชานิยมโคตรพ่อโคตรแม่” ทุกพรรคกำลังใช้กลยุทธ์เดียวกันหมด ทำให้เกิดปัญหาว่าประชาชนแยกไม่ออก ทำให้แต่ละพรรคขาดความน่าเชื่อถือไปกับการชูนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมาก

ดังนั้นสิ่งที่โหมกันตอนนี้ จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกของคน เพราะทุกพรรคใช้เหมือนกันหมด พรรคไหนออกมาใหม่ก็เกทับกันไป ไม่เหมือนตอนที่พรรคไทยรักไทยใช้เมื่อปี 2544 กับ 2548 ยังไม่มีใครใช้ ดังนั้นเมื่อคนประเมินจากความสามารถในการส่งมอบนโยบาย ว่าใครจะทำได้มากกว่ากัน จะมี 2 พรรคที่ได้ประโยชน์คือ พท.กับ พปชร. เพราะเป็นสองพรรคที่เคยให้นโยบายนี้จริงๆ ส่วน ปชป.และ อนค.ก็จะถูกตั้งคำถามว่ายังไม่เคยทำจะทำได้อย่างไร

ทั้งนี้ พปชร.เท่าที่คุยกับคนในพื้นที่ พบว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 10 ล้านใบได้ผล โดยเฉพาะกับคนชั้นล่างสุดของสังคม คือคนหาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือการต่ออายุให้มีชีวิตอยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่บีบคั้น แต่ถามว่า 10 ล้านใบนั้นจะเวิร์กสักกี่ล้านใบ คิดว่าคงไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นถ้าให้ประเมิน พปชร.ยังยืนยันว่าจะได้คะแนนเสียงไม่เกิน 100 ที่นั่ง โดยอยู่ที่ 70-80 ที่นั่ง อดีต ส.ส.ที่ย้ายจากพรรคอื่นๆ ไปอยู่ พปชร.มีแค่ 55 คน อาจจะได้รับเลือกตั้งบางส่วน เช่น จ.กำแพงเพชร สุโขทัย รวมถึงอดีต ส.ส.นครปฐม สมุทรสาคร ของ พท.ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อย่างไรก็ตาม ต้องดอกจันตัวใหญ่ๆ ให้ระวังเรื่องการใช้กลไกอำนาจรัฐของ พปชร.ทั้งในแง่การคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และกลไกทหาร

⦁ประเมินว่าปชป.จะได้กี่ที่นั่ง

เดิม ปชป.ได้ 159 ที่นั่ง ประเมินว่าคงได้น้อยลง แต่ไม่ควรจะต่ำร้อย ภาคใต้จะยังครองเสียงอยู่ อาจจะมีเสาไฟฟ้าบางต้นล้มลงบ้าง แต่ 50 เขตในภาคใต้ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเป็นของ ปชป. เพียงแต่ความห่างของชัยชนะอาจลดลง จะเป็นตัวแปรให้บัญชีรายชื่อของ ปชป.ลดลง ดังนั้นที่ใครประเมินว่าลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40 ที่นั่งจะเป็นเซฟโซนของทุกพรรคการเมือง ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่ประมาณ 20 และเซฟโซนของ พท.จะน้อยกว่า 20 ที่นั่งด้วย และพรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเยอะที่สุดอาจจะเป็น อนค. และประเมินว่า อนค.จะไม่ได้ ส.ส.เขตเลย

⦁ถ้าคะแนนเสียงของ ปชป.มาเป็นอันดับ 2 แต้มต่อในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะมากกว่า พปชร.

นี่เป็นคำถามที่คิดมาก แต่ยังไม่คิดว่า ปชป.จะเป็นตัวแปรหลัก เพราะเชื่อว่าหลังเลือกตั้ง พท.จะยังเป็นพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าไม่มี ทษช.โอกาสที่ พท.จะจัดตั้งรัฐบาลก็จะน้อยมาก เพราะต้องได้ถึง 376 ที่นั่ง ดังนั้นโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจึงตกอยู่ที่พรรคอันดับ 2 คือ ปชป. แต่ถ้ามองจากทิศทางลมและสัญญาณต่างๆ ที่อ่านได้ตามตรรกะ ปชป.จะระส่ำค่อนข้างมาก แม้จะเป็นพรรคอันดับ 2 ก็ยังยากที่จะรวมเสียงได้

ดังนั้นเชื่อว่าสุดท้ายก็จะไปตกกับ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ดี แต่ตรงนี้ก็จะเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ว่าถ้า พปชร.ได้เสียงน้อยมาก จะต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หมายความว่าพรรคที่มาร่วมกับ พปชร.รวมกันแล้วได้ไม่ถึง 250 เสียง หรือ 250 เสียงปริ่มๆ โดยต้องไปอาศัยเสียง ส.ว. โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะเกิดขึ้นยาก

