วิวาทะ‘บิ๊กแดง-หญิงหน่อย’ ปลุกเพลง‘หนักแผ่นดิน’

หมายเหตุนักวิชาการแสดงความเห็นกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.โต้ตอบกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้ง จะตัดงบกระทรวงกลาโหมลง 10 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยบอกว่าให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” อันเป็นเพลงที่ พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งขึ้นเมื่อปี 2518 ถูกรัฐนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองในอดีต

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ขอตอบ 3 คำ คือ “ระวังคำพูด” มีนัยยะว่า ลักษณะวิวาทะที่กำลังเกิดขึ้น ในหลายๆ ครั้งเราจะพบว่าผู้นำในหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานระดับสูง เวลารีบตอบบางครั้งก็ตอบในเชิงที่สวนกลับไปทันที หรือตอบคำถามกลับไปโดยปราศจากองค์ความรู้พื้นฐานของเรื่องนั้นๆ จะก่อให้เกิดวิวาทะและความขัดแย้ง ในยุคหลังๆ พบสูงมาก ตั้งแต่กรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นการรีบสวนคำพูดไป หลายครั้งการรีบสวนคำพูดไปนั้นสามารถสะกิดต่อมความขัดแย้งทางด้านการเมืองขึ้นมาโดยเฉียบพลัน

ในปัจจุบันเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง คำพูดของผู้นำทางด้านการเมืองในแต่ละยุคไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งได้ นี่คือปัญหา เช่น การไปสวนกลับด้วยเพลงหนักแผ่นดิน หลายครั้งอาจจะถูกใจหรือสะใจฝ่ายขวาในอดีต แต่สมมุติคำว่าหนักแผ่นดินถูกใช้ในปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำสถานะและจุดยืนความชอบธรรมทางด้านการเมืองของกองทัพด้วย นั่นหมายความว่า เมื่อเอาลักษณะความเชื่อแบบรัฐนิยมมาเพื่อครองอำนาจของชนชั้นนำบางส่วน จะพบว่ามีแรงต้านจากสารพัดทิศ

Advertisement

ในปัจจุบันกองทัพเองกลายเป็นตำบลกระสุนตก เพราะลักษณะการตอบโต้ไปอย่างรวดเร็วของคำพูดหรือเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ที่ขาดความรอบด้าน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดออกจากความขัดแย้งทางการเมืองได้ เรียกว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งโดยใช่เหตุ

ทุกคนฝันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพาประเทศออกไปจากความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ส่วนตัวกลับมองอีกด้านหนึ่งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นสร้างความขัดแย้งทางการเมืองไทยแบบใหม่และตอกลึกไปมากกว่าเดิม อีกทั้งจะเป็นความขัดแย้งที่ต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะความเชื่อและมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายเสรีนิยมในปัจจุบันการเลือกตั้ง การตัดสินกันด้วยคะแนนเสียง ไม่สามารถที่จะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะได้

ฉะนั้นเกมการเลือกตั้งจึงเป็นเพียงเกมสนามอำนาจในการสร้างความชอบธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ถามว่าเมื่อการเลือกตั้งล้มแล้วคนไทยได้ประโยชน์หรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ได้ แต่คนที่จะได้ประโยชน์จากการล้มเลือกตั้งก็คือชนชั้นนำในประเทศทั้ง 2 ฝ่าย เพราะสามารถใช้สนามหรือกลไกการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ในการแสวงหาอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับฝั่งตน แต่คนที่ถืออำนาจฝั่งฟากของประชาชนก็ต้องเล่นเกมรอต่อไป เพราะสนามการออกแบบประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันถูกออกแบบโดยขีดเส้นให้เราอยู่บนกรอบ ไม่ได้ขีดเส้นที่สามารถทำให้เกิดการผลักดันไปสู่การปกครองที่อยู่ภายใต้ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งใหม่ๆ และจะหนักกว่าเดิม หลังจากการเลือกตั้งจะเป็นเทศกาลของการฟ้องร้อง เกิดความรุนแรง หรือถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็จะเป็นกลไกที่สับสนวุ่นวาย

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ประเด็นนี้มีความชัดเจนว่าการพูดถึงเพลงหนักแผ่นดินจะทำให้คนนึกถึงความหลังเก่าที่เพลงนี้เกิดขึ้นมาจากเพลง The Longest Day แล้ว พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ส่งมาใส่เนื้อร้องช่วงที่คนกลัวเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ จนก็มีการใช้เพลงนี้นำกลุ่มขวาจัดทั้งหลาย ในที่สุดก็เชื่อกันว่าเพลงนี้เป็นสาเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดเพลงนี้ขึ้น คนจึงรู้สึกกังวลว่าจะสร้างบรรยากาศอย่างนั้นอีกหรือไม่ ความหมายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ก็น่าจะประมาณว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเป็นพวกหนักแผ่นดิน การที่คนพวกนี้ออกความเห็นอะไร ก็หมายความว่าไม่หวังดีต่อแผ่นดินไทย ต้องทำลายเสียให้สิ้น

