สัมภาษณ์พิเศษ : โกวิทย์ พวงงาม ชูกระจายอำนาจ-พทท.สู้เลือกตั้ง : โดย บุษยา แก้วกำพล

หมายเหตุ – ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 พรรคพลังท้องถิ่นไทย (พทท.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยการการกระจาย
อำนาจที่พรรค พทท.จะขับเคลื่อนในการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 24 มีนาคม 2562

⦁เหตุผลที่ตัดสินใจมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรค พทท.

ผมเป็นอาจารย์ที่สอนเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากกว่า 30 ปี จนกระทั่งมาเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองสมัย ผมถือว่าทุกอย่างที่ทำมีความสูงสุดในการเป็นอาจารย์แล้ว แต่ความฝันที่อยากจะทำเรื่องการกระจายอำนาจให้เป็นรูปธรรมนั้น ผมคิดว่าต้องทำอะไรได้มากกว่าการสอนคน สอนนักศึกษา หรือการไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการกระจายอำนาจ หรือการปกครองท้องถิ่น

ดังนั้นจึงมองเห็นว่าการขับเคลื่อนด้วยสถานะสมาชิกพรรค พทท.เป็นทางเลือกหนึ่งของผมที่ตัดสินใจ อีกทั้งพรรค พทท.ให้โอกาสชวนผม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของพรรคในการทำนโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นี่คือการตัดสินใจที่ผมมองว่ากลุ่มเป้าหมาย ด้านท้องถิ่นต้องมีการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ

Advertisement

30 ปีที่ผ่านมาพบว่าการขับเคลื่อนด้านการกระจายอำนาจทำได้ช้ามากรัฐบาลทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจน้อยมาก จึงทำให้ไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติวิธี แบบนี้จึงทำให้ผมคิดว่าท้องถิ่นควรจะมีพรรคการเมืองที่เป็นของตนเอง และเมื่อพรรคพลังท้องถิ่นไทยออกมาตั้งพรรคก็จะเห็นว่าสมาคมสันนิบาต อบต. สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้บริหารท้องถิ่นเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นจึงมองว่าหากมาทำงานอย่างเต็มที่กับพรรคนี้แล้วจะทำให้การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจที่ผมฝันไว้เป็นรูปธรรมได้

⦁แนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ที่ผ่านมาประเทศไทยบริหารโดยการรวมศูนย์อำนาจรัฐมาตลอด แม้กระทั่งรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า วิธีการบริหารแบบส่วนกลาง แล้วกระจายอำนาจ ทำให้โครงสร้างเดิมยังไม่เปลี่ยน ผมคิดว่าการมีโครงสร้างรัฐในลักษณะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะสามารถเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองใหม่ได้ คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการสร้างประชาชนหรือพลเมืองของประเทศไทยมีศักยภาพ ในการมีส่วนร่วมเพื่อปกครองเมือง และชุมชนของตนเอง

Advertisement

นี่คือประเด็นใหญ่ที่ผมอยากจะเสนอเพราะฉะนั้นในฐานะนักวิชาการที่ลงมาสู่การเมือง ผมคิดว่าจะได้ภาพกว้างทั้งการสอนประชาชนและการฝึกศักยภาพให้กับประชาชนพลเมือง โดยเฉพาะการไปบอกให้ประชาชนรู้ว่า การเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐจะเป็นทางออกที่ดีของประเทศ โดยการเปลี่ยนโครงสร้างจากการรวมศูนย์อำนาจมาเป็นการกระจายอำนาจ ให้กับชุมชนและท้องถิ่น แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้าง การปกครอง ประชาชนพลเมืองควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดูแลเมืองของตนเอง

⦁พรรค พทท.มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

การเสนอนโยบายของพรรคการเมืองในปัจจุบันผมในฐานะที่ก็เป็นอดีตนักวิชาการได้เฝ้าดูอยู่ ผมคิดว่า
นโยบายของพรรคทุกพรรคแม้จะเป็นนโยบายที่ดีต่อประชาชนมากมาย แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม ฐานะการเงินการคลังหรือมาตรการของภาษีมันไม่สามารถทำให้ประเทศเดินได้ ถ้ายังเป็นโครงสร้างแบบเดิม การพัฒนาประเทศที่ใช้ระบบรัฐรวมศูนย์อำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาความจนไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศได้

ผมเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งที่พรรคมาเชิญชวนแรกๆ ก็ให้เข้าไปทำยุทธศาสตร์การปกครองท้องถิ่นด้านการ
กระจายอำนาจของพรรค เพื่อเป็นนโยบาย ก็เป็นเรื่องที่ผมถนัดและเต็มใจพอให้เข้าไปทำ จนถึงขั้นสุดท้ายก็ถูกตั้งคำถามว่าผมจะลงสมัครทางการเมืองหรือไม่ ผมก็คิดอยู่นาน ผมเป็นนักวิชาการที่เขียนนโยบายด้านการกระจายอำนาจให้หลายพรรคซึ่งความจริงแล้วในประเทศที่เจริญแล้วจะมีนโยบายเกี่ยวกับการกระจาย
อำนาจรัฐและในประเทศไทยทุกพรรคการเมืองก็ต้องมีประเด็นนี้เช่นกัน

สิ่งที่ผมตัดสินใจลงการเมืองก็เพราะการโหวตของคณะกรรมการบริหารพรรค จนกระทั่งมาสู่คณะกรรมการสรรหาพรรคให้ผมมาเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่สอง ผมจึงตัดสินใจลงเล่นการเมืองกับพรรคนี้ เพราะคิดว่าน่าจะมีโอกาสที่จะเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นผมจึงตัดสินใจอย่างไม่ลังเล ก่อนวันเข้าไปสมัครที่พรรคก็ได้เข้าไปบอกกล่าวกับอธิการบดี รองอธิการบดีและผู้ใหญ่หลายคนที่รู้จัก พร้อมด้วยเพื่อนนักวิชาการที่สนใจด้านการกระจายอำนาจว่า ผมลาออกจากการเป็นคณบดีแล้ว เพื่อจะลงเล่นการเมือง และส่วนใหญ่ก็จะบอกกับผมว่า ส่งเสริมและสนับสนุนขอให้ผมเดินในเส้นทางนี้และขับเคลื่อนสิ่งที่ต้องการไปได้ด้วยดี ทำให้การลาออกของผมเป็นไปได้ด้วยดีแม้แต่นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังได้ฝากความเป็นห่วงเป็นใยมาด้วย และขอให้ตั้งใจทำงานต่อสู้ทางการเมือง

⦁เรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันเป็นอันดับแรกในการกระจายอำนาจท้องถิ่นคืออะไร

อันดับแรก คือทำอย่างไรจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ ระหว่างรัฐที่มีหน้าที่อยู่กับท้องถิ่นที่มีความจำเป็นจะต้องมีบทบาทหน้าที่ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดการบริการสาธารณะ หรือที่เราเรียกว่าการแก้จนการลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อก่อนจนถึงปัจจุบันเราถูกแก้ปัญหาเหล่านี้โดยรัฐส่วนกลาง ใช้เงินงบประมาณผ่านกระทรวง ทบวง กรมกว่าเงินจะไปสู่ท้องถิ่นก็มีจำนวนที่น้อยมาก ทำให้ท้องถิ่นที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นเสมือนแค่องค์ประกอบย่อย ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นองค์ประกอบหลัก ทำหน้าที่แทนรัฐส่วนกลางเพราะเชื่อว่าประชาชนในท้องถิ่นและเขารู้ปัญหา ตรงนี้ถ้ามีงบประมาณให้ท้องถิ่นได้จัดการตนเองผมว่าบ้านเราจะแก้ปัญหาเรื่องความจนความเหลื่อมล้ำได้ดีขึ้น นี่คือการเปลี่ยนโฉมประมาณเปลี่ยนโฉมบทบาทหน้าที่ หรือพูดโดยหลักก็คือการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐเพราะผมไม่เชื่อว่า โครงสร้างแบบเดิมจะทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่เกิดประสิทธิภาพขึ้นได้

⦁ถ้าจะทำให้ได้อย่างที่ว่ามาทั้งหมดต้องรื้อระบบโครงสร้างเยอะพอสมควร จะเริ่มจากอะไรก่อน

ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาอันดับแรกคือการทำกฎหมาย พ.ร.บ.ประมาณแผ่นดิน หรือกฎหมายการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่น รวมทั้งการแก้กฎหมายการจัดการอำนาจรัฐและส่วนภูมิภาค เพื่อถ่ายโอนภารกิจอำนาจทุกอย่างมาสู่ท้องถิ่น และเพิ่มกฎหมายส่งเสริมรายได้และศักยภาพของท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ เพื่อส่งเสริมการค้าและกิจการพาณิชย์ของท้องถิ่น เรื่องแบบนี้จะต้องทำให้กฏหมายมีประสิทธิภาพ

ผมสนใจเรื่องการสร้างคนและการสร้างคนที่ดีที่สุดคือ เริ่มจากการสร้างคนที่ท้องถิ่นเพราะเราจะรู้ว่าใครเป็นผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการทำกฎหมายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและกฎหมายอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมอยากจะทำมาก คือการจัดการปกครองรูปแบบพิเศษมีให้กับประเทศไทย ในพื้นที่พิเศษหรือจังหวัดที่มีความพิเศษอยู่ ในพื้นที่พิเศษหรือจังหวัดที่มีความพิเศษด้านความท่องเที่ยวด้านทรัพยากรด้านวัฒนธรรมด้านการค้าและพาณิชย์

รวมทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่พิเศษ เรื่องนี้มีการพูดมานานแล้วแต่ไม่มีการกระทำที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การปกครองพิเศษที่เรากำลังจะพูดถึงไม่ได้หมายถึงเป็นการปกครองพิเศษแบบกรุงเทพมหานคร แต่การจะทำเมืองพิเศษต้องทำให้เมืองนั้นนั้นมีงบประมาณและศักยภาพในการจัดการตนเอง

ดังนั้นผมจึงเรียกร้องและอยากจะผลักดันกฎหมายสภาพลเมือง พ.ร.บ.สภาชุมชนท้องถิ่น ที่คอยเสนอแนะแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เมืองมีส่วนร่วมในชุมชนท้องถิ่นของแต่ละเมือง ตรงนี้จะเป็นการสร้างคนและสร้างฐานประชาธิปไตย การพัฒนาประชาธิปไตยไม่สามารถพัฒนาจากข้างบนได้ ประชาธิปไตยที่จะอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยได้คือประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าผมมีโอกาสผมจะผลักดัน พ.ร.บ.สภาพลเมืองและ พ.ร.บ.ชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถเรียกร้องสิทธิในชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้

⦁ถ้าผลักดันจังหวัดพิเศษในจังหวัดใหญ่ๆ แต่จังหวัดเล็กๆ ที่ไม่ได้ถูกผลักดันให้จะถูกมองถึงความเหลื่อมล้ำหรือไม่

ที่ผ่านมาใครเป็น ส.ส.จังหวัดไหนหรือว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นนายกฯจังหวัดนั้น ก็จะถูกพัฒนามากขึ้นเป็นปกติ ซึ่งสิ่งเรานี้เป็นวิธีการคิดที่ผิด จังหวัดที่มีรัฐมนตรีมีรัฐบาลจะเจริญกว่าจังหวัดที่เป็นฝ่ายค้านเป็นวิธีคิดที่ผิดมากๆ เพราะวิธีการเช่นนี้ไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างจังหวัดและระหว่างเมืองได้

สิ่งที่ต้องทำคือวิธีเกื้อหนุนเมืองที่อ่อนแอโดยนำงบประมาณมาจัดทำสัดส่วนทำ พ.ร.บ.รายได้ท้องถิ่นให้กับเมืองพิเศษโดยการจัดสัดส่วนให้เท่าเทียมกับศักยภาพ และเมืองบางเมืองก็ต้องเกิดการแข่งขันกัน เมืองไหนที่มีผู้นำที่ดีก็ต้องแข่งขันกันทางทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อให้เมืองของประชาชนเหล่านั้นดีขึ้นซึ่งถือเป็นการวัดความสามารถของผู้บริหารเมืองด้วยเช่นกัน

ผมแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งที่พรรค พทท.มีสมาชิกพรรคมากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนหนึ่งขององค์ประกอบคือ ถ้ายิ่งมีสมาชิกพรรคมากเราก็อาจจะได้สภาผู้แทนราษฎรไปได้มาก แต่คำถามที่ว่านโยบายที่พูดขึ้นมาจะผลักดันได้อย่างไรผมต้องบอกเลยว่า ต้องสร้างศักยภาพของผู้แทนราษฎร ต่อไปนี้ ส.ส.ต้องไม่ไปยกมือในสภาซี้ซั้ว แต่ประชาธิปไตยต้องสร้างคุณภาพของมือและเสียงโหวตของ ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่มือที่รับผลประโยชน์หรือมือที่เอาอามิสสินจ้างในการยกมือผมคิดว่าวิธีแบบนี้เราจะไม่ทำ

ทั้งนี้ผมมองได้สองมุมคือ หนึ่งหากได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การพูดในสภานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาเชื่อได้ว่าบ้านเมืองต้องเปลี่ยนระบบการปกครองแบบนี้

⦁นโยบายของพรรค พทท.จะร่วมกับพรรคการเมืองใดได้บ้าง

มีคนถามว่าพรรค พทท.ไปทางซ้ายหรือทางขวา วิธีคิดเช่นนี้ผมไม่เห็นด้วย การเมืองไม่ควรไปผลักให้ใครไปอยู่ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา แต่มันก็เป็นมาตั้งแต่อดีต วันนี้ถ้าเรายังกลับมาแบ่งแบบนี้อยู่ บ้านเมืองก็จะแตกแยก การเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเรายังยึดติดกับการเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา

แต่ถ้าเรายังอยู่ตรงกลางของระบบประเทศไทยอยู่กับประชาชนอยู่กับการกระจายอำนาจ และอยากจะบอกว่าถ้าพรรคการเมืองใดสนใจมีแนวคิดการกระจายอำนาจในรูปแบบที่ผมพูดมาทั้งหมด การเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ ลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสร้างเมืองพิเศษ สร้างคุณภาพของประชาชนในท้องถิ่นให้เกิดศักยภาพ เรายืนอยู่ตรงนี้ ขอเอานโยบายเป็นตัวชูเพื่อมามองแนวคิดที่จะสามารถไปร่วมกันได้มากกว่า การผลักไปอยู่โดยการแบ่งขั้วให้ไปอยู่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ฝั่งพรรคเพื่อไทย หรือฝั่งพรรคอนาคตใหม่ วิธีคิดแบบนี้เป็นการเมืองเก่า

ผมอยากเชิญชวนทุกพรรคว่ามาร่วมกันสร้างรากฐานประชาธิปไตยโดยการทำเรื่องการกระจายอำนาจ ทำชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งเพราะนี่คือรากฐานของประเทศที่จะเดินต่อ แต่ถ้าเรายังคิดเป็นอยู่แต่ข้างบนผมว่าเราจะไปไม่รอด เราต้องเอานโยบายมาเป็นตัวตั้งและมาว่ากันว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เราจะสร้างชาติบ้านเมืองเป็นอย่างไรนี่คือทางออกของประเทศ

ผมคิดว่าถ้าภายหลังการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วยังมาผลักกันอยู่ว่า มีขั้วนั้น มีขั้วนี้ บ้านเมืองก็จะกลับไปสู่ทางตันอีกรอบ แต่ถ้าเราเอานโยบายเป็นตัวตั้งแล้วมาคุยกันถ้าพรรคไหนเห็นตรงกันในการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ และมองเห็นว่ารัฐส่วนบนไปไม่ไหวแล้ว มันแข็งเกินระบบมันใหญ่เกินรวมอำนาจเกินไป และการปฏิรูปของรัฐบาลที่ผ่านมาก็ล้มเหลว เพราะไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันต้องทบทวนว่าคุณได้ให้อะไรกับประเทศบ้างในการที่คุณเรียกว่าการปฏิรูปประเทศเพราะสิ่งที่คุณทำคือ การผลักดันให้เศษกระดาษอีกชุดหนึ่งไปยังรัฐบาลอีกชุดหนึ่งเพียงเท่านั้นไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ดังนั้น การกล้าเปลี่ยนเรื่องนี้สำคัญจะเป็นทางออกให้กับประเทศ

บุษยา แก้วกำพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image