หากหลังเลือกตั้งแนวโน้มของการจัดตั้งรัฐบาลผสมมันช้าและไม่มีความแน่นอน เป็นไปได้ว่าอาจไปไกลถึงการใช้มาตรา 272 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในการมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ก่อนหน้านี้มองว่าจะไม่ไปไกลถึงตรงนั้น แต่สัญญาณหลายๆ อย่างก่อนหน้านี้ทำให้คิดว่าอาจไปถึงตรงนั้นได้ และมองอีกมุม การให้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นคนใน อาจเป็นทางลงให้ พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่ต้องมาเป็นนายกฯคนนอก เพราะส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นหุ่นมาตลอด และก็อยากลง ไม่ได้อยากอยู่ แต่ไม่รู้จะลงยังไง ดังนั้น ส.ว. 250 คน จะเป็นตัวแปรหลักในการเลือกนายกฯคนใหม่ ทั้งนี้ คิดว่าเรื่องรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้ถูกโยนจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ แบบไม่มีเจตนา

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

⦁ป้ายหาเสียงของ อนค.ที่มีเฉพาะภาพหัวหน้าพรรค ทำให้ถูกโจมตีว่าเป็นความพยายาม‘ขายตัวบุคคล’

นี่คือทาง 2 แพร่งของ อนค. เขาอยากจะโตเร็ว จึงใช้ยุทธศาสตร์ให้นายธนาธรแบกทั้งพรรคเอาไว้ เวลาหาเสียงทุกพรรคต้องอยากได้คะแนน แม้ว่าจะขัดกับฐานคิดเดิมที่ต้องการให้เป็นพรรคโตช้าๆ และให้ผู้สมัครกับประชาชนมีสายสัมพันธ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม อนค.เป็นพรรคที่ประเมินยากมาก จะเป็นบทพิสูจน์และบทเรียนของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงเป็นความท้าทายของการเติบโตของพรรคในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ถ้าระบบเลือกตั้งเป็นแบบนี้ พรรคจะแตก เพราะไม่มีใครอยากเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้วเสี่ยงตาย เพื่อให้พรรคได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงทำให้เอกภาพในพรรคหายไป และคนในพรรคของทุกพรรคมีโอกาสทะเลาะกันเองมาก

⦁ยุทธศาสตร์การแตกพรรคของพรรคใหญ่ อาจใช้ไม่ได้ผล

เคยคิดตั้งแต่แรกว่า ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่นายทักษิณต้องเล่นแรงที่สุด เพราะเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของเขา แต่ไพ่ที่แรงที่สุดมันออกมาที่ ทษช. และถ้า พท.ส่งครบทั้ง 350 เขต จะไม่เป็นปัญหาเลยในตอนนี้ ส่วนตัวถึงแม้จะเป็นคนพูดว่าพรรคจำเป็นต้องแตกออก แต่ไม่เคยเห็นด้วยกับการแตกพรรค มองตามหลักวิชาการคือคุณเคยเป็นพรรคใหญ่ และเป็นพรรคเดียวที่ส่งครบทุกเขตมาตลอด ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544

แต่ตอนนี้กลับตัวไม่ทันแล้ว การใช้ยุทธศาสตร์แบบนี้ทำให้ความเป็นสถาบันของพรรคสั่นคลอน และอาจจะกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรค เพราะดูเหมือนฮั้วกับ ทษช. โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่ พท.ส่ง 22 เขต ทษช.ส่ง 8 เขต ทั้งนี้ 99 เขตที่ พท.ไม่ส่งผู้สมัคร พบว่าเคยได้รับคะแนนตั้งแต่ 2,000 คะแนน คือใน จ.นครศรีธรรมราช แทบทุกเขต และ จ.ตรัง ไปจนถึง จ.อุทัยธานี ซึ่ง พท.มีคะแนนตั้ง 60,000 คะแนน
ไม่แน่ใจว่าที่ไม่ส่งผู้สมัครเป็นเพราะหวังว่า ทษช.จะช้อนคืนมา แต่พอเหตุการณ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่ พท.ทำได้อย่างเดียวคือรณรงค์ให้หนัก เพื่อให้ ส.สเขต ชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย คงช่วยได้ไม่มาก

⦁การเมืองหลังการเลือกตั้งจะมีกี่ก๊ก กี่ขั้ว

คาดว่าจะเหลือแค่ 2 ขั้ว คือเอากับไม่เอา คสช. ฝ่ายที่ไม่เอา อย่างไรเสียก็มีไม่ถึง 376 เสียง เพราะคงไม่ได้คะแนนจาก ส.ว. ประกอบกับ ทษช.ถูกยุบ คำถามคือฝ่ายที่เอามี ส.ส.เกิน 250 เสียง มากแค่ไหน พอที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ส.ว.อาจเลือกไม่ยกมือให้ เพราะจะอยู่ได้ไม่นาน จะกลายเป็นรัฐบาลที่เสียเปล่า และอาจนำไปสู่การใช้มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดย ส.ว.จะเป็นตัวนำ

คนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าใช้มาตรา 272 ต้องใช้ถึง 500 เสียง จาก 750 เสียง ซึ่งสูงมาก แต่ถามว่าพอถึงจุดนั้น ถ้ามีสัญญาณบางอย่างทางการเมือง 250 ส.ว.พร้อมอยู่แล้ว ต้องการอีก 250 เสียง จึงคิดว่าเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นการปลดล็อกที่มองว่ายากอาจจะไม่ยาก และเมื่อปลดล็อกแล้วก็ต้องการแค่ 376 เสียง ซึ่งง่ายมาก

