‘บิ๊กต๊อก’ชี้ศาลทหารก็มีกระบวนการยุติธรรม-รัฐไม่มองข้ามปมสิทธิ์ เผย’บิ๊กตู่’เตรียมตั้งคณะพิจารณา 68 ข้อเสนอยูพีอาร์

(แฟ้มภาพ)พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

“บิ๊กต๊อก” เผย “บิ๊กตู่” เตรียมตั้งคณะทำงานพิจารณา 68 ข้อเสนอนานาชาติบนเวทียูพีอาร์ โต้ศาลทหารก็มีกระบวนการยุติธรรม ตั้งมาก่อนคสช.ย้ำรัฐบาลไม่มองข้ามปมสิทธิมนุษยชน

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไกยูพีอาร์ (Universal Periodic Review : UPR) รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ สมัยที่ 25 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า เรื่องดังกล่าวปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ส่วนตัวตนก็ได้รายงานนายกฯเป็นระยะอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มแถลงที่นครเจนีวาตนก็ได้สรุปเป็นช่วงๆ ให้นายกฯรับทราบทันที โดยในวันนี้ที่ประชุมครม.ได้มีการพูดคุยกันนิดหน่อย ตนเพียงแต่สรุปให้ฟัง ส่วนข้อเสนอที่ยื่นมาให้เราจำนวน 249 ข้อและรับไปแล้วข้อเสนอแนะ 249 ข้อ จาก 102 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งไทยตอบรับทันที 181 ข้อ และขอนำกลับมาพิจารณา 68 ข้อ บางเรื่องก็เหมือนกับทุกประเทศ บางประเทศก็มีเรื่องเหยียดสีผิวซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐ

“เวลาเราชี้แจงก็เป็นการไปชี้แจงถึงเหตุผลรากเหง้าของปัญหาว่าเป็นมาอย่างไร และบางเรื่องผู้ชี้แจงทุกประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมันเขาก็ตอบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายและรากเหง้าของประเทศ อย่างประเทศอินโดนีเซียก็โดนเรื่องศาลทหาร ว่ามีความจำเป็นอะไรในระบอบประชาธิปไตย เขาก็ต้องกลับไปถามรัฐบาลว่าจะให้ตอบอย่างไร ซึ่งเรื่องลักษณะนี้รัฐบาลก็ต้องทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาภายในเดือนกันยายนนี้ทุกประเทศอยู่แล้ว ส่วน 68 ข้อที่ยังไม่ได้ชี้แจงทางปลัดฯก็ได้ทำรายงานให้นายกฯรับทราบ แล้วนายกฯก็จะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อเสนอแต่เรื่องประเด็น เราจึงจะยื่นเอกสารภายในเดือนกันยายนเช่นเดียวกับทุกประเทศ ซึ่งผมได้เร่งให้คณะทำงานจัดทำรายงานให้ทันเดือนกันยายนนี้ ซึ่งคณะกรรมการก็จะรายงานเสนอนายกฯหากจัดทำรายงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคณะกรรมการคือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

เมื่อถามว่ามีการเรียกร้องให้ยกเลิกให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดเพราะปลัดฯได้รายงานเป็นภาพกว้างๆ ซึ่งก็มีเรื่องดีๆ ที่เขาชื่นชมเราหลายเรื่อง เช่น เรื่องการศึกษา การช่วยเหลือคนยากจน สิทธิสตรีและการออกกฎหมายเยาวชน จะเห็นว่าเรื่องสิทธิก็มีหลายเรื่อง ซึ่งความจริงศาลทหารก็มีขั้นตอนการทำงานตามกระบวนการยุติธรรม เพราะในศาลทหารมีกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยก็มีโครงสร้างตรงนี้อยู่เป็นโครงสร้างเดิม ไม่ใช่โครงสร้างที่เราตั้งขึ้นใหม่ ศาลทหารมีก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาอีก เราก็ชี้แจงเขาให้เข้าใจ

Advertisement

“ผมก็พูดไปแล้วหลายหนว่า การเฝ้ามองก็มีเพราะเรามาจากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ก็ต้องยอมรับตัวเอง แต่ก็ไม่แปลกที่เราก็ไม่แปลกที่เราจะชี้ถึงความจำเป็นเพราะเหตุผลเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย เพื่อพัฒนาให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ถือเป็นเรื่องที่โชคดีที่อย่างน้อยมีโอกาสได้ชี้แจงให้เข้าใจ ซึ่ง 68 ข้อที่ไม่ได้ชี้แจงนั้นไม่ได้หมายความว่าคณะของไทยชี้แจงไม่ได้ แต่เพราะเป็นเรื่องที่มีผลผูกพันกับนโยบายของรัฐ ผมคิดว่าภายในกันยายนเราก็ต้องชี้แจงให้ครบส่วนเขาจะรับหรือไม่รับนั้นเช่น รับ เช่นไปแก้เรื่องการศึกษาได้หรือไม่ แต่ตามหลักการไม่จำเป็นต้องรับทุกข้อ ทุกประเทศต่างก็คิดแบบนี้ ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์จะให้เฟอร์เฟคไปหมดมันเป็นไปไม่ได้ เพราะบางประเทศก็ยังมีการเหยียดสีผิว ซึ่งเขาก็มีกฎหมายของเขาและมีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น เรื่องนี้ไม่ถือเป็นปัญหา อยู่ที่ว่าเราตอบเรื่องความจำเป็นได้หรือไม่ แต่เราต้องพึงสำเหนียกฟังไว้เพราะนั่นเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะโลกเขาจะถาม แต่เราก็ต้องคำนึงด้วย ไม่ใช่ไม่มองตรงนั้นเลย เราต้องนำมาแก้ไข” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image