รอยแยกของวัย จาก ‘ฟ้ารักพ่อ’ ถึง‘หนักแผ่นดิน’

เชื่อว่าจนถึงวันนี้ ก็คงยังมีคนจำนวนไม่น้อยพิศวงงงงวย ไม่เข้าใจ

ไปจนกระทั่งถึงรับไม่ได้

กับปรากฏการณ์แฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ ที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นกระแสนิยมในโซเชียลมีเดีย

โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” มากกว่าประดาผู้อาวุโสทั้งหลายอย่าง “ทวิตเตอร์”

Advertisement

จึงไม่ควรประหลาดใจในปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามมา

เมื่องงงวย ไม่เข้าใจ ไปจนกระทั่งถึงยอมรับไม่ได้กับปรากฏการณ์ที่เป็น “ของใหม่” สำหรับตนเอง

ประดาผู้อาวุโส ผู้เชื่อในสิทธิอันชอบธรรมของการอาบน้ำร้อนมาก่อน ย่อมต้องหงุดหงิด ไม่พอใจ

ไปจนกระทั่งถึง “ต่อต้าน-ห้ามปราม” การแสดงออกของกลุ่มที่ถูกมองว่า “ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” เหล่านี้

จึงปรากฏคำว่า “ต่ำตม” จึงปรากฏเหตุการณ์ประเภท “ขู่ฆ่า” ติดตามมา

เป็นธรรมชาติธรรมดาของคนกลุ่มที่ “เคยรู้สึก” ว่ามีอำนาจเหนือ

เมื่อไม่ได้ดังใจ เมื่อไม่สบายใจ เมื่อเกิดความหวั่นเกรงเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคต-ใกล้หรือไกล-จะเกิดอะไรขึ้น

ย่อมต้องใช้วิธีการอันเคยชิน วิธีการที่ “ง่าย” สำหรับตนเองเข้ารับมือหรือจัดการ

นั่นคือใช้การสั่ง ใช้การประณามแบบเหมารวม เพื่อให้อีกฝ่ายปฏิบัติหรือเปลี่ยนแนวปฏิบัติไปในทางที่ตนเองต้องการ

คำถามก็คือ

วิธีการเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่

ปฏิกิริยาตอบโต้และต่อต้านท่าที “ต่ำตม-ขู่ฆ่า” ก็พอจะบอกได้ระดับหนึ่ง

แต่ที่มาตอกย้ำให้เห็นชัดเจนยิ่งกว่า คือท่าทีของสังคมต่อกรณี “หนักแผ่นดิน”

เมื่อเกิดการโต้เถียงวิวาทะ ว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพก็ดี ว่าด้วยงบประมาณกลาโหม

และผู้นำกองทัพ-ผู้นำรัฐบาลตอบสนองด้วยการขุดเพลง “หนักแผ่นดิน” ขึ้นมาเป็นประเด็นก็ดี

ปฏิกิริยาที่ถาโถมหลั่งไหลเข้ามาก็คือ

หนักแผ่นดินนั้นอาจจะเป็นเพลงปลุกใจเร้าใจของฝ่ายหนึ่ง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หนักแผ่นดินคือเพลงสัญลักษณ์ของการเข่นฆ่ากลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เป็นภาพสะท้อนของความแตกแยกแบ่งขั้วในสังคมไทย

ส่งผลให้แฮชแท็ก #หนักแผ่นดิน ขึ้นมาติดอันดับต้นของทวิตเตอร์ไทยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

พลังและความรุนแรงของปฏิกิริยาตอบสนองครั้งนี้ ส่งผลให้คำสั่งเปิดเพลงหนักแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงเช้า

ถูกระงับไปในบ่ายวันเดียวกัน

ทั้งกรณี #ฟ้ารักพ่อ และ #หนักแผ่นดิน สะท้อนอะไร

ด้านหนึ่งอาจจะสะท้อนความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคม

อันเป็นธรรมชาติปกติธรรมดาของมนุษย์

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของความเชื่อ และทัศนคติ ระหว่างคนต่างวัย

หรือที่ศัพท์ต่างประเทศใช้คำว่าเป็น Generation Gap

สิ่งที่เคยได้รับการเชื่อถือ ศรัทธา หรือเป็นทัศนคติของคนรุ่นหนึ่ง

อาจจะเป็นสิ่งไม่มีค่าในสายตาของคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อ ทัศนคติ และการรับรู้โลกที่แตกต่างออกไป

และมิได้เป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในโลกหรือสังคมไทย

ส่วนหนึ่งของการอภิวัฒน์ 2475 ก็เกิดขึ้นจากปัจจัยนี้

ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวใหญ่ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดขึ้นจากปัจจัยนี้

และคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจ-ประณาม #ฟ้ารักพ่อ และ #หนักแผ่นดิน อยู่ในวันนี้

ก็เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นมาแล้ว

เคยเป็น “คนรุ่นใหม่” เคยมี “วิญญาณขบถ”

เคยมีความใฝ่ฝันแสนงามมาแล้วในวัยวารหนึ่ง

น่าเสียดายยิ่ง หาก “การเติบโตเป็นผู้ใหญ่” คือการละทิ้งความฝัน-ความหวัง

อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่

น่าเสียดายยิ่งหากคนที่เคยเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในวันหนึ่ง

ละทิ้ง-ลืมเลือนความหวังความฝันของตนเองไปโดยไม่เหลือร่องรอย

และเป็นส่วนหนึ่งของการถ่างให้ “ช่องว่างระหว่างวัย” ขยายกว้างยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image