ถึงวันนี้แล้วไม่มีใครเกรงใจใครสักเท่าไหร่ เพราะนักการเมืองก็โต้แย้งกัน บอกให้ไปฟัง “ประเทศกูมี” สิ แต่ว่าคนเก่าๆ อย่างคนรุ่นผม ที่อยู่มาตั้งแต่สมัย 2518-2519 ยังมีสำนึกการเมืองอยู่ ก็กลัวจะเป็นอย่างสมัยก่อนที่มีคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เรียกว่าเป็นการใช้มวลชนปราบมวลชน

ส่วนการล้มเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เต็มใจที่จะเลือกตั้ง หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ ทำให้เกิดการระแวงกัน ถ้ามีการกล่าวอ้างก็จะเกิดเหตุการณ์โต้กลับลักษณะนี้อยู่เรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้ใครมาเล่นงานตนเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะเป็นการเสียเครดิตได้ ทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องของการต่อสู้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

กรณีวิวาทะหนักแผ่นดินคิดว่าต้องมองย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานะความสัมพันธ์ของชนชั้นนำ 3 กลุ่ม คือชนชั้นนำจารีต กลุ่มทุนใหม่ปีกทักษิณ และกองทัพ เกิดความสั่นคลอน ไม่มีความเป็นเอกภาพ เกิดความหวาดระแวง ช่วงชิงการนำในการเมือง จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ชนชั้นนำทหารมีแนวโน้มเข้าควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองหลังฉาก หนุน คสช. พรรคพลังประชารัฐ ในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เป็นจังหวะและโอกาสของ คสช.

พรรคพลังประชารัฐพยายามสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มมวลชนที่ยังไม่ตัดสินใจ ด้วยการปลุกผีทักษิณ พยายามชี้ให้เห็นการครอบงำพรรคตระกูลเพื่อของทักษิณ ปลุกผีคนเสื้อแดง เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ เพื่อทำลายพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหม่ปีกทักษิณและเครือข่ายหรือฝ่ายตรงข้าม คสช. เช่น เพื่อไทย เพื่อชาติ อนาคตใหม่ เป็นต้น

กลุ่มทุนใหม่ปีกทักษิณและเครือข่ายเปิดแนวรบตอบโต้กลุ่มชนชั้นนำทหารผ่านช่องทางการสื่อสาร นักรบไซเบอร์ เครือข่าย พุ่งเป้าโจมตีกองทัพอย่างต่อเนื่อง เรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ขนาดกองทัพ การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนถึงสัมพันธภาพที่ไม่ลงตัวของกลุ่มชนชั้นนำในการเมืองไทย

ทหารตอบโต้ด้วยวาทกรรมหนักแผ่นดิน สร้างกระแสขวาจัด แยกเขาแยกเรา เพื่อสำทับฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มพรรคการเมืองที่ใกล้ชิดทักษิณ มีแนวร่วมสนับสนุนหลักคือมวลชนที่ยังชิงชังทักษิณและเครือข่าย

สำหรับสัญญาณการล้มเลือกตั้งนั้น มองว่าสถานการณ์นี้เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ 1.รัฐประหาร หรือ 2.เดินไปสู่การเลือกตั้ง แต่เป็นการชี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพในการเมืองไทยในห้วงเวลานี้และสถานะความสัมพันธ์ของชนชั้นนำที่สั่นคลอนหลัง 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ถ้าพลังประชารัฐภายใต้การหนุนหลังของกองทัพชนะเลือกตั้ง ชนชั้นนำกลุ่มทุนใหม่ปีกทักษิณจะสร้างเงื่อนไขและขบวนการการไม่ยอมรับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากกติการัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม มีเจตนารมณ์สืบทอดอำนาจ โกงการเลือกตั้ง ปลุกให้ลุกฮือของมวลชน (ปฏิวัติประชาชน) โค่นรัฐบาล คสช. จะมีผลต่อการจัดสถานะของชนชั้นนำฝ่ายกองทัพ ฝ่ายจารีต ที่ต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ในกลุ่มชนชั้นนำ

กรณี กกต.ยุบพรรคทั้ง 2 ฝ่าย อาจจะเป็นทางออกที่ดีเพราะจะลดเงื่อนไขความขัดแย้งของคู่ขัดแย้งหลักระหว่าง คสช. และการเมืองปีกเครือข่ายทักษิณให้เข้าสู่หลักการประชาธิปไตย คือ นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าเกมออกมาลักษณะนี้การสร้างเงื่อนไขไม่ยอมรับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะหมดไป แต่ทั้ง 2 ฝั่งจะพยายามนอนินีของฝ่ายตนเพื่อตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

