ทษช.ยก 3 ประเด็นหลัก ยื่นแก้ข้อกล่าวหา ยันเสนอชื่อตามความประสงค์ของทูลกระหม่อมฯ

ทษช.ยื่นแก้ข้อกล่าวหายุบพรรค 3 ประเด็นหลัก ยันเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯตามความประสงค์และยินยอมของผู้ได้รับเสนอชื่อ มั่นใจไม่เป็นปฏิปักษ์ เพราะไม่ใช่กบฏ-คอมมิวนิสต์ ยื่นพยาน กก.บห.- บุคคลภายนอก รวม 19 ปาก

เมื่อเวลา 15.55 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสุรชัย ชินชัย และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมทีมกฎหมายนำเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรค พร้อมบัญชีพยาน เข้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและสำเนาเอกสารส่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ชุด เพื่อแก้ข้อกล่าวหากรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ทษช.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2) ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยในวันนี้เป็นวันสุดท้ายของกำหนด 7 วัน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด

จากนั้นเวลา 16.30 น. นายสุรชัย ชินชัย ทนายความพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรคตามกำหนดเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นคำชี้แจงภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ว่าประเด็นหลักที่กำหนดยื่นแก้ข้อกล่าวหามี 3 ประเด็น ประเด็นแรก เรายืนยันเจตนาบริสุทธิ์ และไม่มีเจตนาพิเศษใดๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นอย่างอื่น โดยการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งเป็นไปตามความประสงค์และความยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ ประเด็นที่สอง การเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแก้ข้อกล่าวหาว่า ความหมายของคำว่าปฏิปักษ์ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่าเป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม น่าจะหมายถึงการนำระบอบคอมมิวนิสต์ มาใช้ปกครองในประเทศไทย หรือการเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ทั้งนี้ คำร้องยุบพรรค ทษช.ยังขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรค เราก็ถือว่าคำร้องยุบพรรคเป็นคำร้องประเภทเดียวกับคดีอาญาการเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีวิตไม่ต่างจากการประหารชีวิตในทางการเมือง

เกาะติดการเมือง กับ Line@มติชนการเมือง

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

ประเด็นที่สาม กกต.ที่ กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีการสืบสวนสอบสวนก่อน โดย กกต.มีมติส่งศาลจึงเป็นการข้ามขั้นตอนการเสนอคำร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ พรรคได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คนและพยานคนกลางซึ่งเป็นบุคคลภายนอก 5 ปาก

เมื่อถามว่าพยานที่เป็นบุคคลภายนอกเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตก่อนหน้านี้หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่นำเสนอต่อศาลไม่สามารถเปิดเผยได้ และเมื่อถามต่อว่ามองว่าการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญควรเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ถ้ามีโอกาสควรให้ประชาชนได้ลงคะแนนวันที่ 24 มีนาคม ก่อนจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งตนเชื่อมั่นในความยุติธรรมที่ศาลจะเมตตาต่อเรา

Advertisement

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พยานบุคคลภายนอก 5 ปากที่พรรคนำเสนอไม่มีรายชื่อของบุคคลที่พรรคเสนอเป็นแคนดิเนตนายกฯก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ในข้อต่อสู้ 3 ประเด็นหลักของพรรคยังได้แยกย่อยออกเป็น 8 ประเด็น คือ 1 การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศอุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.พรรคฯ ทำตามประสงค์และความยินยอมของทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ.2515 และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี

3.พรรคฯ เข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13 และ 14 ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.เมื่อมีพระราชโองการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 23.00 น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 09.00 น. พรรคจึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ

5.การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 87 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 13 และ มาตรา 14 ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้

ข้อ 6. พรรคเห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของทูลกระหม่อมฯ ที่อาสา และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพลการ

ข้อ 7. กกต.ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่งอันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริตเป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้

ข้อ 8. มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 ของ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคมีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและพรรคจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรค ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image