ถ้าให้ลงลึก ภท. พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) เอาอยู่แล้ว ที่ไม่ไปแน่ๆ คือ อนค. เขาพร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นพรรคที่เป็นตัวแปรหลักหลังการเลือกตั้งคือ ปชป. แต่คิดว่านายอภิสิทธิ์เองอาจจะไม่ไป แต่จะมีงูเห่าใน ปชป. และในที่สุด ปชป.ก็จะไป โดยเฉพาะฝั่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เพราะในการโหวตเลือกนายกฯ หรือการโหวตนายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องโหวตในนามพรรค แต่โหวตในนาม ส.ส.

ในจุดนั้น แม้แต่ ส.ส.พท.เอง พรรคอาจคุมไม่ได้ และอาจมี ส.ส.พท.บางคนร่วมโหวตเพื่อปลดล็อกมาตรา 272 แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งว่า พปชร.จะได้คะแนนมากน้อยแค่ไหน ถ้าได้เยอะและสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้จริงๆ รวมกันแล้วประมาณ 270 เสียง จะเป็นรัฐบาล พปชร.โดยมีนายกฯคือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่คิดว่าโอกาสนั้นน่าจะน้อย

⦁เคยมีการเทียบเคียงการเลือกตั้งปี 2562 กับเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต คือการเลือกตั้งสกปรกปี 2500 และการก่อตัวของพรรคสามัคคีธรรมในการเลือกตั้งปี 2535

ปี 2500 หลังการเลือกตั้งสกปรก ทำให้เกิดรัฐประหาร ส่วนตัวประเมินว่าหลังจากนี้ จะไม่มีการรัฐประหารในลักษณะนั้นอีกแล้วหรือมีโอกาสน้อยมาก เพราะนี่คือการจัดระเบียบใหม่เพื่อนำไปสู่การไม่มีรัฐประหาร อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีรัฐประหาร แต่อาจจะเป็นรัฐประหารเงียบ

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคสามัคคีธรรม คืออาจจะชู พปชร.โดยใช้เสียง ส.ว.นั้น คิดว่าอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะในการเลือกตั้ง 2535 ไม่มีพรรคการเมืองที่กุมเสียงข้างมากในสภาอย่าง พท. และครั้งนี้เลือกตั้ง 2562 ยังมีพรรคตัวแปรที่เผอิญส้มหล่นอย่าง อนค. ชัดเจนว่าไม่เอาการจัดตั้งรัฐบาลแบบนั้น จึงเป็นการยากมากที่พรรคที่สนับสนุน พปชร.จะคุมเสียงเกินครึ่งของสภา ดังนั้นถึงที่สุดแล้วอาจจะต้องปลดล็อกมาตรา 272 และอาจมีรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งความชอบธรรมที่รัฐบาลจะมีได้ คือตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 6-8 เดือน จนได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการเลือกตั้งอีกครั้ง

⦁คนรุ่นใหม่จะมีส่วนสร้างการเมืองที่ดีกว่าได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ของประเทศในช่วงคลื่นลูกที่ 3 มีสาเหตุจากอิทธิพลภายนอก ไม่ได้หมายความว่าจะมีประเทศไหนมาทำอะไรประเทศไทย แต่หมายถึงเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพราะแพลตฟอร์มการรับรู้ข้อมูลของเด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้อ่านจากหนังสืออีกแล้ว นี่จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ไม่รู้ว่าระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน

สิ่งสำคัญคือต้องให้แสงสว่างทางปัญญา ไม่เหมือนกับการฉีดยาที่ฉีดแล้วจะหายจากโรค แต่เปรียบเป็นการให้วัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง แต่อุปสรรคในปัจจุบัน ภายใต้บรรยากาศที่ไม่มีเสรีภาพ แสงสว่างแห่งปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเด็กก็กลัวที่จะคิด นี่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นต้องร่วมกันคิดว่าทำอย่างไร ทำให้เด็กกล้าคิด ให้เด็กรุ่นใหม่ค่อยๆ เรียนรู้ เติบโต โดยไม่ต้องบอกว่าอะไรถูกหรือผิด แต่ให้เขาคิดบนหลักการและเหตุผล พอเขาเจออะไรที่เป็นอุปสรรค อคติ จะหาทางหาความรู้จากแสงสว่างทางปัญญาของเขาได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้ระวังคนที่จะเป็นตัวพ่อตัวแม่ทางความคิด คนที่คิดว่าจะสามารถยัดเยียดความคิดของตัวเอง แล้วก็โน้มนำโน้มน้าวความคิดของคนอื่นได้ นี่คือความอันตราย เพราะสังคมที่เติบโตได้ ต้องให้คนคิดเองบนฐานข้อมูล และกล้าคิดบนหลักการและเหตุผล แม้แต่นักวิชาการก็พูดเพื่อให้คนเอาไปคิดต่อ ไม่ใช่ไปชี้นำ

กุลนันทน์ ยอดเพ็ชร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image