คําว่าหนักแผ่นดิน เป็นคำกว้างๆ ที่สามารถใช้เป็นคำผรุสวาท แต่ในกรณีนี้ไม่รู้ว่าโจมตีใครและโจมตีอะไรเพราะเป็นคำที่รวมไปหมด ถ้ามีคนมาบอกว่าเราขี้ขโมย ก็โต้กลับได้ว่าเราขโมยหรือไม่ได้ขโมยเพราะมีความแน่ชัด มีป้ายแสดงว่าเราเป็นคนที่ไม่ดีจริงหรือไม่อย่างไร แต่กรณีนี้ไม่รู้ว่าจะต้องตอบโต้อย่างไร เพราะเป็นคำด่าลอยๆ แปลความหมายอะไรก็ได้ เมื่อไปถึงสาธารณชนก็ตีความไปตามความเห็นของตนเอง

คำว่าหนักแผ่นดิน จึงเป็นคำที่กินความหมายไปทั่ว แล้วแต่ว่าจะใช้กับใคร คำว่าหนักแผ่นดินไม่รู้ว่าเลวอย่างไร แต่น่าจะแสดงว่าไม่ดี โดยความหมายเดิมที่เคยใช้คือไม่จงรักภักดี ปัจจุบันอาจจะนำมาใช้ในความหมายที่แทรกอยู่ก็ได้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ไม่มีประเด็นที่จะโจมตีพรรคเพื่อไทย และไม่รู้ว่าจะโจมตีอะไร จึงย้อนกวาดไปอย่างนั้น โดยใช้คำว่าหนักแผ่นดิน

เมื่อก่อนการด่านักการเมืองว่าขี้โกง ทุจริต หรืออย่างเช่น การด่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีว่า บุฟเฟต์คาบิเนต ก็พอจะเข้าใจได้ แม้ว่าจะจริงหรือไม่แต่ก็สื่อความหมาย แต่กรณีนี้สื่อความหมายที่ตีความไปได้ทุกทาง ทำให้สาธารณชนนำความหมายนี้ไปใช้เนื่องจากเป็นคำที่จับต้องไม่ได้ จึงกล้าใช้คำนี้ สวนกลับ ผบ.ทบ. สวนกลับทหาร อย่างที่เห็นกันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก นี่คือความหมายของคำว่าหนักแผ่นดินในเชิงภาษาศาสตร์

เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าความหมายที่อยู่เบื้องหลัง คือ ก่อนหน้านี้พรรคไทยรักษาชาติ เป็นเป้าถูกโจมตีอย่างมาก ตอนนี้ท่าจะไม่รอด เพราะฉะนั้นจึงเบี่ยงประเด็นโดยโต้ไปที่อื่นเนื่องจากเขารับรู้ว่าศัตรูของตนคือใคร ตอนนี้มี 2 พรรค คือ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย เมื่อดูท่าทีแล้ว พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากลงสมัคร ส.ส.เยอะกว่า แต่เนื่องจากไอเดียของพรรคอนาคตใหม่ในความเห็นของฝ่ายตรงข้ามก็ค่อนข้างแรง จึงตกเป็นเป้าโจมตีด้วย

สถานการณ์นี้มีส่วนทำให้บรรยากาศการเมืองไทยอึมครึม เพราะแทนที่จะเลือกตั้งกันตามปกติ ชอบใครก็ไปเลือกคนนั้น กลับกลายเป็นการวางคู่ตรงข้ามกัน ฉันฝ่ายหนึ่ง เธออีกฝ่าย ตรงนี้ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมถึงไม่ดี ยกตัวอย่าง ศัพท์ภาษาอังกฤษ คำว่า Us และ Them ไม่เราก็เขา ถ้าไม่ใช่พวกเราก็เป็นอีกพวกหนึ่ง เกิดการตั้งป้อมเป็นคนละฝ่าย ก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงเกิดขึ้น แต่ถามว่าดีหรือไม่ ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งเรียบร้อยก็ย่อมไม่ดี

ถ้าสมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐมีแนวโน้มที่จะชนะก็คงไม่ต้องเดือดร้อนที่จะไปด่าใคร แต่เนื่องจากเขาวัดอุณหภูมิการเมืองแล้วรู้ตัวว่าเสียเปรียบ เหมือนกับในหน่วยงานเวลาที่คนทะเลาะกัน คนที่เสียเปรียบจะใช้วิธีด่ากราดโดยที่ไม่มีเหตุผลอะไร เมื่อไม่รู้ว่าเหตุผลคืออะไรก็สาดเสียเทเสียไปก่อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ในทางการเมือง ถ้าผมรู้ตัวว่าอย่างไรก็ชนะแน่นอนอยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปด่าคนอื่นทำไม แต่ทีนี้ยิ่งด่ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าเครียด ความเพลี่ยงพล้ำก็มากขึ้นเท่านั้น ผบ.ทบ.คนก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนที่ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็ไม่ได้ด่าใคร แต่ให้ความชอบธรรมกับตัวเอง ให้เครดิตกับตัวเองว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าต้องโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ส่วนประเด็นนี้จะนำไปสู่การล้มเลือกตั้งหรือไม่ก็ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image