‘ดอน’ ขอข้ามปมวิจารณ์ทูตสหรัฐฯ ย้ำมีเรื่องอื่นสำคัญกว่า วอนสื่อเสนอข่าวอย่างเข้าใจ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

“ดอน” วอนก้าวข้าม ปมวิพากษ์วิจารณ์ทูตสหรัฐฯ ย้ำมีเรื่องอื่นสำคัญกว่า วอนสื่อนำเสนออย่างสร้างความเข้าใจ เชื่อทุกฝ่ายได้บทเรียน แต่คนเป็นมืออาชีพ เขาไม่ทำแบบนี้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณี นายเกล็น เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดมารยาททางการทูต ว่า ขอให้ก้าวข้ามในเรื่องนี้ เรามีเรื่องสำคัญกว่านี้เยอะแยะ

เมื่อถามว่า มีกระแสจากบางส่วนต่อต้านทูตสหรัฐฯ อาจจะถึงขั้นให้เปลี่ยนตัวทูตสหรัฐฯด้วย นายดอน กล่าวว่า อย่าไปถึงขนาดนั้นเลย ก็หวังว่าจะไม่บายปลาย เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน นี่เป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยที่เกิดขึ้นโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว

เมื่อถามย้ำว่า เขามีความจงใจหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ก็อาจจะมีส่วน แต่เราก็ไม่อยากมองได้อยากมอง เพราะจะมีผลกับภาพใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์

Advertisement

เมื่อถามว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการติดต่อเพื่อขอชี้แจงหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เอาเป็นว่าเราอย่าไปห่วงเรื่องนี้เลย มองข้ามไปเลย อย่างไรก็ตาม ทูตสหรัฐฯคงต้องเรียนรู้ว่ามีอะไรหลายอย่างที่ต้องเข้าใจ ซึ่งคงไม่มีปัญหา และคงไม่ต้องทักท้วงกลับไปแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าทูตสหรัฐฯไม่เข้าใจสถานการณ์เมืองไทยดีพอใช่หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เขาไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเมืองไทยมาก่อนเลยเป็นเรื่องธรรมดาต้องมาเรียนรู้ ต้องใช้เวลาหน่อย ไม่อยากให้พวกเราไปติดใจอะไรมาก ข้ามๆกันไป ทั้งนี้คงไม่ถึงกับต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่เกิดความไม่พอใจในการกระทำดังกล่าวของทูตสหรัฐฯ เชื่อว่าอีกสักพักเรื่องอาจจะเบาบางลงไป และเชื่อว่าคนไทยคงไม่เกิดความรู้สึกสะสมกับการกระทำของทูตสหรัฐฯคนดังกล่าว ที่จะทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งนั้นเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าเขาจะเข้าใจบ้านเมือง เข้าใจความรู้สึกของเรา

“ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิ์มนุษยชน เราอยู่ที่นี่โตที่นี่ก็คงรู้ว่าบ้านเมืองเราไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่กลับถูกข้างนอกพยายามสร้างสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ให้มันเป็น ว่าไปแล้วเวทีการประชุมเรื่องสิทธิ์มนุษยชน UPR ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ได้รับคำถามในข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิ์มนุษยชน ของเขามากกว่าของเราเยอะ ของเขาตั้ง 300 กว่ารายการ มันไม่ใช่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาแต่อย่างใด ทุกประเทศต้องมีปัญหาลักษณะนั้น ก็ค่อยๆแก้ไขปรับปรุงกันไป ทั้งนี้ความสัมพันธ์ดีๆกว่าจะสร้างกันมาถึงจุดๆหนึ่งใช้เวลาเป็นร้อยปี แต่ถ้าให้แตกหักมันทำได้แปบเดียว และเราไม่ต้องการให้สิ่งที่สะสมมานานเป็นร้อยปีมันหายไป” นายดอนกล่าว

Advertisement

นายดอนกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการมองว่าทางการไทยได้พยายามชี้แจงหลายๆเรื่องกับสหรัฐฯ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่อาจสร้างความไม่พอใจซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น สื่อเองเวลาทำข่าวต้องทำให้เขาเข้าใจถึงความรู้สึกของคนไทย เพราะปกติเวลาข่าวออกมามันไม่มีแนวเลยที่จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เมื่อข่าวออกไปจะสะท้อนถึงความรู้สึกและทัศนคติคนไทย ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ดี ถ้าเรารับรู้มาว่ามีกระแสไม่พอใจเช่นนั้น

เมื่อถามว่า เราสามารถทำความเข้าใจกับทางสหรัฐฯในประเด็นกฎหมายมาตรา 112 ได้แล้วหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เรื่องนี้พูดกันมาเยอะแล้ว ว่าทุกประเทศก็มีกฎหมายภายในที่จำเป็นสำหรับเงื่อนไขของแต่ละสังคม กฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นของเรา ของเขาก็มีอย่างกรณีมีเด็กหนุ่มไปปรามาสประธานาธิบดีเขาก็ยังโดน ก็เช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่คนที่มาอยู่กับเราต้องเข้าใจคุณค่าความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ว่าเหตุใดประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะอะไร ป่านนี้คงเข้าใจกันหมดแล้ว แต่ทูตสหรัฐฯมารับตำแหน่งโดยอาจจะไม่มีข้อมูลพื้นฐานเรื่องนี้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เพราะเขาไม่รู้จักประเทศไทย จึงไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พระมหากษัตริย์ของเราได้ทำอะไรให้กับประเทศชาติมากมาย แต่เมื่อมารับตำแหน่งเพียงแค่รับทราบว่าพระองค์ท่านได้รับการสดุดีเป็นบิดาของชาติ ก็รู้แค่นั้น แต่เมื่อเขาไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าเฝ้า ก็จะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาแคร์ประเทศไทย เข้าใจ และพูดกับคนไทยที่ถูกคน คือคนที่เล่าเรื่องราวด้วยเหตุด้วยผล เขาก็อาจจะเข้าใจได้ดีกว่าไปเจอและพูดคุยกับคนไทยที่ผิดคน เพราะอาจจะเข้าใจไปอีกด้านหนึ่ง

“เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เขามานั่งคุยด้วย เราหวังว่าคงได้คุยกับกลุ่มคนที่ถูกคน ซึ่งคนที่อยากจะให้เขาคุยด้วยมากที่สุดคืออดีตทูตไทยรุ่นก่อนๆ ที่เคยประจำอยู่สหรัฐฯ คนพวกนี้จะรู้ เพราะภารกิจของทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันอดีตทูตสหรัฐฯที่เคยประจำประเทศไทยก็คืออีกกลุ่มคนที่เขาควรจะคุยด้วยมากที่สุด จะได้รู้ความหมายและคุณค่าของการมาอยู่เมืองไทยว่าเป็นอย่างไร ทุกคนมาอยู่เมืองไทย รักเมืองไทยทั้งนั้น แต่ถ้าเขาไปคุยกับนักการเมืองในปัจจุบันก็จะมีภาพที่แปดเปื้อนด้วยการเมืองเยอะ ที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์เป็นหลัก นักการเมืองจะมองเฉพาะประโยชน์ของกลุ่ม หรือของตัวเองมากกว่า” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ณ วันนี้เราต้องรู้ว่าภาคส่วนต่างๆมีคนที่มีมุมมองต่างกันเยอะ เท่าที่ได้สัมผัสมุมมองที่สมดุลจริงๆหายากในยุคนี้ เพราะค่อนข้างเอนเอียงอยู่เสมอ แต่คนที่มุมมองสมดุลจริงๆต้องเป็นคนที่ประสบการณ์สูงถึงจะมีความสมดุลในเรื่องทัศนคติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าไทยจะแคร์สหรัฐฯมากกว่าที่เขาแคร์เรา นายดอน กล่าวว่า เราไม่ได้พูดว่าแคร์หรือไม่แคร์ แต่เราเป็นคนมีเหตุผล เพราะตั้งแต่โบราณการณ์มา ที่เราอยู่ได้และมีเพื่อนเยอะแยะ เพราะเราเป็นคตนมีเหตุมีผล แต่คนชาติอื่น โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ เหตุผลนั้นเป็นรอง ความรู้สึกใหญ่โตหรือเหนือกว่าจะเป็นใหญ่ การจัดลำดับอะไรต่ออะไร หรือความรู้สึกย่อมแตกต่างกัน

เมื่อถามว่า การที่ทูตสหรัฐฯไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศไทยนั้น แสดงว่าเตรียมตัวน้อยไปหน่อยใช่หรือไม่ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องมาประจำที่เมืองไทย นายดอนกล่าวว่า ตนไม่อยากบอกว่าเตรียมตัวน้อยหรือไม่ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตนเคยคุยกับเขาในช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ตนก็ถามว่ารู้ถึงเรื่องโรดแมปของประเทศไทยหรือไม่ เขาก็อาจจะงงๆ รู้เฉพาะเริ่มต้นมีรัฐบาล ต่อไปก็มีรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งตนก็ถามว่ารู้หรือไม่ว่าช่วงตรงกลางคือช่วงการปฏิรูป เขาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แปลว่าไม่ได้เตรียมตัวมา เพราะถ้าเตรียมตัวเขาต้องรู้มาก่อนว่าประเทศไทยมุ่งมั่นปฏิรูป ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงไปว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งสำคัญของประเทศไทย ที่เขาต้องเข้าใจ ว่าทำไมถึงคิดจะต้องปฏิรูป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวคาดหวังหรือไม่ว่าจะไม่เจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก นายดอนกล่าวว่า ทุกเหตุการณ์ล้วนเป็นบทเรียนของทุกเรื่องราว และเป็นบทเรียนของทุกคนด้วย รวมถึงตนด้วยและทูตสหรัฐฯด้วยที่จะรู้ว่าคนไทยให้อภัยง่าย และหวังว่าจะเข้าใจคนไทยดีขึ้น การจะให้อภัยหมายความว่าต้องเข้าใจคนไทยดีขึ้นอีกประมาณ 300 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามอีกว่า รู้สึกช็อกหรือไม่เมื่อทูตสหรัฐฯหยิบโพยออกมา พร้อมระบุข้อห่วงใยเรื่องสิทธิ์มนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือการหารือ นายดอน กล่าวว่า “ถ้ามืออาชีพ เขาจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ที่ผมไม่ไปแย่งไมค์ เพราะถือว่าเรามีประสบการณ์กับเหตุการณ์ประเภทนี้ เมื่อถามอีกว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุให้ระวังกรณีทางการสหรัฐฯจะให้ทางการไทยดำเนินคดีกับคนที่ออกมาพาดพิงทูตสหรัฐ นายดอน กล่าวว่า ก็ต้องฟ้อง เขาก็ไปดำเนินการเอา ส่วนที่มีการออกมาระบุว่าทางการสหรัฐฯจะทักท้วงกับทางการไทยให้ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลที่กล่าวพาดพิงทูตสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุการณ์ในอดีตสมัยหม่องราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมทย์นั้น ไม่มี คนที่พูดเขาไม่รู้เรื่องอะไร ซึ่งตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image